xs
xsm
sm
md
lg

DBS หั่นเป้า SET ปีนี้เหลือ 1,680 จุด เสี่ยง ศก.ถดถอย-เร่งขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อกดดัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ "ปรับพอร์ต รับวิกฤตหุ้นครึ่งปีหลัง" โดยระบุว่า จากปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้นและภาพรวมการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน โดยที่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงมา 7.2% แต่ยังถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดีกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 10% และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงไปกว่า 20-30%

โดยที่ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ได้มีการปรับลดประมาณการดัชนี SET ในสิ้นปี 65 ลดลงมาที่ 1,683 จุด จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 1,800 จุด หลังจากประเมินว่าตลาดหุ้นไทยยังคงความเสี่ยงและแรงกดดันจากปัจจัยภายในและภายนอกค่อนข้างมาก โดยที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นแรงกดดันหลัก ส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกต้องเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ท่ามกลางสภาวะที่ซัปพลายของสินค้าและบริการต่างๆ ที่กลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อมา ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ยังคงเห็นเงินเฟ้อในระดับที่สูงมาต่อเนื่อง

การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นผลกระทบที่เข้ามาต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเริ่มมาจากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ทำให้กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวตามกัน ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลในปัจจัยดังกล่าว และมีการขายทำกำไรออกมา เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะตามมาด้วยการชะลอตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่ชะลอลง

ขณะเดียวกัน สภาพคล่องในตลาดที่ลดลงจากการค่อยลดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้การซื้อขายหุ้นเริ่มเห็นเม็ดเงินในการซื้อขายน้อยลง ทำให้การปรับตัวขึ้นของดัชนีค่อนข้างเป็นไปอย่างจำกัด และทำให้ทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกในภาพรวมเริ่มแกว่งตัวซึมลง รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน ยกเว้นตลาดหุ้นจีน ที่หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเริ่มกลับมาเปิดเมือง จะเห็นเม็ดเงินไหลเข้าไปในตลาดหุ้นจีนมากขึ้น ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกในปีนี้

ส่วนปัจจัยในประเทศยังคงเป็นการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาก ทำให้มีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติที่เคยเข้ามาเมื่อปลายปี 64 ถึงเดือน พ.ค.65 หวนกลับมาเทขายหุ้นไทยอีกครั้ง ซึ่งในเดือน มิ.ย.65 นักลงทุนชาวต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อล็อกกำไรไว้ หลังจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปค่อนข้างมาก ทำให้จะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยได้รับแรงกดดันจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาต่อเนื่อง และทำให้ดัชนี SET แกว่งตัวลงไปราว 100 จุดแล้ว และยังต้องรอการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม 0.25% ต่อปี มาที่ 0.75% ต่อปี ซึ่งอาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาได้บ้างเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยหนุนต่อตลาดหุ้นไทยในกลุ่มที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว หลังจากมีการเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศมามากแล้ว ทำให้จะเห็นภาพการท่องเที่ยวในปีนี้ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างดี ซึ่งสามารถเข้ามาทดแทนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลกได้ โดยหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวที่เป็นหุ้นแนะนำ ได้แก่ AOT, AAV, BA, ERW, CENTEL, MINT, SHR, CPN และ CRC

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มโรงพยาบาลซึ่งได้รับประโยชน์จากการเดินทางเข้าประเทศได้ ทำให้ลูกค้าชาวต่างชาติเดินทางกลับเข้ามารักษาในโรงพยาบาลชั้นนำมากขึ้น โดยมีหุ้นแนะนำในกลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ BDMS และ BCH ขณะที่ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ทั้งการเปิดเมือง และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งมีหุ้นในกลุ่มดังกล่าวที่แนะนำ ได้แก่ BEM และ BTS

ขณะที่ทิศทางของการที่จีนมีโอกาสกลับมาให้ประชาชนชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนต่อการกลับมาของกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่ชอบเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัย และเข้ามาลงทุนในประเทศได้มากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งจะเข้ามาเสริมจากกลุ่มลูกค้าในประเทศ และกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น และยุโรป โดยมีหุ้นแนะนำในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ AP, NOBLE, ORI และ SC ส่วนหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่แนะนำ ได้แก่ AMATA, WHA และ ROJNA

ด้านนายธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในไตรมาส 3/2565 ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อสูงจะยังคงเป็นภัยคุมคามการลงทุนอยู่ ซึ่งจะหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อจนกว่าจะเห็นปัญหาซัปพลายเชน ดีสรัปชัน (Supply Chain Disruption) และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศคลี่คลาย

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยบล.ดีบีเอส ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ในปี 2565 ใหม่ โดยปรับลดแนวโน้มจีดีพีประเทศสหรัฐอเมริกาลงเหลือ 2.5% จากเดิม 3% จีดีพีประเทศในยุโรปเหลือ 1.4% จาก 3% จีดีพีจีน เหลือ 4.8% จาก 5.3% ญี่ปุ่นเหลือ 1.6% จาก 2.2% ส่วนประเทศไทยคงคาดการณ์จีดีพีเติบโตเท่าเดิมที่ 3.5%

