จากสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการที่ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า ส่งผลให้เงินบาทไทยอ่อนค่าแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ซึ่งมิติของเงินบาทที่อ่อนค่าลงย่อมเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก (ถ้าคู่ค้าไม่ขอลดราคาลง) อำนาจการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ในรูปเงินบาท) เพิ่มสูงขึ้นนั้น
เงินไทยอ่อนจูงใจต่างชาติโอนอสังหาฯ เร็วขึ้น สิงคโปร์ติดท็อปสนใจคอนโดฯ
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด ที่ปรึกษาการลงทุนและบริหารโครงการ กล่าวถึงค่าเงินบาทอ่อนค่ากับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยว่า หากพิจารณาในแง่ของชาวต่างชาติแล้วน่าจะดีอยู่ แต่ต้องดูเหตุผลอย่างอื่น เช่น การเดินทางเข้าประเทศไทยยังสะดวกหรือไม่ จะยากหรือไม่ รวมถึงต้องติดตามทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ จะมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปอีก ซึ่งเงินบาทเคยอ่อนค่าไปแตะระดับ 36.5 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ซับไพรม์)
"เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่ถามผมว่า อสังหาฯ ในไทยจะถูกลงจากค่าเงินอ่อนลงนั้น ใช่ แต่คงไม่เยอะ ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่อยู่ในภาวะชะลอตัว แต่หากมองในมุมที่ชาวต่างชาติอยู่ในประเทศไทยแล้วอาจจะรีบโอน เทเลย ซื้อเลย หรือจ่ายเงินมากขึ้น เพราะอสังหาฯ บ้านเราถูกลง"
สำหรับกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยนั้น พบว่า จีนยังสนใจอสังหาฯ ไทยอยู่ ติดหนึ่งในสามในแง่ของการลงทุน แต่หากมองในเรื่องเปลี่ยนสัญชาติแล้ว จีนอยู่อันดับที่ 10 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวสิงคโปร์มาซื้ออสังหาฯ ไทยเยอะมาก เดินทางมาเที่ยวมากขึ้น อาจจะเป็นเรื่องของสถานการณ์โควิด-19 และราคาอสังหาฯ ในสิงคโปร์ที่สูง
ห่วง 'เงินเฟ้อ' ลากยาวไปอีก 2 ปี
จับตา ศก.ยุโรปทรุด กระทบชิ่งท่องเที่ยวไทยด้วย
นายสุรเชษฐ กล่าวถึงภาพรวมการท่องเที่ยวว่า แนวโน้มเงินบาทที่อ่อนลงจะดีกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่โอกาสจะเกิดวิกฤตนั้น คงไม่ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีบทเรียนและเตรียมพร้อมรับมือมาตลอด ตัวเลขหนี้จากต่างประเทศน้อย ทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างสูง มีการซื้อทองคำเข้ามาสำรองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากเห็นสัญญาณที่จะเกิดขึ้นกับค่าเงิน
"เรื่องที่น่าห่วงสำหรับประเทศไทย คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เป็นผลจากราคาเชื้อเพลิง และหากบาทอ่อน การนำเข้าที่เยอะจะเดือดร้อน ตัวเลขล่าสุด มิ.ย.สูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง ปีนี้ (65) เงินเฟ้อคงไม่ทุเลา อาจจะลากยาวไปถึง 2 ปี ซึ่งเราต้องดูว่าประเทศรัสเซีย จะดำเนินการตัดการส่งก๊าซเข้าประเทศยุโรปเพิ่มอีกหรือไม่ ตรงนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่จะกระทบถึงเศรษฐกิจในยุโรป และถ้าตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศยุโรปสูงขึ้นจะกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากยุโรปติดอันดับที่ 6-7 เดินทางเข้ามาประเทศไทยมาก"
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้นักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดียเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการที่รัฐบาล และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว และสายการบินต่างๆ ได้ไปเปิดตลาดและกระตุ้นชาวอินเดียมาเที่ยวไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศจีนยังไม่ผ่อนคลายเรื่องมาตรการโควิด-19 ทั้งนี้ ตามข้อมูลพบว่า มีชาวจีนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยประมาณ 800,000 คน เยอะสุดเทียบกับทั้งโลก และมีชาวอินเดียอยู่ในไทยประมาณ 200,000 คน เป็นต้น
