xs
xsm
sm
md
lg

สงครามยื้อ-วิกฤตเศรษฐกิจ หนุนนักลงทุนเก็บ “ทอง” ป้องเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาทองคำพุ่งสูง เหตุความตึงเครียดทางการเมือง ส่งผลให้ความต้องการทองคำในกลุ่มนักลงทุนเพิ่มสูง ขณะผู้บริโภคเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพทั่วโลก จึงระมัดระวังในการใช้เงิน ทำให้ความต้องการซื้อเครื่องประดับหยุดชะงัก ขณะดีมานด์ผู้บริโภคในไทยลดลง 54% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่ 64 เพราะส่วนใหญ่ขายทองทำกำไร เหตุคนไทยอ่อนไหวต่อราคา เลือกขายออกเมื่อราคาถึงเป้าที่ตั้งไว้ อีกทั้งการลงทุนใน Paper Gold ด้าน วายแอลจีฯ มองสัญญาณซื้อทองฟื้นคาดเฟดใช้ยาแรงแค่ระยะสั้น ปลายปีอาจชะลอขึ้นดอกเบี้ย คาดแนวโน้มการเคลื่อนไหวราคาทองคำมองปีนี้ระยะยาวยังทรงตัวสูง ระยะสั้น มองสร้างฐานโซนแนวรับ 1,847-1,836 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แนวต้าน 1,869-1,909 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะทองคำในประเทศคาดเคลื่อนไหวในกรอบ 29,650- 30,850 บาทต่อบาททองคำ

เมื่อปี 2564 หลังจากราคาทองคำขยับลงสู่จุดต่ำสุดของปี และในเดือนมีนาคมที่ลดสู่ระดับไม่ถึง 1,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่จากความกังวลของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาทองคำไม่นิ่ง เพราะหากภาพรวมเศรษฐกิจยังซึมเซาและมีหลายเหตุการณ์รุมเร้าจะส่งผลดีต่อราคาทองคำ ขณะที่การเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย กลายเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำขยับขึ้นได้ ทั้งนี้ มีผลประเมินของสภาทองคำโลก (WGC) ถึงความคาดหวังของโลหะมีค่าในปี 2564 ที่ได้เผยถึงทิศทางของราคาภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปกล่าวคือ กรณีที่โควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ สามารถครอบงำการป้องกันของวัคซีนและหยุดยั้งการเติบโตของเศรษฐกิจได้ จะทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 11.4 แต่ถ้าการฟื้นตัวเป็นไปอย่างระมัดระวังการไต่ระดับขึ้นของทองคำก็จะอยู่ที่ร้อยละ 7.7 ขณะที่หากมีการฟื้นตัวเป็นไปอย่างไหลลื่นจากที่ภัยคุกคามของเชื้อไวรัสเริ่มเบาบางลงไป จะทำให้ราคาของทองคำขยับขึ้นไปได้ร้อยละ 6.4 และหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ที่กำลังร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อจะทำให้ทองคำไปต่อได้เพียงร้อยละ 4.4

อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปี 2565 นักวิเคราะห์คาดว่าราคาทองจะยังคงพุ่งขึ้นต่อไป เพราะสถานการณ์ในยูเครนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่งผลให้ตลาดทองคำทั่วโลกเปิดตัวเข้าสู่ศักราชใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเพราะความต้องการของผู้บริโภคในไตรมาสแรก (ไม่รวมการซื้อขายแบบไม่เป็นทางการ หรือ OTC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลจากกระแสเงินทุนที่แข็งแกร่งในกองทุนรวมดัชนี (ETF) ชี้ให้เห็นถึงสถานะทองคำที่เป็นผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่มีความปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจผันผวน

ขณะที่ความต้องการซื้อทองคำของผู้บริโภคในประเทศไทยลดลงจาก 8.3 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2564 ไปอยู่ที่ 3.8 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งนับว่าลดลงถึงร้อยละ 54

