xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยเงินบาทเปิดแข็งค่าที่ระดับ 34.85 แนวโน้มยังผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย 
เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.02 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.90 บาท/ดอลลาร์ ตลาดการเงินโดยรวมตอบรับผลการประชุมเฟดในเชิงบวก โดยผู้เล่นในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมทั้งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกราว 1.75% ในปีนี้ และอีก 0.50% ในปีหน้า จนกว่าเฟดจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้

พร้อมกันนี้ ประธานเฟดยังได้เน้นย้ำในช่วง Press Conference ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นเป็นไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยจะไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของเฟดที่ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะโตลดลงจากประมาณการครั้งก่อน เหลือ +1.7% ในปีนี้ และปีหน้า และขยายตัว +1.9% ในปี 2024 ส่วนอัตราการว่างงานจะทยอยเพิ่มขึ้นสู่ระดับเพียง 4.1% ในปี 2024 จากระดับคาดการณ์ที่ 3.7% ในปีนี้

การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่จะไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น ได้หนุนให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.46% ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปรีบาวนด์ขึ้น +1.42% หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มีการประชุมฉุกเฉินและมีการประกาศแผนการที่จะสร้างเครื่องมือใหม่เพื่อจะลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ท่ามกลางความกังวลวิกฤตหนี้ครั้งใหม่ หลังจากที่บอนด์ยิลด์ 10 ปี ของบรรดาประเทศในฝั่งยุโรป เช่น อิตาลี สเปน โปรตุเกส ต่างปรับตัวขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับบอนด์ยิลด์ 10 ปี เยอรมนี

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนในวันนี้ โดยเงินบาทได้กลับมาแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ที่เผชิญแรงขายทำกำไร “Sell on Fact” ตามที่เราคาดไว้ หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจแย่ลง นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งจะพอช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

ทว่า เราคิดว่าการแข็งค่าของเงินบาทยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากระดับ 34.70-34.80 ยังคงเป็นระดับที่ผู้นำเข้าต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์อยู่ อีกทั้งเงินดอลลาร์พร้อมจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้หากตลาดกลับมากังวลประเด็นเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ ที่อาจหนุนให้เฟดยังสามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งเรามองว่าจะสามารถมั่นใจได้ว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง อาจต้องรอถึงการประชุมเฟดในเดือนกรกฎาคม

อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่าผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย เช่น ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ท่าทีของเฟดที่อาจไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนมองว่า การประชุมเฟดล่าสุดอาจเป็นจุดสูงสุดของการส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ Peaked Hawkishness ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.30% จากที่แตะระดับเกือบ 3.45% ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนได้ต่อเนื่อง เพราะเฟดยังคงติดตามข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินระดับในการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเรามองว่า หากจะมั่นใจได้ว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอีกจะต้องเห็นการชะลอตัวของเงินเฟ้อ รวมถึงเศรษฐกิจที่ชัดเจนก่อน ทำให้เราคงมองว่า จุด Peaked Hawkishness ของเฟดอาจจะมาถึงในการประชุมเดือนกรกฎาคม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ท่าทีของเฟดที่ไม่ได้จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมากกว่าคาด รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ กดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 104.7 จุด หนุนให้สกุลเงินหลัก เช่น เงินยูโร (EUR) ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.047 ดอลลาร์ต่อยูโรอีกครั้ง นอกจากนี้ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์ และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงส่งผลให้ราคาทองคำรีบาวนด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,838 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าอาจมีผู้เล่นบางส่วนที่ได้ Buy on Dip ทองคำในจังหวะการปรับฐานก่อนหน้า เข้ามาทยอยขายทำกำไรทองคำได้ ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้างในวันนี้

สำหรับวันนี้ นอกเหนือจากผลการประชุมเฟดที่รับรู้ไปแล้วในช่วงเช้าตรู่ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยตลาดมองว่า แรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะหนุนให้ BOE อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% โดย BOE อาจประเมินว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังคงได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาล รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้ BOE สามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่า BOE อาจสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 2.00% ได้ในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น