"การปรับลดจีดีพีเป็นผลมาจากเราเห็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะถดถอยกำลังแรงขึ้น สะท้อนจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รุ่น 10 ปี และ 2 ปี เริ่มกลับมาใกล้ติดลบ ซึ่งบลูมเบิร์ก ได้ทำโมเดลคาดการณ์ชี้ว่าโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึง 98% ในระยะ 24 เดือนข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจและแนวโน้มการบริโภคทั่วโลก ถูกฉุดด้วยนโยบายเข้มงวดทั้งการเงิน การคลัง รวมทั้งยังต้องจับตาจีนว่าจะผ่อนคลายนโยบายโควิดในเร็วๆ นี้หรือไม่" นายธนวัฒน์ กล่าว

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในไตรมาส 3/2565 ฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอส ยังคงแนะนำเพิ่มน้ำหนักในหุ้นจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากมองว่าหุ้นทั้ง 2 ประเทศนี้มีความโดดเด่นและน่าสนใจ โดย ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีนตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 เพราะผู้นำจีนประกาศแนวนโยบายหนุนเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และในไตรมาส 3/2565 แนะนำให้ปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากมองว่าหุ้นญี่ปุ่นมักจะ outperform เมื่อค่าเงินเยนอ่อน

"เรายังคงแนะนักลงทุนจัดพอร์ตโดยเน้นหุ้นคุณภาพ มีการกระจายรายได้ที่ดีทั้งด้านผลิตภัณฑ์และภูมิภาค ซึ่งเรายังชื่นชอบหุ้นจีน เพราะคาดผลตอบแทนคุ้มค่าความเสี่ยง รวมทั้งหุ้นญี่ปุ่น ส่วนหุ้นยุโรปเราแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน" นายธนวัฒน์ กล่าว

ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ แนะนำกลุ่มที่มีเรตติ้งระดับ A/BBB และมีอายุตราสารไม่ยาวนักอยู่ที่ประมาณ 3-5 ปี โดยให้ลดน้ำหนักหุ้นกู้ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เพราะมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงหรือความเสี่ยงในการลงทุนช่วงไตรมาส 3 ปีนี้จะมาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล การเมืองระหว่างประเทศ เทคโนโลยี สภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมเฉพาะมีความเสี่ยงสูงกว่าตลาดโดยรวม

ส่วนนายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กล่าวว่า จากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้การเลือกหลักทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากธีมการลงทุนไตรมาส 3/2565 ในช่วงที่น้ำมันดิบผันผวนด้านอุปทานจากการแซงกฺชันรัสเซีย กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้น้ำมันขึ้นราคา ซึ่งจะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมต้นน้ำเช่น PTTEP, PTT หุ้นโรงกลั่น เช่น BCP, TOP, ESSO, SPRC และหากน้ำมันลดราคาลง ตามเศรษฐกิจโลกชะลอจะเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมที่นำน้ำมันหรือก๊าซไปใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่า Anti Commodity เช่นหุ้น SCC, BGRIM, GPSC, SCGP, CBG, OSP, AAV, BA, EPG

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยกำลังเป็นขาขึ้น หลักทรัพย์ได้ประโยชน์เป็นหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ไม่ได้ทำธุรกิจเช่าซื้อ เช่น KBANK, BBL, TTB ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบทางลบจะเกี่ยวกับการทำไฟแนนซ์ ธุรกิจเช่าซื้อ เช่น KKP, TISCO, SAWAD, MTC

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังโดดเด่นด้านการฟื้นตัวจากการเปิดเมือง โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน หากการท่องเที่ยวไทยฟื้น จะสามารถทดแทนการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ส่วนหุ้นได้รับผลดีจาการเปิดเมือง เช่น หุ้นสนามบิน AOT หุ้นสายการบิน AAV, BA หุ้นโรงแรม ERW, CENTEL, MINT, SHR หุ้นศูนย์การค้า CPN, CRC หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นลูกค้าต่างประเทศ ได้แก่ BH, BDMS, BCH

หลักทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ด้านการลงทุนกลุ่มที่ดิน มีกิจกรรมการขาย&โอน เช่น กลุ่มการลงทุน มี AMATA, WHA, ROJNA กลุ่มอสังหาฯ มี AP, NOBLE, ORI, SC

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังไม่ปรับขึ้น ไม่จูงใจนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ค่าเงินบาทจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการไหลออกของ Fund Flow ขณะเดียวกัน การที่ค่าเงินบาทอ่อนจะส่งผลดีต่อการส่งออก ส่วนการนำเข้ามีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าที่ส่งผลกระทบวงกว้าง เช่น น้ำมัน เครื่องจักร อย่างไรก็ตามหลักทรัพย์กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับผลกระทบด้านอุปสงค์ลด และมีปัญหา Supply Chain Disruption แต่การส่งออกอาหารได้ประโยชน์จากราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้น และกลุ่มอาหารได้ประโยชน์จากภาวะสงคราม เช่น ASIAN, CFRESH, GFPT, TU

"หากรัฐบาลกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้า โครงการขนาดใหญ่ กลุ่มหลักทรัพย์ผู้รับเหมาก่อสร้างจะได้ประโยชน์ หุ้นเด่นคือ CK กระตุ้นเศรษฐกิจโครงการ EEC กลุ่มนิคมจะได้ประโยชน์ ส่วนกรณีที่ภาครัฐแทรกแซงภาคเอกชน เพื่อบรรเทาภาระภาคประชาชน ช่วยพยุงราคาดีเซล ในกองทุนน้ำมันติดลบถึงระดับแสนล้าน โดยขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันแบ่งกำไรส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ราคาหุ้น TOP, ESSO, BCP, SPRC และ โรงแยกก๊าซ PTT จึงมีความผันผวนสูง ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาราคาหุ้นลงมารับข่าวส่วนหนึ่งไปแล้วก็ตาม" นายสมบัติ กล่าว

นายสมนึก จันทร์รัสมี ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กล่าวว่า ภาพดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในระยะกลางมีความชัดเจนในโครงสร้างขาลง ที่ไม่น่าจะเปลี่ยนทิศทางในช่วงเวลาอันใกล้นี้ได้ ดังนั้นจึงมีทิศทางการปรับตัวลงเป็นหลัก และหากจะมีการปรับขึ้นจะเป็นแค่การรีบาวนด์ทางเทคนิคสั้นๆ แล้วลงต่อ

ส่วนภาพระยะสั้นดัชนีตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาอ่อนตัวลงแรงกว่า 100 จุด แม้จะทำให้ดูเหมือนจูงใจให้เกิดแรงซื้อที่จะดึงให้ตลาดมีโอกาสเปลี่ยนทิศทางกลับเป็นขาขึ้นได้ โดยอาศัยสัญญาณ Oversold หนุน แต่เมื่อประเมินจากภาพรวมแล้ว ตลาดน่าจะมีทิศทางปรับตัวลงก่อนแล้วจึงจะเปลี่ยนทิศทางตามมาได้ โดยประเมินแนวรับอยู่ที่ 1,500, 1,450 หรือ 1,400 จุด

สำหรับกลยุทธ์การเก็งกำไร กรณีดัชนีสูงกว่า 1,600 จุด ให้เน้นซื้อค่าบวก เพื่อลุ้นหรือรอขายที่แนวต้านระดับ 1,620-1,650 จุด แต่หากดัชนีต่ำกว่า 1,600 จุด เน้นซื้ออ่อนตัวที่ 1,500, 1,450 หรือ 1,400 จุด เพื่อลุ้นและรอขายเมื่อมีการปรับขึ้น

นายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไตรมาส 3/2565 หุ้นในกลุ่ม SET50 ในทางเทคนิค หากการขึ้นยังไม่สามารถยืนเหนือ 967-975 หรือ 995 ไม่ได้ ให้ระวังกลับมา 930 และการหลุดต่ำกว่า จะปรับตัวลงต่อเนื่องในไตรมาส 3/2565 นี้ และสอดคล้องกับไตรมาสก่อนที่ประเมินว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการลงในระยะกลาง

เชิงปัจจัยประเด็นหลักหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ลงจะเป็นความเสี่ยงให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงอีก แต่มีข้อดีคือ ตอนนี้ตลาดพันธบัตรเริ่มรับรู้ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 3.4-3.8% ในช่วง 2 ปีนี้แล้ว แต่ความเสี่ยงหลักไม่ใช่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่เป็นเศรษฐกิจยุโรปและตลาดเกิดใหม่ซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินทุนไหลออกและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด ราคาน้ำมันที่สูงค่าเงินที่อ่อน จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูง เสี่ยงวิกฤต ซึ่งตลาดยังไม่ค่อยพูดถึงและรับรู้นัก

ส่วนราคาทองคำ ยังแกว่งตัวในกรอบ คาดว่าเป็นการแกว่งตัวในกรอบ กรอบบน 1,850/1,880 กรอบล่าง 1,780/1,750 ทองคำยังคงถูกกดดันจากเรื่องเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็ว แม้ว่าอาจจะมีแรงซื้อเข้ามาเป็นระยะๆ หากมีความเสี่ยงเรื่องสงคราม และเศรษฐกิจเข้ามาเป็นระยะๆ ขณะที่ค่าเงินบาท การขึ้นทดสอบ 35.8-36/36.5 จะยังไม่ผ่านในครั้งแรกที่ทดสอบ ระวังการพักฐานกลับมาแข็งค่าที่มีนัยสำคัญ หลังจบการประชุมเฟด 26-27 ก.ค. นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น