ทั้งนี้ การลดลงโดยรวมเกิดจากการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญที่ลดลงร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จาก 6.2 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2564 ไปอยู่ที่ 1.6 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2565 แต่ในขณะเดียวกัน ความต้องการซื้อเครื่องประดับในกลุ่มผู้บริโภคขยับเพิ่มมากขึ้นที่ร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จาก 2.0 ตันในไตรมาสแรกของปี 2564 ไปเป็น 2.2 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2565

สำหรับผู้บริโภคในประเทศไทยมีแนวโน้มอ่อนไหวต่อราคา และด้วยราคาขายภายในประเทศที่สูง นักลงทุนจำนวนมากจึงเลือกขายทำกำไรเมื่อราคาถึงเป้าที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทองคำในประเทศไทยยังคงเผชิญกับคู่แข่งสำคัญอย่างการลงทุนแบบไม่ต้องถือครองผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกว่า Paper Gold


นายแอนดรูว์ เนย์เลอร์ ผู้บริหารประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีน) สภาทองคำโลก กล่าวว่า “แม้ความต้องการซื้อเครื่องประดับตอนนี้ยังไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด แต่การกลับมาเปิดประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวส่งผลให้ความต้องการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงชะลอการซื้อสินค้าราคาสูงอย่างทองคำไว้ก่อนและเลือกที่จะขายทำกำไรจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ วิกฤตการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกและกระตุ้นความสนใจของนักลงทุน ดันราคาทองคำไปอยู่ที่ 2,070 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในช่วงเวลาสั้นๆ ในเดือนมีนาคม ซึ่งนับว่าต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลจากรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำ (Gold Demand Trends Report) ฉบับล่าสุดของสภาทองคำโลกเผยว่า การลงทุนในกองทุนรวมทองคำ (Gold ETF) มีเงินทุนไหลเข้ารายไตรมาสสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ที่ 269 ตัน มากกว่าเงินทุนไหลออกสุทธิรายปีซึ่งอยู่ที่ 173 ตันในปี 2564 โดยได้แรงหนุนส่วนหนึ่งจากราคาทองคำที่สูงขึ้น


ขณะเดียวกัน ความต้องการซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองคำปรับสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 11 หรือ 282 ตัน แต่การที่จีนประกาศปิดประเทศอีกครั้งและราคาทองที่สูงในตุรกีล้วนมีส่วนทำให้ความต้องการซื้อทองลดลงกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับความต้องการซื้อที่สูงอย่างยิ่งในไตรมาสแรกของปี 2564

สำหรับในภาคส่วนอัญมณี ความต้องการซื้อทองคำทั่วโลกลดลงเหลือ 474 ตัน คิดเป็นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ที่ลดลงในจีนและอินเดีย และแม้ว่าตลาดอัญมณีในประเทศจีนจะคึกคักช่วงเทศกาตรุษจีน แต่ภาคส่วนนี้กลับซบเซาลงภายหลังจากการระบาดของโควิดในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ที่นำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ภายใต้ข้อปฏิบัติตามนโยบายเฝ้าระวังโควิดที่เคร่งครัดของจีน

ขณะที่ในฝั่งของประเทศอินเดียนั้นได้ลดการจัดงานแต่งงานและงานเฉลิมฉลองในวันมงคลต่างๆ ในไตรมาสแรก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการซื้อทองคำในประเทศ ประกอบกับราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอินเดียจำนวนมากชะลอการซื้อทองคำ

สำหรับความต้องการทองคำในด้านเทคโนโลยีแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ 82 ตัน คิดเป็นร้อยละ 1 ในไตรมาสแรกของปี 2564 แม้ว่าภาคธุรกิจดังกล่าวมีการเติบโตพอประมาณ แต่พบว่ายังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญเนื่องจากศูนย์กลางทางการเงินและอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้อิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนั้น ทางด้านการซื้อสุทธิของธนาคารกลางมีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีทองคำสำรองอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นมากกว่า 84 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่ในภาคส่วนนี้คือประเทศอียิปต์และตุรกี แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะต่ำกว่าไตรมาสแรกของปี 2564 ถึงร้อยละ 29 แต่ธนาคารกลางยังคงให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของทองคำในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ และอุปทานของทองคำทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากการทำเหมืองอย่างแข็งขันจนทองแตะระดับ 856 ตัน รวมถึงการรีไซเคิลทองคำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีที่แล้ว ซึ่งแตะระดับ 310 ตัน ตอบรับกับราคาทองคำที่สูงขึ้น


