xs
xsm
sm
md
lg

สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดคงเป้าจีดีพีโต 3.3% ตลาดการเงินยังป่วน-เงินเฟ้อโจทย์หนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อ และส่วนต่างดอกเบี้ยกับสหรัฐฯ ที่กว้างมากขึ้นน่าจะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสนี้

“ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาส 4 เราคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยมีแรงผลักดันจากการภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ในขณะที่การส่งออกยังคงแข็งแกร่ง และการบริโภคภาคเอกชนดีขึ้นต่อเนื่อง มุมมองบวกดังกล่าวถือว่าต่างจาก 2 ปีที่แล้วในช่วงโควิด” นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าว

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเติบโตร้อยละ 3.3 และร้อยละ 4.5 ในปีหน้า โดยการฟื้นตัวจะชัดเจนตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ความผันผวนในตลาดการเงินยังน่าจะยังสูงอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว

"ระดับจีดีพีปีนี้ที่มองไว้ร้อยละ 3.3 ถือว่าเป็นระดับกลางๆ ที่เราคงประมาณการเดิมที่ปลายปีก่อน เนื่องจากเราอยู่ในฐานที่ต่ำใน 2 ปีก่อน แม้จะมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่สิ่งที่จะกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนคือการท่องเที่ยวที่ดูจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จาก 1 แสนคนในต้นปี มาเป็น 3 แสนในเดือนเมษายน ล่าสุดเกือบ 7 แสนในเดือนมิถุนายน แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่มองไว้ว่าจะเป็นจุดที่มีความแข็งแกร่งคือ 1-1.5 ล้านคนต่อเดือน จากช่วงก่อนโควิดที่ 3 ล้านคนต่อเดือน"

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ต้องจับตามองในขณะนี้ คือ เงินเฟ้อจะมีผลต่อการบริโภคไหม เราไม่อยากให้การบริโภคซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยสะดุดลง ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่อยู่ในระดับร้อยละ 7.66 และมีอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 กว่า ของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองไว้ทั้งปีที่ร้อยละ 6

ตลาดการเงินโลกผันผวนไปอีก 2-3 เดือน คาดดอลลาร์/บาท อยู่ที่ 33 ปลายปี 2565
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในการประชุมเดือนกรกฎาคม และกันยายน และการขึ้นแต่ละครั้งน่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่ค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท และจะยิ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐฯ ห่างมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ตลาดการเงินน่าจะยังคงอยู่ในภาวะผันผวนไปอีกระยะหนึ่ง เรายังไม่เห็นเฟดเริ่มส่งสัญญาณการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ เงินบาทในไตรมาส 3 จะยังคงอ่อนค่าจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงและการขาดดุลการค้า ซึ่งจะเห็นว่าเงินบาทวันนี้แตะระดับ 36.00 บาท แต่จะค่อยๆ กลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าที่ภาคการท่องเที่ยวกลับมาอย่างแข็งแกร่ง

คาด กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม 3 ครั้งข้างหน้า
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่า กนง. จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสนี้ โดยขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 3 ครั้ง ในการประชุมเดือนสิงหาคม กันยายน และพฤศจิกายน ครั้งละ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ก่อนสิ้นปีนี้ จากร้อยละ 0.50 ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ การประชุมนัดพิเศษนอกจากการประชุมรอบปกติ อาจเป็นไปได้ ท่ามกลางความผันผวนของตลาดการเงินจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และเงินเฟ้อในประเทศที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง แม้กระนั้น หลังจากการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันในประเทศในปีนี้ ทำให้ในปีหน้า กนง. อาจพักการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อตามดูเศรษฐกิจก่อนก็เป็นได้

สำหรับในปีถัดๆ ไปคาดการณ์ปี 2466 ครึ่งปีแรกพัก และมาปรับขึ้นในครึ่งปีหลัง 2 ครั้งและร้อยละ 0.25 มาสู่ระดับร้อยละ 1.75 และในปี 2567 ปรับขึ้น 1 ครั้งไปสู่เป้าหมายที่ร้อยละ 2 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิดเล็กน้อย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยจะต่างจากเฟดเป็นการขึ้นแล้วพัก ขณะที่เฟดคาดการณ์ในการประชุมครั้งต่อไปที่ร้อยละ 0.50 อีก 2 ครั้งในปีนี้

มองไปข้างหน้า - กรอบเงินเฟ้อ และหนี้สาธารณะ
เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7 ซึ่งสูงกว่ากรอบเงินเฟ้อ ธปท. ซึ่งตั้งไว้ที่ร้อยละ 1-3 จึงเป็นคำถามว่า ธปท. จะปรับกรอบเงินเฟ้อต่อปีในช่วงต้นปีหน้าหรือไม่ นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว เราเชื่อว่านักลงทุนน่าจะสนใจว่าหนี้สาธารณะของประเทศจะเริ่มลดลงบ้างไหม จากที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ของจีดีพีในขณะนี้ เทียบกับร้อยละ 40 ช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

"โจทย์เงินเฟ้อที่สูงค่อนข้างมากในปัจจุบันถือเป็นโจทย์ที่ยากและต้องเรียนรู้ไปด้วยกันของทั้งแบงก์ชาติและผู้กำกับดูแลนโยบายด้านต่างๆ ซึ่งต้องติดตามว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะประสบความสำเร็จสำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน ค่าไฟ ราคาอาหารหรือไม่ ขณะเดียวกัน ปีหน้าเราอาจจะเผชิญกับเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นจากภาคอุปสงค์เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น"
กำลังโหลดความคิดเห็น