ราคาหุ้นกลุ่มนอนแบงก์แผ่ว หลัง สคบ. ยังหาข้อสรุปการกำหนดเพดานดอกเบี้ยไม่ลงตัวและทุกฝ่ายรอความชัดเจน ขณะหุ้นหลายตัววิ่งรับข่าวไปช่วงเดือนมีนาคม ก่อนจะร่นถอยลงในระยะหลังนี้ โบรกเกอร์ประเมิน MTC ถูกกดดันน้อยกว่ากลไกตลาด MTC ในกรอบจำกัด ขณะจะส่งผลโดยตรงต่อรายได้รวม และศักยภาพการทำกำไรของ SAWAD ส่วนหุ้นตัวอื่นกลุ่มนอนแบงก์รับผลกระทบไปตามสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อที่ปล่อยกู้ ด้านผู้บริหารธุรกิจลีสซิ่งเร่งหาทางออก เน้นปล่อยสินเชื่อบุคคลลดเสี่ยง
หลังจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ( บอร์ด สคบ.) ได้แจ้งผลประชุมบอร์ดฯ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา และยังไม่มีข้อสรุปเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และอีกบางประเด็น ซึ่งการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อเดิมได้ข้อสรุปสำหรับเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถใหม่ 15% รถยนต์ใช้แล้ว 20% แต่ในส่วนของมอเตอร์ไซค์ยังตกลงกันไม่ได้ เนื่องจากคณะทำงานเสนอให้เก็บที่ 26% ขณะผู้ประกอบการเสนอที่ 30% โดยที่ประชุมขอให้ไปรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนอีกครั้ง จึงมีการนัดประชุมใหม่เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวคาดน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
จาก การสำรวจราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ บจ. ตัวหลักๆ ที่โบรกเกอร์ต่างๆ ประเมิน คาดว่าจะได้รับผลทั้งบวกและลบจากการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อตามมาตรการดังกล่าว ระหว่างเดือนมีนาคมกับเดือนมิถุนายนพบว่าแผ่วลง แม้ก่อนหน้านั้นราคาหุ้นขยับเพิ่ม ทว่า..เมื่อยังไม่มีบทสรุปกลับทำให้ราคาหุ้นแผ่วลง อย่าง TIDLOR หรือ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) จากต้นเดือนมีนาคมเทรดในราคา 40 บาท และในเดือนมิถุนายนราคาหุ้นเทรดที่ 29.50 บาทตามด้วย SAWAD หรือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เทรดที่ 58.50 บาท แผ่วลงมาบ้างในบางวัน แต่ยังพยายามยืนในระดับ 50 บาทได้ ขณะที่ MTC หรือ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เทรดแถวๆ 51.75 บาท ล่วงมาเดือน มิ.ย. ราคาอ่อนลง กระทั่งมาเทรดที่ 44 บาท ส่วน TK เทรดกันที่ 11.80 บาท ต้องถือว่าราคาหุ้น TK หรือ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) มีช่วงว่างไม่ห่างนัก เพราะผ่านมาถึงเดือน มิ.ย.ราคาหุ้นเทรดที่ 10.70 บาท และระหว่างทางราคาหุ้นไม่ได้ขึ้นลงหวือหวาเหมือนตัวอื่นๆ ในกลุ่ม สุดท้าย NCAP หรือ บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)เทรดกันที่ 9.70 บาท มาถึงเดือน มิ.ย. เทรดกันที่ 5.30 บาท แผ่วลงมาพอสมควร
MTC ถูกกดดันน้อยกว่ากลไกตลาด
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินหลัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. กำลังอยู่ในขั้นตอนการหาข้อสรุปเรื่องกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลีสซิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน มีความพยายามที่จะกำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อลีสซิ่ง/เช่าซื้อมานานมากแล้วและกระบวนการดังกล่าว กลับมาสู่การพิจารณาอีกครั้ง หลังจากสิ้นสุดขั้นตอน การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ
โดยผู้ประกอบการเสนอเพดานดอกเบี้ยไปที่ 30% แต่หน่วยงานกำกับดูแลจะกำหนดเพดานที่ 26% ทั้งนี้ไม่ว่าสุดท้ายแล้วเพดานดอกเบี้ยจะอยู่ที่เท่าไหร่ ดอกเบี้ยใหม่ที่จะออกมาทำให้กลไกตลาดของธุรกิจ H/P เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มลีสซิ่งรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก แต่จะส่งผลกระทบกับธุรกิจลีสซิ่งรถยนต์ใหม่หรือรถมือสองมีไม่มากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยที่คิดอยู่ในปัจจุบันต่ำกว่า 26% ซึ่ง การกำหนดเพดานดอกเบี้ยจะกระทบ SAWAD แต่ไม่กระทบกับ MTC เพราะผู้ประกอบการที่เน้นธุรกิจลีสซิ่งรถมอเตอร์ไซค์ อย่าง TK, S-11, S-cap (บริษัทลูกของ SAWAD) คิดดอกเบี้ยสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์สูงเกิน 30% ไปอีกมาก โดยในส่วนของ SAWAD มีแผนจะเร่งขยายธุรกิจนี้ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาว โดยจะเน้นขยายสินเชื่อกลุ่มนี้มากกว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่ง SAWAD ขยายสินเชื่อกลุ่มนี้โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเบื้องต้นที่ 30% อย่างไรก็ตาม MTC ขยายสินเชื่อมอเตอร์ไซค์โดยคิดดอกเบี้ยเพียง 20-24% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราที่หน่วยงานกำกับดูแลแนะนำ ดังนั้น บริษัทจึงถูกกดดันจากประเด็นนี้น้อยกว่ากลไกตลาด และสภาวะการแข่งขันของธุรกิจจะเปลี่ยนไป
