หุ้นบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI เปิดจองวันแรกอย่างคึกคัก และเชื่อว่าบริษัทผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย รวมทั้งบริษัทผู้จัดการจำหน่ายทั้งหมด 14 แห่ง คงขายหุ้นได้หมดเกลี้ยงตั้งแต่วันแรก
TLI เป็นบริษัทประกันชีวิตใหญ่ที่สุด รองจากบริษัท AIA โดยนำหุ้นจำนวน 2,155.06 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 18.80% ของทุนจดทะเบียน เสนอขายนักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรกในราคาหุ้นละ 16 บาท เปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2565
วงเงินระดมทุนครั้งนี้มีจำนวน 37,037 ล้านบาท และเป็นบริษัทประกันชีวิตที่เสนอขายหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
หุ้นบริษัทประกัน ไม่ว่าประกันภัยหรือประกันชีวิตมักไม่อยู่ในความนิยมของนักลงทุน แต่หุ้น TLI สามารถปลุกความสนใจของนักลงทุนในวงกว้าง และแห่จองซื้อจนหุ้นขายเกลี้ยงในพริบตา
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ได้รับโควตาจัดสรรจำนวน 25 ล้านหุ้น และเปิดให้ลูกค้าจองซื้อคนละ 1,000 หุ้นถึง 1,500 หุ้น ตามมูลค่าซื้อขายหุ้นของลูกค้าแต่ละราย ในระบบใครจองและชำระเงินก่อน จะได้รับการจัดสรรก่อน
ภายในครึ่งชั่วโมงต้องปิดการจองเพราะหุ้นหมดโดยมีลูกค้ารับการจัดสรรประมาณ 20,000 ราย สะท้อนถึงความเป็นหุ้นใหม่ที่ร้อนแรง
ปี 2564 TLI มีรายได้รวม 1,098,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% จากปี 2563 และมีกำไรสุทธิ 8,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับปี 2563 ส่วนไตรมาสแรกปีนี้มีรายได้ 25,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากระยะเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 3,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากระยะเดียวกันปีก่อน
TLI เป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิค เพราะไม่ได้รับประกันโควิด จึงไม่ถูกผลกระทบจากความเสียหายในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกับกรมธรรม์โควิค
หุ้นในกลุ่มบริษัทประกันภัยประกันชีวิตมีจำนวนทั้งสิ้น 18 บริษัท และส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอย่างราบเรียบ เนื่องจากเป็นหุ้นกลุ่มที่นักลงทุนให้ความสนใจน้อย ราคาจึงขึ้นลงในกรอบแคบๆ
จะมีเพียงหุ้นบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH เท่านั้นที่คึกคัก หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจ และเปลี่ยนมาเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์
TLI จะเข้ามาเป็นหุ้นกลุ่มประกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มาร์เกตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมเฉียด 2 แสนล้านบาท
ถ้าจะเทียบปัจจัยพื้นฐาน TLI กับหุ้นในกลุ่มประกันด้วยกันคงเปรียบเทียบลำบาก เพราะหุ้นกลุ่มประกันแต่ละบริษัท ปัจจัยพื้นฐานไปคนละทิศคนละทาง บางบริษัทผลประกอบการดี มีค่าพี/อี เรโชเพียง 2.84 เท่า เช่นบริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ INSURE
แต่บางบริษัทค่า พี/อี เรโชสูงกว่า 20 เท่า หลายบริษัทผลประกอบการยังขาดทุนอยู่ ถ้าจะเทียบกับหุ้นบริษัทประกันชีวิตด้วยกันคงเทียบกับหุ้นบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ BLA ซึ่งมีค่าพี/อี เรโช 22 เท่า ใครเคียงกับ TLI ที่มีค่าพี/อี เรโช 22 เท่าเหมือนกัน
เพียงแต่ขนาดหรือมาร์เกตแคปของ TLI ใหญ่กว่ามาก แต่ไม่ใช่ปัจจัยกระตุ้นให้หุ้น TLI คึกคักกว่า BLA หลังจากเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไปสักพักหนึ่ง
แน่นอนว่า โดยภาพรวมแล้ว TLI จะก้าวเข้ามาเป็นหุ้นในกลุ่มประกันภัยประกันชีวิตที่โดดเด่นในฐานะบริษัทขนาดใหญ่ และผลประกอบการมั่นคง ซึ่งการซื้อขายวันแรกคงคึกคักสุดเหวี่ยง
แต่อย่าคาดหวังว่าราคาจะร้อนแรง ให้ผลตอบแทนที่ประทับใจ เหมือนหุ้นบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในช่วงที่เข้ามาซื้อขายวันแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2564
เพราะธุรกิจแตกต่างกัน และผลประกอบการบริษัทประกันชีวิตไม่ได้เติบโตอย่างโลดโผน
ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หุ้น TLI จะประเดิมเคาะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ราคาคงยืนเหนือจอง
แต่ผลตอบแทนอาจไม่ประทับใจนักเก็งกำไรระยะสั้น เพราะ TLI เป็นหุ้นน้องใหม่ที่จองไว้เพื่อเก็บลงทุนระยะยาวมากกว่า