กูรูประเมิน บจ.ไทย หลังเมียนสั่งระงับจ่ายหนี้ต่างประเทศ รักษาปริมาณทุนสำรอง คุมเงินไหลอออก ASPS ประเมิน 6 กลุ่มวัสดุฯ รับเหมา ชิ้นส่วนฯ แบงก์พาณิชย์ อาหาร และพลังงานมีธุรกิจในพม่า มองยังรับผลกระทบค่อนข้างจำกัด ขณะที่ KTBST ยังมีมุมมองเป็นกลาง ชี้หุ้น MEGA-CBG-SAPPE-OSP ร่วงเป็นจังหวะสะสม
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางพม่าออกคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อยระงับการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลง
ซึ่งตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลพม่ามีคำสั่งให้ผู้มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศแปลงสกุลเงินของตนเป็นเงินจ๊าต (สกุลเงินท้องถิ่น) ที่อัตราอ้างอิงของธนาคารกลางที่ 1,850 จ๊าต/ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อป้องกันความผันผวนของสกุลเงินท้องถิ่น พร้อมทั้งห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันประกอบอาหารเพื่อรักษาปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ
ASPS เปิดโผ 6 กลุ่มหุ้นทำธุรกิจในพม่ารับผลกระทบจำกัด
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์จากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ระบุว่า เบื้องต้นฝ่ายวิจัย ASPS ทำการรวบรวมข้อมูลจากนักวิเคราะห์พื้นฐานถึงหุ้นที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ “กรณีพม่าห้ามสั่งจ่ายหนี้ต่างประเทศ” ประกอบด้วย
1.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ทั้งนี้ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างมีการส่งออกสินค้าไปพม่า เช่น ปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก และสินค้าวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ในสัดส่วนไม่ถึง 5% ของยอดขายรวม โดยเป็นการค้าขายตามปกติ
ขณะที่ SCC ที่เคยมีโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ 1.8 ล้านตัน/ปี ได้ยุติธุรกิจดังกล่าวไปตั้งแต่ปี 63 จากข้อพิพาทกับพันธมิตรท้องถิ่นและได้เคยตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์ไปแล้ว 4,335 ล้านบาท โดยปี 63 ก่อนยุติธุรกิจโรงปูนซีเมนต์ในพม่า SCC มีรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์ในพม่า คิดเป็น 0.7% ของรายได้รวม ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากพม่าน่าจะลดลงจนแทบไม่มีนัยสำคัญต่อ SCC
2.กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง มี 4 บริษัทใน Coverage ของฝ่ายวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับพม่า ได้แก่
ITD ที่มีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 7,843.6 ล้านบาท และได้ถูกรัฐบาลพม่ายกเลิกสัมปทานตั้งแต่ 30 ธ.ค.63 โดยที่ ITD ยังไม่ได้มีการตั้งสำรองด้อยค่าโครงการดังกล่าว เพราะยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถเจรจากับรัฐบาลพม่าได้
NWR มีลูกหนี้ค่าก่อสร้างโรงแรมในพม่าคงค้างอีกประมาณ 191 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้จะทยอยชำระคืนเงินแก่ NWR ตั้งแต่ ธ.ค.65 ถึง ธ.ค 79 ตาม Projection กระแสเงินสดของโรงแรมดังกล่าวในอนาคต โดยปี 65 มีกำหนดชำระหนี้ 5 ล้านบาท
TTCL มีการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยถือหุ้น 40% ในโรงไฟฟ้า Ahlone#1 ขนาด 120MW และรับส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า Ahlone#1 ประมาณ 100 ล้านบาท/ปี และอยู่ระหว่างการลงทุนโรงไฟฟ้า Ahlone#2 ขนาด 388MW โดยได้รับ PPA จากรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี 64 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้
SEAFCO มีบริษัทลูกในพม่าคือ SEAFCO (Myanmar) โดยถือหุ้น 80% ปัจจุบันไม่มีการรับงานในพม่าแล้ว โดยมีเครื่องจักรทำเสาเข็ม 3 ชุด รถเครน 4 คัน และรถแบ็กโฮที่รอขายหรือนำกลับประเทศไทย
3.กลุ่มเครื่องดื่ม
OSP (ราคาเป้าหมาย 37 บาท) โดยพิจารณายอดขายปี 54 ราว 2.7 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศประมาณ 4.3 พันล้านบาท (สัดส่วน 16% ของยอดขาย +17% YoY) ส่วนใหญ่มาจากพม่า จึงประเมินยอดขายจากพม่าอยู่ในระดับ 10% ของยอดขาย ซึ่งส่วนนี้หลักๆ แล้วขายเป็นสกุลเงินพม่า ผ่านบริษัทย่อยในพม่า (OSP ถือหุ้นรวมกัน 85%)