บล.เคจีไอ พิจารณาผลการดำเนินงานของบริษัทลีสซิ่ง ที่ให้บริการลีสซิ่งรถมอเตอร์ไซค์และพบว่า yield สินเชื่อ ในปัจจุบันอยู่ที่ ประมาณ 30% บวกลบ และถ้ารวมรายได้ ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่นๆ ดี จะสูงกว่านั้นอีกมาก ค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัท (รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน, ต้นทุนทางการเงิน, การตั้งสำรอง) โดยเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อสินเชื่อ และพบว่าค่าใช้จ่าย credit cost เป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดที่ประมาณ 15% ของสินเชื่อ ดังจะเห็นได้จาก TK และ S11 ใน ขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน/สินเชื่อมีทั้งสูงและต่ำแตกต่างกัน ทั้งนี้ หากมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ หุ้นที่เน้นสินเชื่อลีสซิ่งเพียงอย่างเดียวจะพลิกเป็นขาดทุน ในขณะที่ margin ของ SAWAD จะต่ำแต่ MTC จะไม่ถูกกระทบ
กลุ่มนอนแบงก์ รับผลกระทบ
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ได้ให้น้ำหนักการประชุม สคบ.ไปที่กรณีเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ ผู้ประกอบการขอไว้ที่ 30% ขณะที่คณะทำงานของ สคบ. ต้องการจะกดเพดานดอกเบี้ยมอเตอร์ไซค์มือ 1 ที่ 20% ต่อปี ประเมินจะกระทบเฉพาะบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ อาทิ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เนื่องจากมีพอร์ตเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ราว 17% ในปี 2565 ขณะที่บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC มีเพียง 5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินกลุ่มนอนแบงก์จะได้รับผลกระทบจากสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หลังจากการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.75% และเงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งด้วยทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศที่เข้าสู่จังหวะขาขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจย้ำภาพต้นทุนทางการเงินของ Non-Bank ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ต้นปี 2565
โดยเฉพาะบริษัทที่ระดมทุนใหม่เพิ่มขึ้นผ่านการออกหุ้นกู้เพื่อรองรับการขยายธุรกิจและการไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด ถึงแม้ว่าผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อธุรกิจเช่าซื้อต่อต้นทุนทางการเงินของฝั่งผู้ประกอบการที่เป็นธนาคารพาณิชย์ จะยังคงปรับขึ้นไม่มากนัก ตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งยังมีการขยายเวลาปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ในอัตรา 0.23% ต่อปีออกไปจนถึงสิ้นปี 2565
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองว่า กลุ่มนอนแบงก์ขนาดใหญ่เริ่มกลับมาน่าสนใจ หลังจากที่ราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลดอกเบี้ยขาขึ้น มองว่าผลกระทบยังอยู่ในวงจำกัดในปีนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการมีการล็อกต้นทุนดอกเบี้ยไว้แล้ว โดยการออกหุ้นกู้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา คาดว่าจะไปกระทบมากในปี 2566 หลังจากดอกเบี้ยปรับขึ้นในครึ่งหลังปี 2565 พร้อมประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อกลุ่มนอนแบงก์ว่า กรณีดอกเบี้ยปรับขึ้นทุก 0.25% จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของกลุ่มนอนแบงก์เฉลี่ย 1% ยกตัวอย่าง SAWAD รับผลกระทบน้อยสุด 0.5%, TIDLOR กระทบ 1.1%, MTC กระทบกำไร 1.25%
TIDLOR ยันไม่กระทบต่อธุรกิจ
ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ หรือ TIDLOR แสดงความมั่นใจและไม่กังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน พอร์ตสินเชื่อของธุรกิจเติบโตหลักมาจากกลุ่มสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน นอกจากนี้ในส่วนของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์การควบคุมของ สคบ. สำหรับยอดสินเชื่อ เดินหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่องตามแผนที่ได้ตั้งไว้ โดยเฉพาะการขยายตัวในกลุ่มสินเชื่อบัตรติดล้อทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาด ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจลูกค้าในการเพิ่มความสะดวกสบาย สามารถกดใช้วงเงินคงเหลือได้ 24 ชั่วโมง 7 วัน ผ่านตู้ ATM กว่า 50,000 ตู้ทั่วประเทศ และในส่วนของเบี้ยประกันภัย เติบโตโดดเด่นไม่น้อยหน้าเช่นเดียวกัน ชูโรงด้วยประกันภัยรถยนต์ แบ่งจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยด้วยเงินสดได้สูงสุด 10 เดือน ค่าเบี้ยเท่าไรก็หาร 10 ได้จริง ไม่มีเงื่อนไข จ่ายเท่ากันทุกงวด ไม่ต้องใช้บัตรเครดิต คุ้มครองทันทีที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตั้งแต่งวดแรก โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งเปิดตัวตราสัญลักษณ์ของแบรนด์ลูก “ประกันติดล้อ” นายหน้าประกันภัยครบวงจร อย่างเป็นทางการ ตอกย้ำตำแหน่งผู้นำอันดับ 2 ของนายหน้าประกันภัยที่มุ่งเน้นลูกค้ารายย่อย พร้อมกับมั่นใจว่าภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ปีนี้ จะยังคงเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
MTC หวั่นกำหนดเพดานสูง ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อยาก
ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC มองว่า แนวโน้ม ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์สูงสุดที่ 20% นั้น อยากให้ สคบ. พิจารณาควบคุมอัตราดอกเบี้ย ให้อยู่ระหว่าง 25-30% ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการในการบริหารจัดการความเสี่ยงของพอร์ตงาน
“กรณีนี้มีการหารือกันมาอย่างต่อเนื่อง ทางผู้ประกอบการก็คงต้องรอความชัดเจนจากทาง สคบ. เป็นหลัก แต่หากกำหนดเพดานดอกเบี้ยต่ำจน ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้ ประชาชนก็คงเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น”
ปัจจุบัน MTC มีพอร์ตสินเชื่อ 1 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ 5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 22-24% ขณะที่สินเชื่อส่วนใหญ่ของพอร์ตยังคงเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อประเภทอื่นประมาณ 15% เบื้องต้นบริษัทจะยังคงให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีรถจักรยานยนต์ไปต่อยอดการทำอาชีพท่ามกลางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
SAWAD - BFIT ควบรวม SCAP ลุยสินเชื่อรายย่อย
สาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เผยว่า กลุ่ม SAWAD เตรียมปรับกลยุทธ์รองรับเกณฑ์ควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อของ สคบ. ไว้แล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง หลังรัฐประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และการเปิดรับนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา ตลอดจนการเปิดสถานบันเทิงและการเปิดให้จัดกิจกรรมต่างๆ ได้ ทำให้แนวโน้มสดใส และ SAWAD ยังคงใช้เกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อตามฐานรายได้ และศักยภาพการชำระคืนสินเชื่อของลูกค้าเป้าหมายในทุกกลุ่ม พร้อมลุยทุกช่องทางขายทั้งออนไลน์ และขายตรง รวมทั้งเปิดรับตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมถึงระดับอำเภอตามเป้าหมาย ของทั้ง SAWAD ที่มีสาขาทั่วประเทศเกือบ 5 พันสาขา และสาขาของออมสินอีกกว่า 1 พันสาขา ควบคู่กับการปรับแนวทางการติดตามทวงถามให้มีความยืดหยุ่นกับสถานการณ์แต่ละช่วง จึงมั่นใจว่าจะรักษาสัดส่วนหนี้เสีย (NPL) ปี 65 ให้เท่ากับปี 64 หรือไม่เกิน 3.71% ขณะที่พอร์ตสินเชื่อคาด 20-30%
