xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.พร้อมเข้าดูแลค่าบาท ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสกัดเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.ระบุค่าบาทอ่อนเป็นปัจจัยทั่วโลกจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ส่งค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคอ่อน เตือนผู้ประกอบการบาทยังผันผวน ธปท.พร้อมเข้าดูแลบาททันทีหากพบความผิดปกติ ย้ำติดตามเงินทุนนอกไหลออกอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้นปียังเป็นบวก พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายดูแลเงินเฟ้อแบบค่อยเป็นค่อยไป


น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เป็นผลจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ดัชนีค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไป 11% ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 7.6% โดยเป็นอ่อนค่าสอดคล้องไปกับประเทศทั่วโลก และยังคงสะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าๆ ขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ดัชนีค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 2.7% แสดงว่า บาทยังมีความสามารถในการแข่งขันในระดับหนึ่งอยู่ และที่ผ่านมาค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามีผลดีต่อการส่งออกของไทย

“แนวทางดูแลค่าเงินบาทในขณะนี้ จะแตกต่างจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอย่างมีการจัดการ ดังนั้น เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับใด จะปล่อยให้เป็นไปตามพื้นฐานเศรษฐิจและกลไกตลาด เพราะกำหนดว่าค่าเงินบาทควรอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่งจะเป็นการสะสมความเสี่ยงและความไม่ยั่งยืนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ธปท.จะดูแลไม่ให้เงินบาทกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจ โดยหากพบว่ามีความผันผวนของค่าเงินช่วงใดช่วงหนึ่งที่ผิดปกติ ธปท.จะเข้าไปดูแล และชะลอความผันผวนลง”


น.ส.ดารณี กล่าวต่อว่า หากพิจารณาเสถียรภาพในด้านต่างประเทศของไทย พบว่ามีความแข็งแกร่ง โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นการไหลเข้าสุทธิ 97,000 ล้านบาท โดยเป็นการไหลเข้าในตลาดทุน 104,000 ล้านบาท และไหลออกจากตลาดพันธบัตร 7,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ไทยมีทุนสำรองสูงถึง 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 52% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และ 3.35 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และในระยะต่อไป ธปท.ยังไม่กังวลว่าจะมีการไหลออกของเงินทุนจากประเทศไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากตลาดเงินโลกได้ซึมซับปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไว้ล่วงหน้าแล้ว และสะท้อนในการไหลเข้าออกของเงินทุนในขณะนี้แล้ว ยกเว้นจะมีปัจจัยลบใหม่ที่รุนแรงเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่ง ธปท.จับตาประเด็นเหล่านี้ใกล้ชิด


ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น หากพิจารณาปัจจุบัน ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลประมาณ 1% กว่าๆ ของจีดีพี ซึ่งถือว่าเป็นการขาดดุลที่ไม่มาก และหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจะมีโอกาสที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงได้ ส่วนกรณีที่มองว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนลงในทางเดียวนั้น ธปท.มองว่า ค่าเงินบาทในช่วงต่อไปยังมีความผันผวนสูงมาก ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงทั้งด้านลบและบวก ค่าเงินบาทไปในทิศทางไหนก็ได้ ดังนั้น อยากให้ผู้ที่ทำธุรกิจเร่งป้องกันความเสี่ยงเพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

“การเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทหรือไม่นั้น สถานการณ์ของไทยในขณะนี้แตกต่างจากปี 40 เพราะเราไม่ได้กำหนดตายตัวว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับเท่าไร ต่างจากการกำหนดค่าเงินบาทตายตัวในปี 40 ดุลบัญชีเดินสะพัดของเราขาดดุลในระดับต่ำ ต่างกับปี 40 ที่ขาดดุล 8% จีดีพี หนี้ต่างประเทศน้อย พื้นฐานของไทยจึงไม่ได้เข้าข่ายการเก็งกำไร และธปท.ไม่จำเป็นต่องแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อรักษาระดับราคา แต่จะทำเพื่อลดความผันผวนที่สูงเกินไปเท่านั้น”


น.ส.ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ ธปท.มองว่า ค่าเงินบาทอาจจะไม่ได้อ่อนค่าลงมากในช่วงต่อไปนั้น ธปท.ประเมินว่า หากนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในระยะต่อไป และค่าใช้จ่ายในการขนส่งระหว่างประเทศเริ่มลดลงจากที่ขึ้นไปสูงในช่วงก่อนหน้า จากการขาดแคลลนตู้คอนเทนเนอร์ปรับตัวดีขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเริ่มขาดดุลลดลง และปรับตัวเป็นบวกในปีหน้า โดย ธปท.คาดการณ์ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะเป็นบวก 5,000 ล้านเหรียญในปีหน้า ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ประเมินผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทต่อราคาสินค้านำเข้า (ยกเว้นน้ำมัน) พบว่า การอ่อนค่าของเงินบาทไม่ได้กระทบต่อราคาสินค้านำเข้าในทันที แต่จะใช้เวลาระยะหนึ่ง ผลของค่าเงินบาทอ่อนขณะนี้จึงเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับที่จำกัด

“แนวทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อนั้น ทิศทางที่คณะกรรมการนโยบายการเงินส่งสัญญาณชัดเจนคือ การปรับดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ และดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยด้วยปัจจัยทั้งในด้านเสถียรภาพ การดูแลเงินเฟ้อ และการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ภายใต้เงินเฟ้อในระดับปัจจุบัน ธปท.มองว่า เราไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป เพราะเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบการดูแลของ ธปท.คือ เงินเฟ้อระยะปานกลาง ซึ่งเชื่อว่า การขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไปจะช่วยให้เงินเฟ้อระยะปานกลางอยู่ในเป้าหมายได้ และไม่กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจมากเกินไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น