บทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ Pi มองว่า วันศุกร์ที่ผ่านมาตลาดหุ้น Dow Jones ปรับฐานลง 1.05% จากหน้าข่าวรายงานว่านักลงทุนวิตกกังวลการเปิดเผยข้อมูลจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐฯ จะสนับสนุนให้ FED เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 3.9 แสนตำแหน่งสูงกว่าตลาดประเมินที่ 3.25 แสนตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.6% แย่กว่าตลาดประเมินที่ 3.5% พร้อมกับค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงขยายตัว 0.3%MoM ต่ำกว่าตลาดประเมินที่ 0.4%MoM อย่างไรก็ตาม เรากลับตั้งข้อสังเกตว่าตลาดน่าจะวิตกกังวลกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มากกว่าเพราะหากประเมินแล้วพบว่าตัวเลขการจ้างงานต่ำสุดในรอบ 1 ปี สอดคล้องกับการรายงานตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ในวันพุธที่ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกัน Elon Musk ได้ส่ง EMAIL ถึงผู้บริหาร TESLA ระบุว่าอาจต้องลดพนักงานลงราว 10% เพราะรู้สึกแย่กับภาวะเศรษฐกิจ ด้านราคาน้ำมันดิบ BRT ปิดบวก 1.8% แม้กลุ่ม OPEC+ จะเพิ่มกำลังการผลิตเข้ามา 6.48 แสนบาร์เรล/วัน สูงกว่ากำหนดการเดิม 4.32 แสนบาร์เรล แต่ถึงกระนั้นก็มิส่งผลลบต่อราคาน้ำมัน โดยตลาดให้น้ำหนักกับอุปสงค์จากจีนมากกว่าหลังคลาย Lock Down
สัปดาห์นี้ปัจจัยหลักของตลาด ได้แก่ การรายงานภาวะเงินเฟ้อทั้งไทยและของสหรัฐฯ สำหรับประเทศไทยมีกำหนดรายงานในเช้าวันจันทร์ Bloomberg คาดว่าอัตราเงินเฟ้อประจำเดือน พ.ค. จะขยายตัว 5.9%YoY เรามองว่าภาวะเงินเฟ้อไทยยังมีโอกาสขยายตัวต่อในเดือน มิ.ย. สะท้อนผ่านราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องหลังจากรัฐบาลเริ่มชดเชยในอัตราส่วนที่น้อยลง จึงถือเป็นความเสี่ยงต่อทั้งเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนที่มีโอกาสเพิ่ม Downside Risk ต่อประมาณการ โดยกลุ่มที่ต้องระมัดระวัง ได้แก่ สินค้าฟุ่มเฟือย (COM7 SIS SYNEX) ถัดมาจะเป็นเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในวันศุกร์ Bloomberg ประเมินที่ +8.3%YoY +0.7%MoM ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน +5.9%YoY +0.5%MoM เป็นที่น่าสังเกตว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง MoM ดังนั้นการจะบอกว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านจุดสูงสุดแล้วอาจยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง สุดท้ายจะเป็นการประชุม กนง. ในวันพุธ Bloomberg คาด กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม 0.5% แต่มีจุดน่าสนใจคือมีนักเศรษฐศาสตร์บางท่านเริ่มเห็นว่า กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาที่ 0.75% เชิงกลยุทธ์การลงทุนทยอยลดน้ำหนักการลงทุนเนื่องจากในช่วงถัดไปมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย ส่วนระยะสั้นแนะนำกลุ่มน้ำมัน (PTTEP) กลุ่มที่ผลกระทบจากเงินเฟ้อจำกัด เช่น สื่อสาร (ADVANC INTUCH) ค้าปลีก (BJC CPALL) โรงพยาบาล (BCH CHG) ประเมินกรอบสัปดาห์นี้ 1,625-1,660
PTTEP (ซื้อ/ราคาเป้าหมาย 179 บาท) ได้ปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดิบ BRT WTI ที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง เช้านี้ยังคงปรับขึ้นต่อเนื่องอีก 1.4% แม้ OPEC+ จะปรับขึ้นกำลังการผลิต 50% แต่ยังมิสามารถช่วยให้ราคาน้ำมันปรับลง สะท้อนอุปทานขาด
BCH (ซื้อ/ราคาเป้าหมาย 21.00 บาท) หากไม่รวมรายได้จากเคสโควิด-19 คาดว่ากำไรปี 2022-23 จะก้าวกระโดดขึ้น 2.5 เท่า/1.8 เท่า ตามลำดับ เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 จึงเชื่อว่าธุรกิจหลักยังมีภาพรวมที่ดี