ล่าสุด SAWAD คืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนของ บมจ. เงินทุน ศรีสวัสดิ์ หรือ BFIT อนุมัติการเข้าทำธุรกรรมการซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดในบริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด (SCAP) และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement : PP) เพื่อชำระเป็นค่าตอบแทนสำหรับธุรกรรมการซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดใน SCAP ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบริษัท เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและข้อกำหนดในการดำเนินงานซึ่งทำให้กลุ่มบริษัทต้องชะลอการปล่อยสินเชื่อและมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่ออย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อนโยบายการดำเนินธุรกิจในอนาคตของกลุ่มบริษัทที่อาจไม่คล่องตัว และแผนงานในการประกอบธุรกิจใหม่ด้านบริการสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อส่วนบุคคลแทนซึ่งมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากกว่า คาดได้รับอนุญาตไตรมาส 3 ปีนี้
สำหรับการควบรวมดังกล่าว SAWAD จะแลกหุ้น ด้วยการเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ BFIT จำนวน 487 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 24 บาท ซึ่งเป็นการจัดสรร PP เพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับการจำหน่ายหุ้น SCAP ที่บริษัทถืออยู่ 39 ล้านหุ้นให้กับ BFIT แทนการชำระด้วยเงินสด รวมมูลค่ารายการเท่ากับ 11,700 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่ายุติธรรมของทั้งสองกิจการ ทำให้ BFIT และบริษัทไม่มีภาระในการจัดหาเงินทุนเพื่อเข้าทำรายการ ซึ่งบริษัทจะได้ประโยชน์จากการถือหุ้นใน SCAP ตามสัดส่วนที่เหมาะสม ขณะที่ BFIT จะได้ประโยชน์จากฐานทุนที่มีการปล่อยสินเชื่อที่มีโอกาสเติบโตสูง โครงสร้างการถือหุ้นและธุรกิจของกลุ่มบริษัทจะชัดเจน ช่วยลดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทำให้เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
NCAP ลุยสินเชื่อส่วนบุคคล
สำหรับ บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด(มหาชน) หรือ NCAP ล่าสุดแต่งตั้ง ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ให้ดํารงตําแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (Co-CEO) มีผลตั้งแต่ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อเข้ามาเสริมทัพแผนการขยายธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของกลุ่มบริษัท หลังจากบริษัทตั้ง “บริษัท เน็คซ์ มันนี่ จำกัด” บริษัทน้องใหม่ในเครือด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจ และเพิ่มช่องทางการรับรู้รายได้และกำไร นอกเหนือจากที่ทำเพียงธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เนื่องจากหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-NCAP บริหารงานด้วยความระมัดระวัง และมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อขยายการเติบโตของบริษัทตามเป้าหมาย
สำหรับ NCAP ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ คิดเป็นราว 99% ของพอร์ตลูกหนี้รวม เป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ นอกจากนี้ ยังดำเนินธุรกิจรถจักรยานยนต์มือสอง และสินค้าอื่นที่มีโอกาสทางการตลาด มีสาขากระจายอยทั่วประเทศรวม 24 สาขา อีกทั้ง มีดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่ายรถเป็นพันธมิตรของบริษัทฯ ในพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 600 ราย ซึ่งบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในพื้นที่ภาคใต้ เน้นขยายพื้นที่ใหม่ๆ รองรับการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อในปีนี้ และขยายผลิตภัณฑ์และการให้บริการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจหลักในการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ครอบคลุมรถจักรยานยนต์ขนาดรถเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่
ทั้งนี้ โบรกเกอร์มองว่า หาก สคบ.กำหนดเพดานควบคุมอัตราดอกเบี้ย สูงสุดที่ 20% จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพ การทำกำไรของ MTC ในกรอบจำกัด ขณะที่จะส่งผลโดยตรงต่อทั้งรายได้รวม และศักยภาพการทำกำไรของ SAWAD เบื้องต้นคาดจะกระทบต่อกำไรประมาณ 15% รวมถึง TK หรือ บมจ. ฐิติกร และ NCAP หรือ บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล ที่รับผลไปตามสภาพพอร์ตสินเชื่อของบริษัท.