มองผลกระทบในส่วนของยอดขายจากมาตรการของธนาคารกลางพม่า ค่อนข้างจำกัด แต่ปัจจัยด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคในพม่า และการจัดเก็บเงินจากคู่ค้า รวมถึงสถานะการค่าเงินพม่ายังต้องติดตามต่อไป ทั้งนี้ งวด Q1/65 ยอดขายต่างประเทศยังเติบโตดี 17.8% YoY ท่ามกลางความอ่อนแอของเศรษฐกิจพม่าหลังผ่านการรัฐประหารในช่วงต้นปี 64
นอกจากนี้ OSP มีเงินกู้ยืมสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ผ่านบริษัทร่วม (2 บริษัท ถือหุ้น 35% ในโรงงานผลิตขวดแก้ว และ 51.8% ธุรกิจจำหน่ายขวดแก้ว) ในพม่า เบื้องต้นจากการสอบถามไปยังบริษัทฯ ร่วมมีภาระหนี้ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินไทย (ชำระเงินกู้ครั้งเดียวในอีก 7 ปีข้างหน้า) แม้ภาระหนี้ตามสัดส่วนการถือหุ้นไม่เกินระดับ EBITDA ของ OSP ที่ราว 5 พันล้านบาทต่อปี (สถานะการเงิน ณ สิ้นงวด Q1/65 เป็น Net cash ราว 3 พันล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม OSP อยู่ระหว่างบริหารจัดการภาระดอกเบี้ยจ่ายส่วนนี้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากสุด ผ่านการเจรจากับสถาบันการเงิน ภาพรวมยังคงประมาณการกำไรปี 64 ที่ 3.25 พันล้านบาท สำหรับ CBG เนื่องจากฝ่ายวิจัยไม่ได้ Coverage โดยโครงสร้างรายได้ปี 64 ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ราว 33% มาจากการส่งออกไปยัง CLMV แต่โครงสร้างการขายมาจากกัมพูชาเป็นหลัก จึงคาดว่ายอดขายจากพม่าจะอยู่ในระดับประมาณ 10% ของยอดขาย
4.กลุ่มธนาคารและการเงิน หากอิงจากมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังพม่า ราว 1% ของมูลค่าการส่งออก เบื้องต้นจึงประเมินผลส่วนนี้จำกัด ส่วนหุ้นในกลุ่มการเงินอย่าง AEONTS (ราคาเป้าหมาย 250 บาท) จะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะหลังจากรัฐประหารในพม่าเมื่อ ก.พ.64 AEONTS ได้หยุดปล่อยสินเชื่อในพม่า จนปัจจุบันแทบไม่มีสินเชื่อคงค้างในพม่าแล้ว
5.กลุ่มพลังงาน - PTTEP (ราคาเป้าหมาย 175 บาท) มีโครงการในพม่า เช่น ซอติก้า ยาดานา และเยตากุน เป็นต้น แต่ไม่มีรายการเงินกู้ต่างประเทศสำหรับโครงการในพม่า ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อบริษัท ส่วนในด้านรายรับจากโครงการในพม่า ทาง PTTEP รับเงินจาก PTT โดยตรงเป็น USD เข้าบัญชีในประเทศไทย
ดังนั้นไม่มีความเสี่ยงเรื่องการรับเงินหรือการถูกบังคับให้แปลงเป็นเงินจ๊าต เช่นเดียวกับในด้านรายจ่าย การจ่ายเงินในพม่าเป็นจ๊าต ทำในประเทศพม่า โดยการแปลงเงิน USD เป็นจ๊าต สำหรับรายจ่ายของโครงการพม่าที่เป็นสกุลต่างประเทศ จะทำจ่ายจากบัญชีนอกประเทศพม่า ดังนั้นยังสามารถบริหารจัดการได้ตามปกติ
6.กลุ่มชิ้นส่วน - DELTA (ราคาเป้าหมาย 280 บาท) มีโรงงานอยู่ในประเทศพม่า พื้นที่การผลิต 4.5 พันตารางเมตร หรือคิดเป็น 2% ของพื้นที่โรงงานทั้งหมดทั้งในและต่างประเทศของ DELTA โดยโรงงานดังกล่าวผลิตชิ้นส่วนขั้นกลาง แล้วส่งมาประกอบต่อในไทยเป็นหลัก จึงประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะไม่ได้มีรายได้จากการขายภายนอกมากนัก
KTBST มองหุ้น MEGA-CBG-SAPPE-OSP ร่วงเป็นจังหวะสะสม
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มีมุมมองเป็นกลางจากประเด็นข้างต้น แม้ว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มบริษัทฯ ที่ประกอบธุรกิจในพม่าได้ปรับตัวลง ได้แก่ MEGA (-10%) CBG (-3%) SAPPE (-3%) OSP (-2%) แต่ทั้งนี้ได้สอบถามไปยังบริษัทฯ ต่างๆ ที่ประกอบธุรกิจในพม่า มองว่าประเด็นข้างต้นไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัทฯ ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาเป็นจังหวะให้เข้าสะสมหุ้นกลุ่มข้างต้น
โดย KTBST ชอบ MEGA (ซื้อ/เป้า 67.00 บาท) จากแนวโน้มกำไรที่จะทำสถิติสูงสุดใหม่ตั้งแต่ Q2/65 เป็นต้นไป ได้อานิสงส์ค่าเงินบาทอ่อนและผู้บริโภคที่ health conscious มากขึ้นหนุนการเติบโต
ทั้งนี้ บริษัทที่มีสัดส่วนรายได้จากพม่าอย่างมีนัยสำคัญ เรียงตามลำดับสัดส่วนรายได้ในพม่าจากมากไปน้อย ได้แก่ MEGA (ซื้อ/เป้า 67.00 บาท) OSP (ถือ/เป้า 37.00 บาท) CBG (ถือ/เป้า 107.00 บาท)
สำหรับบริษัทที่มีผลการดำเนินงานในพม่า แต่สัดส่วนรายได้ไม่มีนัยสำคัญ ได้แก่ AEONTS (ซื้อ/เป้า 200.00 บาท) AMATA (ซื้อ/เป้า 23.50 บาท) CPF (ซื้อ/เป้า 30.00 บาท) SAPPE (NR) TVO (ถือ/เป้า 33.50 บาท) PTTEP (ซื้อ/เป้า 190.00 บาท) และ SCC (ซื้อ/เป้า 440.00 บาท)