คอนเซ็ปท์ของการกระจายอำนาจหรือ Decentralized เป็นแนวคิดที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนา dApps ต่าง ๆ บนบล็อกเชนมาตั้งแต่การเกิดขึ้นของ Bitcoin ในปี 2009 จนกระทั่งการเริ่มต้นพัฒนา Ethereum ซึ่งมีคุณสมบัติของ Smart Contract หลังจากนั้น 3 - 4 ปี
โลกคริปโตได้สร้างสรรค์โปรดักต์ต่าง ๆ ขึ้นมามากมายหลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นการระดมทุน ICO ระบบการเงินไร้ตัวกลางหรือ DeFi มาจนถึงเกมส์ที่สร้างรายได้ในตัวเองหรือ GameFi ตลอดจน NFT
แต่ทุกโปรดักต์ที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่มีช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์จนกระทั่งถึงยุคตกต่ำหรืออาจจะหายไปจากตลาดเรียบร้อยแล้วอย่างเช่น ICO ที่น่าจะกล่าวได้ว่าไม่มีทางกลับมาได้อีกแล้วเพราะถูกแทนที่ด้วย IEO ซึ่งมี Exchange เป็นเจ้าภาพระดมทุนแทน
ขณะที่ DeFi ที่เคยได้รับความนิยมในช่วงสองปีที่ผ่านมาก็เข้าสู่ภาวะขาลงมาได้ระยะหนึ่งแล้ว รวมถึงกระแสความนิยมใน GameFi ที่ลดลงไปอย่างมาก แทบไม่มีเกมส์เปิดตัวใหม่ที่น่าสนใจอีกแล้ว ส่วน NFT ยังพอขายที่ตัวผลงานได้แต่กระแสก็ไม่ได้ร้อนแรงอีกแล้ว
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ DeFi โดยเฉพาะ Yield Farming ก็คือ Toxic Liquidity หรือปัญหาการโยกย้ายเงินทุนไปมาระหว่างแพลตฟอร์มทำให้ Yield ที่เกิดขึ้นไม่มีเสถียรภาพ ส่วน GameFi ก็มีปัญหาในเรื่องของโครงสร้าง Tokenomic ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่นับปัญหาการฉ้อโกงที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
บางทีโลกคริปโตอาจจะต้องกลับมาทบทวนแนวทางของการกระจายอำนาจหรือ Decentralized แบบ 100% อาจจะรู้สึกว่าอยู่ในอุดมคติ แต่อาจจะไม่เวิร์คในเชิงปฎิบัติก็เป็นได้
อาจจะคล้ายกับระบอบคอมมูนิสต์ในอุดมคติที่สหภาพโซเวียตเคยนำมาใช้แต่สุดท้ายก็นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพฯ แต่กลับกลายเป็นระบอบคอมมูนิสต์ที่มีการปรับเปลี่ยนในเชิงปฎิบัติโดยนำหลักการของตลาดเสรีมาปรับใช้อย่างประเทศจีนและเวียดนามกลับทำให้ประเทศมีความเข้มแข็ง
ในมุมมองของผม คอนเซ็ปท์ของ Decentralized แบบ 100% มีเฉพาะ Bitcoin เท่านั้น เพราะตลอดระยะเวลาที่ Bitcoin มีการซื้อขายในตลาดเป็นระยะเวลาสิบปี ไม่มีผู้ใดที่มีอิทธิพลต่อราคาอย่างเบ็ดเสร็จต่างจากเหรียญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังยังคงอยู่ภายใต้การบริหารของผู้ก่อตั้งอยู่ดี ทุกครั้งที่พวกเขาออกมาพูดถึงเหรียญตัวเองก็จะมีผลต่อราคาในตลาด
ถ้าหากนักพัฒนาคริปโตยังคงแนวทางยึดมั่นในหลักการกระจายอำนาจต่อไป อาจทำให้ตลาดคริปโตไม่สามารถเติบโตไปมากกว่านี้ได้อีก โดยเฉพาะถ้ายังไม่มีกฎหมายที่กำกับดูแล เม็ดเงินจำนวนมหาศาลจาก Traditional Market ก็จะไม่สามารถลงมาถึงได้
ในเมื่อคอนเซ็ปท์ Decentralized ในอุดมคติไม่เกิดประสิทธิภาพ บางทีการนำคอนเซ็ปท์ ของ Centralized เข้ามาผสมผสานอาจจะเป็นทางออกที่ทำให้วงการคริปโตเติบโตต่อไปได้ก็เป็นไปได้
เราเริ่มเห็นสถาบันการเงินดั้งเดิมที่เข้ามาในโลกของ DeFi ตลอดจนค่ายเกมส์แบบดั้งเดิมที่เริ่มสนใจ GameFi จึงมีความเป็นไปได้ว่าเราจะเห็นกระแสของ CeDeFi (Centralized+Decentralized) มากขึ้นในโลกของคริปโตหลังจากนี้ ซึ่งน่าจะมาช่วยปิดจุดอ่อนของการเป็น Decentralized 100% ลงได้และทำให้เม็ดเงินก้อนใหญ่ไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้และจะเป็นแรงผลักดันสู่ตลาดขาขึ้นในรอบถัดไปก็เป็นได้
บทความโดย : นเรศ เหล่าพรรณราย ซีอีโอ Ricco Wealth,เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย