ปี 2563-2564 ในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือว่าเป็นห้วงเวลาทองคำสำหรับวงการคริปโต เนื่องจากการดำเนินธุรกิจ และธุรกรรมแบบปกติทั่วไป ต้องเบรกกิจการลงชั่วคราว ปรับตัวเข้าสู่ New Normal ซึ่งกว่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง ก็ใช้เวลาปรับตัวกันนานกว่าครึ่งปี แต่อุตสาหกรรมคริปโตนั้น อยู่บนโครงข่ายบล็อกเชนมานานแล้ว สามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีข้อแม้ว่าต้องมีอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะแทบทุกพื้นที่ทั่วโลกในปัจจุบันนี้ สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่าย แม้กระทั่งกลางทะเลทราย หรือกลางป่าดงดิบ แค่เพียงสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านสัญญาณดาวเทียม ก็สามารถใช้งานทำธุรกรรมต่างๆด้วยคริปโตได้แล้ว
โดยในปี 2563 จากการที่โลกต้องปรับตัวจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด และความได้เปรียบในการไม่มีข้อจำกัดของคริปโต ทำให้กลายเป็นปีทองของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล มีเศรษฐีเกิดใหม่ขึ้นมามากมาย ท่ามกลางการล่มสลายลงชั่วคราวของตลาดหุ้นทั่วโลก พร้อมๆ กับภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจซบเซาที่เริ่มปะทุก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ในปี 2563 นี้เป็นปีที่นักลงทุนหน้าใหม่ในตลาดใหม่ หรือนักลงทุนหน้าเก่าในตลาดใหม่ เกิดขึ้นมากมาย นักลงทุนตลาดเก่า เช่น หุ้น กองทุน ฯลฯ พักการลงทุนในตลาดเดิม หันมาลงทุนในตลาดคริปโต เพราะให้ผลตอบแทนไว ไม่มีเพดานขั้นต่ำ ไม่มีซิลลิ่ง ไม่มีฟลอร์ โอกาสสร้างกำไรจากความผันผวนมีมาก ไม่ต่างจากหุ้น และที่สำคัญลงทุนได้ตลอด 24 ชั่วโมงตลอดทั้ง 7 วัน ขณะที่นักลงทุนหน้าใหม่ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด โดยเพียงปีเดียว ยอดเปิดบัญชีนักลงทุนคริปโตรวมกัน เทียบเท่ากับบัญชีนักลงทุนหุ้นในตลาดเดิม และทุบสถิตินักลงทุนคริปโต มากกว่ายอดบัญชีนักลงทุนหุ้นในปี 2564 ขณะที่มูลค่าตลาดรวมของสกุลเงินดิจิทัลในปี 2563 เพิ่มขึ้นประมาณ 300% YoY เป็น 758 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ในช่วงปี 2563 จากการจุดพลุตื่นคริปโต ไม่ต่างจากยุคตื่นทองเมื่อร้อยปีก่อน แต่เป็นทองคำดิจิทัล มีเหรียญต้นน้ำเกิดขึ้นมากมาย เป็นตัวเลือกให้นักลงทุนได้ช้อปปิ้งเก็บเข้าพอร์ต เนื่องจากราคาถูก และมีโอกาสกลายเป็นเศรษฐีในชั่วพริบตา และกลายเป็นปีแห่งการ "ป้ายกาว" ให้นักลงทุนหน้าใหม่แห่เข้ามาเก็งกำไร โดยไม่สนสีสนแปดหรือคำเตือนใดๆ ว่าจะมีปัจจัยพื้นฐาน ขอเพียงคาดหวังว่าเหรียญที่เข้าเก็บไว้ในพอร์ตนั้นจะพุ่ง To The Moon ทะลุฟ้า ข้ามจักรวาล หลุดพ้นความยากจน กลายเป็นมหาเศรษฐี เซเลบ ไฮโซ ในวงสังคมชั้นสูงเข้าสักวัน ซึ่งมีนักลงทุนไม่น้อยที่สามารถลืมตาอ้าปาก ทำกำไรมากกว่านักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานับ 10 ปีได้หลายคนเช่นกัน แต่ก็มีไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ แชร์ลูกโซ่ลงทุนคริปโต มีข่าวให้น่าเวทนาสงสารโดนหลอกให้ลงทุนคริปโตอยู่ทุกสัปดาห์ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นการลงทุนในหุ้น กองทุน อนุพันธ์ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนยังต้องระวัง จึงถอนเงินเอาไปไว้ยังหลุมหลบภัย ซึ่งแจ็กพ็อตมาลงที่เหรียญคริปโต แทนที่จะเป็นทองคำในรูปแบบเดิมๆ จากความขึ้นหม้อยอดนิยมของการลงทุนคริปโต ก็ลากยาวต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 แม้ว่าจะมีความผันผวนเป็นบางช่วง โดยเฉพาะ BTC ซึ่งผันผวนแรงจนหลุดต่ำกว่า 1 ล้านบาท แต่ก็ฟื้นกลับขึ้นมายืนเหนือ 2 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 4 ปลายปี 2564 ได้ แม้ว่าจะมีคำทำนายจากหลายสำนักพยากรณ์ว่าราคา BTC จะพุ่งแตะ 100,000 เหรียญสหรัฐต่อเหรียญบิทคอยน์ แต่ทำสถิติได้เพียง 67,500 ดอลล่าร์ต่อเหรียญบิทคอยน์
นอกจากนี้ กระแสความนิยมในคริปโต ยังต่อยอดไปสู่การลงทุนใหม่ๆ ในโครงข่ายบล็อกเชนอีกมากมายในปี 2564 นี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนแบบ play to earn การเล่นกิจกรรมแล้วได้ค่าตอบแทนเป็นเหรียญคริปโต หรือ exercise to earn การออกกำลังกายแล้วได้ค่าตอบแทนเป็นเหรียญคริปโต แม้แต่ sex to earn การมีกิจกรรมทางเพศก็สามารถนำมาสร้างเป็นค่าตอบแทนในรูปของคริปโตโทเค่นได้ ซึ่งจะมีมูลค่าสมค่าเหนื่อยหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับ "แรงกาว" ในการปั่นดันราคาของนักลงทุนผู้ถือเหรียญ และ กระดานเทรดในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด
นอกจากนี้ยังมีการลงทุนประเภท DAO ที่เป็นระบบที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุน ส่งเงินจากที่ไหนก็ได้ในโลก โดยที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน หลังจากนั้นระบบดังกล่าวก็จะทำการกระจาย Token ให้กับเจ้าของ ซึ่งก็จะทำให้ผู้ใช้งานเจ้าของบัญชีสามารถที่จะมีสิทธิลงคะแนนในโครงการที่เป็นไปได้ หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์เสมือนที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือ Non-Fungible Token หรือเรียกกันสั้นๆว่า NFT
โดยในปี 2564 กลายเป็นปีแจ้งเกิดของ NFT ในบ้านเรา หลาย ๆ คนหันมาทำ NFT หรือเก็งกำไรการซื้อขาย NFT จากกระแสความร้อนแรงในต่างประเทศ เช่นช่วงที่มีการระบาดจากไวรัสโควิด 19 เจ้าหนู่ Benyamin Ahmed เด็กชายอายุ 12 ปี จากทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สร้างภาพงานศิลปะดิจิทัลและขายเป็น NFT ในชุดซีรี่ส์ 'Weird Whales' ในช่วงปิดเทอมและขายทางออนไลน์ ซึ่งได้รับเงินจำนวนกว่า 290,000 ปอนด์ หรือประมาณ 12 ล้านบาท ในเวลาเพียง 9 ชั่วโมง หลังจดทะเบียน ซึ่งความนิยมที่เกิดขึ้นต่อตลาดคริปโต โดยเฉพาะ NFT ผลักดันทำให้หลายห้างร้านธุรกิจในประเทศไทยจัดอีเวนต์ใหญ่ในระดับวาระแห่งชาติขึ้น จนกลายเป็นกระแสค่านิยม "ของที่ต้องมี" ให้กับทั้งนักลงทุน และประชาชนคนเดินถนนทั่วไป ต้องไปดิ้นรนขวนขวายแสวงหาเอา NFT มาครอบครอง ซึ่งหวังว่ามันจะเพิ่มมูลค่าขึ้นมา ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต
ปรากฏการณ์ "เห่อ" NFT ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ต่างอะไรกับโรคระบาด ทั้งผู้ประกอบการเอง หรือแม้กระทั้งประชาชน เหมือนขุมทรัพย์ Air Drop ที่ลอยมาในอากาศ เปรียบเหมือนการโปรยทานหน้าโบสถ์ หน้าเมรุ ของผู้จัดงานอีเวนต์ ที่ฉาย QR CODE หน้างานซึ่งสุ่มแจก NFT ในรูปแบบต่างๆ
พนักงานกระดานเทรดแห่งหนึ่ง ให้ข้อมูลนิยามความหมายของ "NFT เกลือ" ในงาน MONEY EXPO ว่า " NFT เกลือ นั้น โดยแท้จริงแล้วไม่ได้มีค่าอะไร เป็นเพียงของที่ระลึกที่ผู้จัดงานสร้างขึ้นในรูปแบบ NFT ซึ่งจะว่าไปง่ายๆ จำนวน NFT เกลือนั้นโดยเฉลี่ยมีจำนวนมากถึง 99% จาก NFT ที่ Air Drop ทั้งหมดของกิจกรรมอีเวนต์นั้นๆ ซึ่ง "มันไม่มีมูลค่า เพราะไม่สามารถกำหนดมูลค่าได้" ต่างจาก NFT ที่มีมูลค่า เพราะมันจะถูกกำหนดมูลค่าเริ่มต้น มาตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ว่าจะนำมาซื้อขายโดยตรง หรือนำมาประมูลตามกติกาหลักเกณฑ์ที่ตลาดการประมูลนั้นๆ กำหนดไว้ก็ตาม สมมุติว่าจัดงานกิจกรรมนี้ มี NFT ทั้งหมดที่มีมูลค่า จำนวน 1,000 ชิ้น แต่มี NFT เกลือ เป็นจำนวนที่ไม่จำกัด เพื่อแจก Air Drop ให้กับผู้ร่วมงาน ซึ่ง NFT ที่มีมูลค่า ผู้สร้างอาจเก็บไว้เก็งกำไรในอนาคตภายหลังก็ได้ หรือนำมาสุ่มแจกกระจายไปพร้อมกับ Air Drop ก็ได้ หรืออาจมีหน้าม้าที่ได้รับ NFT ไปแล้วโดยไม่ต้อง Air Drop จากกิจกรรม NFT ที่จัดขึ้นนี้ เพราะการกำหนดฉันทามติ เป็นการกำหนดของผู้ที่เป็น node validator ซึ่งผู้สร้างสามารถกำหนดเงื่อนไขในโหนดนั้นเองได้อยู่แล้ว จะว่าไปตามความเป็นจริง เหรียญ 1 สลึงอาจมีค่ามากกว่า NFT เกลือเหล่านี้เสียอีกด้วยซ้ำ"
และหากจะว่าไป กระแส "NFT เกลือ" นี้จะถูกนำมาเป็นเครื่องมือของบริษัท ห้างร้าน กระดานเทรด ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคริปโต สินทรัพย์ดิจิทัล หรือดิจิทัลโทเคนต่างๆมากมายเพิ่มขึ้นทุกวัน เนื่องจากมีการลงทุนน้อย หากเทียบกับการใช้งบโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการตลาดแบบเดิม ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรบุคคล กำลังเงินในการส่งเสริมการตลาดมากกว่า การอัดฉีดโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาด ลด แลก แจก แถม จากรูปแบบเดิมที่นำสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ เช่นบ้าน รถ ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งของที่มีมูลค่ามาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายการตลาด แต่ปรับเปลี่ยนใหม่ด้วยการลดต้นทุน เซฟคอสค่าใช้จ่ายลงด้วยการ "เสก NFT เกลือ" ขึ้นมาเป็นเครื่องมือทางการส่งเสริมการขายแทนด้วยงบประมาณที่น้อยกว่า
แล้วอนาคต NFT เกลือแบบนี้ จะเป็นเช่นไร.....หากมองลึกเข้าไปในโครงข่ายบล็อกเชน การสร้าง NFT ง่ายดาย โดยบางตลาดเช่น OpenSea ไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว แค่ผู้สร้างมี Crypto Wallet ที่เชื่อมโยงเครือข่ายเชนที่ใช้เช่น Ethereum หรือ Polygon Chain , Binance Chain โดยพิจารณาจากค่าธรรมเนียมของการโอนถ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นหลัก ซึ่งตลาด NFT ที่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุดคือ OpenSea มีจำนวนธุรกรรมรวมถึง 14.7 พันล้านดอลลาร์ โดยมีจำนวน NFT ที่ทำการซื้อขายกันในตลาด OpenSea ของเดือนมกราคม 2565 มากถึง 2.4 ล้านชิ้น แต่ถ้าหากพิจารณาจำนวนผู้ใช้จะพบว่า ตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือ Axie Infinity ที่มีจำนวนผู้ใช้ 1.6 ล้านราย ขณะที่มูลค่าธุรกรรมของตลาด OpenSea ในเดือนมกราคมปี 2565 เพิ่มขึ้นมาถึง 4.8 พันล้านดอลลาร์ หากเทียบกับเดือนมกราคมปี 2564 ซึ่งมีมูลค่าเพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
ขณะที่แนวโน้มอนาคต มูลค่าของตลาด NFT จะมีขนาดเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ แต่สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มขึ้นมาคือปริมาณการใช้ข้อมูล และพื้นที่จัดเก็บที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนของ NFT ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในความเป็นจริง "NFT กว่า 90% ในโลกนี้ เป็น NFT เกลือที่ไม่มีมูลค่าใดๆ" ลองคิดถึงปริมาณความต้องการใช้พื้นที่ทรัพยากรในระบบบล็อกเชน ในการกระจายข้อมูลที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการใช้ข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่มากขึ้น การประมวลผลที่เพิ่มขึ้น การใช้พลังงานจะมีปริมาณที่มากขึ้นตามไปด้วย แม้แต่ OpenSea เจ้าตลาดแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนหลัก ยังออกมายอมรับว่า ในเดือนมกราคมมากกว่า 80% ของ NFT ที่สร้างขึ้นด้วยเครื่องมือฟรีนั้นเป็นการโกง ส่วนใหญ่เป็นสำเนา NFT อื่นๆ หรืองานศิลปะที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นการก๊อบปี้โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่นเดียวกันกับ LookRare ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน NFT ได้พบว่าการทำธุรกรรมมากถึง 95% บนแพลตฟอร์มนั้นเป็น NFT ของปลอม
ขณะที่ประเทศไทย แม้ว่าทางหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต. จะมีการออกมาตรการในการกำหนดด้วยการออกประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 18/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ห้ามศูนย์ซื้อขายให้บริการ “Utility Token พร้อมใช้” หรือคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ มาซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย
(1) ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับโดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล (Meme Token)
(2) เกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล (Fan Token)
(3) โทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่เฉพาะเจาะจง โดยไม่สามารถใช้โทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้ (Non-Fungible Token : NFT)
(4) โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายเองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายเพื่อวัตถุประสงค์ ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน (blockchain)
แต่ก็ยังมีบางกระดานเทรด ที่เลี่ยงบาลีในการตีความกฏหมายข้อบังคับ สร้าง NFT เกลือ ขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาด โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งประชาชนผู้ใช้ หรือระบบนิเวศของคริปโต ที่จะกลายเป็นการสร้างกาฝากดิจิทัลในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะกลายเป็นขยะที่ทำลายทรัพยากรโลกในอนาคต ผ่านทางระบบบล็อกเชน ด้วยการใช้ "NFT เกลือ" เป็นกับดักการตลาดที่ใช้ล่อเหยื่อล่อแมลงเม่าให้เข้ามาติดกับ