อนึ่ง Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ได้มองอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2565 จะพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 6.1% จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ที่จะทำให้ราคาพลังงานในภาพรวมจะยืนสูงตลอดทั้งปี อีกทั้งในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าและบริการจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากดัชนีราคาผู้ผลิตที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
บาทอ่อนส่งผลดีนักท่องเที่ยวเข้าไทย
สวอปเงินมากขึ้น ใช้จ่ายเพิ่ม
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวว่า จริงๆ แล้ว แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนตัวนั้นน่าจะดีต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากสมัยก่อน 1 ดอลลาร์ แลกเป็นเงินบาทไทยได้ 30 บาท แต่ตอนนี้มาประเทศไทยสามารถแลกเงินบาทได้ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ แสดงว่า นักท่องเที่ยวแลกเงินบาทได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีในระยะสั้น
แต่จริงๆ แล้วต้องเรียนว่า ทาง ททท.หาความสัมผัสว่าค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไป กับความต้องการเดินทางมาประเทศไทย จะเกิดความสัมพันธ์มากน้อยเพียงใดนั้น ปรากฏว่า "ไม่มีนัยสำคัญ" เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะมีการวางแผนการเดินทาง และเตรียมงบประมาณในการท่องเที่ยวไว้อยู่แล้ว เช่น ตั้งงบไว้ที่ 1,000 เหรียญ จะอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้ แต่การที่เดินทางเข้าท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว เงินที่แลกได้อาจจะมากขึ้นทำให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น หรือจะพำนักอยู่ในประเทศไทยยาวขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศไทย
"ในกรณีระยะยาว หากเงินบาทอ่อนตัวลงไปมากขึ้นอาจจะมีส่วนทำให้ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น การซื้อตั๋วเครื่องบิน ถ้าเงินอ่อนค่าลง จะส่งผลต่อเนื่อง เช่น ราคาน้ำมันหรือไม่ ต้องมาดูอีกที" ผู้ว่าฯ ททท.กล่าวถึงผลดีและผลกระทบที่จะตามมาจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง
ปี 65 โอนห้องชุดต่างชาติรอการฟื้นตัว
ก่อนหน้านี้ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในไตรมาส 1 ปี 2565 ยังคงชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2564
ทั้งนี้ หากมาลงลึกถึงภาพรวมสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศ ในไตรมาส 1 ปี 65 มีจำนวน 2,107 หน่วย ลดลงร้อยละ -10.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่มีจำนวนหน่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปี ในช่วง COVID-19 (ปี 2563-2564) ที่มีจำนวน 2,061 หน่วย/ไตรมาส มูลค่าการโอนห้องชุดรวมทุกประเทศ 10,262 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.1 (YoY) มูลค่าการโอนในไตรมาสนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปี ในช่วง COVID-19 ที่มีมูลค่า 9,683 ล้านบาท/ไตรมาส
ทั้งนี้ การโอนห้องชุดให้ชาวต่างชาติในไตรมาส 1 จำนวน 2,107 หน่วย ในจำนวนนี้เป็นประเภทห้องชุดใหม่ ร้อยละ 65.1 ลดลง (YoY) ซึ่งมีสัดส่วนของห้องชุดใหม่ร้อยละ 80.3 ในขณะที่ห้องชุดมือสองมีสัดส่วนร้อยละ 34.9 เพิ่มขึ้่นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 19.7
สกุลเงินหลายประเทศผันผวนหนัก
ด้านกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้ (6 ก.ค.) เคลื่อนไหวในกรอบ 35.90-36.10 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทอ่อนค่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560 หลังดัชนีค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสูงสุดวันเดียวที่ +1.6% และค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงมากสุด 1.75% และอ่อนค่าสูงสุดเทียบดอลลาร์ในรอบ 20 ปี ในขณะที่ตลาดกังวลเรื่องภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ หลังราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปพุ่ง และรายงานตัวเลขขาดดุลการค้าของเยอรมนี หลังมองว่าจะเกินดุล สกุลเงินอื่นมีการปรับอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์เช่นเดียวกัน โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 24 ปี เมื่อวานนี้ธนาคารกลางออสเตรเลียขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ตามคาด