นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ด้วยธนาคารออมสินได้ขยายบทบาทการส่งเสริมการออม ตั้งเป้ากระตุ้นประชาชนให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการออมระยะยาว เพื่อวางแผนเกษียณอายุและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยธนาคารกำหนดภารกิจ 2 ด้านที่สำคัญในการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการวางแผนเกษียณแก่ประชาชน และการออกแบบผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาว ที่ให้สิทธิประโยชน์ตอบโจทย์เป้าหมายการวางแผนเกษียณของผู้ฝากเงิน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ธนาคารออมสินได้เปิดให้ประชาชนจองสิทธิเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพื่อการเกษียณ อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกปี สูงสุด 9% ในปีที่ 10 ผลปรากฏว่าเพียงวันเดียวนับจากที่เปิดรับจอง มีประชาชนจำนวนมากเข้าจองสิทธิจนเต็มวงเงินโครงการ 7,000 ล้านบาท จากผลตอบรับที่ดีเกินคาดนี้ ธนาคารจึงเตรียมเปิดให้จองสิทธิฝากเงินรอบสอง ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท
เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพื่อการเกษียณ เป็นผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ธนาคารจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนเตรียมความพร้อมตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทำงานและมีรายได้ สามารถจัดสรรรายได้บางส่วนมาเป็นเงินออมระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณให้ตนเอง โดยการฝากเงินเป็นระยะเวลา 10 ปี ธนาคารให้ดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเพิ่มขึ้นทุกปี สูงสุด 9% ในปีที่ 10 คิดเป็นดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.45% ต่อปี (ไม่ต้องเสียภาษี) ซึ่งเทียบเท่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 4.06% ต่อปี เปิดรับฝากเฉพาะบุคคลธรรมดา เปิดบัญชีขั้นต่ำ 100,000 บาท ฝากสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000,000 บาท สามารถถอนก่อนฝากครบ 10 ปีได้ ธนาคารให้ดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ฝากจริง ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนจองสิทธิรอบสองได้ที่ www.gsb.or.th และที่ LINE : GSB Society ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยหมายเลขบัตรประชาชน 1 ใบ จองสิทธิได้เพียง 1 สิทธิ.สามารถจองสิทธิแทนผู้อื่นได้ เพียงกรอกข้อมูลของผู้ฝากจองสิทธิให้ครบถ้วน แต่ต้องไปเปิดบัญชีด้วยตนเอง ตามวันและสาขาที่ได้ลงทะเบียนไว้หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการ
อนึ่ง ธนาคารออมสินมุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นเสาหลักด้านการส่งเสริมการออมของประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญตามจุดยืนธนาคารเพื่อสังคม โดยธนาคารกำหนดเป้าหมายยกระดับการส่งเสริมการออมให้ครอบคลุมเรื่องการวางแผนเกษียณ เพื่อร่วมกับรัฐบาลและทุกภาคส่วนในการผลักดันสร้างการตระหนักรู้ของประชาชน ให้พร้อมเข้าสู่ช่วงชีวิตบั้นปลายอย่างมีคุณภาพ ภายใต้สภาพสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ในปี 2565