Louise Street นักวิเคราะห์อาวุโสประจำยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ของสภาทองคำโลก ให้ความเห็นว่า “ในไตรมาสแรกของปี 2565 เป็นช่วงแห่งความผันผวน ทั้งวิกฤตการณ์ทางการเมือง อุปสรรคในห่วงโซ่การผลิต และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เหตุการณ์และสภาวะตลาดทั่วโลกเหล่านี้ทำให้ทองคำมีสถานะที่แข็งแกร่งขึ้นเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่สำหรับนักลงทุนเท่านั้น แต่ยังปลอดภัยสำหรับผู้บริโภครายย่อย ในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ลงทุนชนิดที่เหมาะสำหรับนักลงทุนทั้งสองประเภท

“จากการเปลี่ยนแปลงของตลาดในปัจจุบันคาดการณ์ได้ว่า ความต้องการลงทุนจะยังคงมีมาก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูงและความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความต้องการทองคำในกลุ่มนักลงทุน แต่ในทางกลับกัน ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพทั่วโลก ซึ่งหมายความว่า ผู้บริโภคจะระมัดระวังในการใช้เงิน แม้ว่าความต้องการของผู้บริโภคจะฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ความต้องการซื้อเครื่องประดับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจหยุดชะงักด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป” Louise Street กล่าว


YLG มองสัญญาณซื้อทองฟื้นคำ เฟดใช้ยาแรงระยะสั้น

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณซื้อทองคำกลับเข้าพอร์ตในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย แม้ว่าช่วงก่อนหน้านั้นจะมีการเคลื่อนไหวแกว่งตัวตามภาวะลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อีกทั้งก่อนหน้านี้ราคาทองได้ปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดแรงขายทำกำไรออกมา อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายเดือนพฤษภาคมเริ่มมีสัญญาณซื้อเข้ามาทั้งฝั่งนักลงทุนทั่วไป และฝั่งสถาบัน เช่น กองทุน SPDR เริ่มกลับเข้ามาซื้อทองคำ หลังจากที่ทำการขายออกในเดือนเมษายน

ทั้งนี้ ราคาทองคำที่มีสัญญาณฟื้นตัวแม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ที่เฟดมีสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง แต่นักลงทุนยังคาดอีกว่าหลังจากนั้น ในเดือนกันยายนเป็นต้นไป เฟดอาจจะลดความร้อนแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบรุนแรงต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อภาระเงินกู้ของสหรัฐฯ ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สามารถทำได้ไม่อาจสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในปัจจุบันให้ปรับลดลงมาในระดับที่ต้องการได้ ดังนั้น นักลงทุนจึงมีความกังวลและยังให้น้ำหนักการลงทุนกับทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับคำแนะนำนักลงทุนในช่วงนี้ มองว่าราคาทองคำมีโอกาสเคลื่อนไหวไปที่แนวต้าน 1,869 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากผ่านได้จะไปที่แนวต้านถัดไปที่ 1,909 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนแนวรับมองที่ 1,847 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวรับถัดไปที่ 1,836 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สำหรับทองคำในประเทศมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 29,650-30,850 บาทต่อบาททองคำ

“วายแอลจีมองว่าปีนี้ราคาทองคำจะยังทรงตัวในระดับสูงเช่นปีที่แล้ว แม้ว่าระหว่างทางจะมีการปรับฐานเพื่อทำกำไร แต่ปัจจัยสนับสนุนที่ยังคงมีอยู่โดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ จะทำให้ปีนี้ทองคำยังทรงตัวในระดับสูงต่อไป

อย่างไรก็ดี วายแอลจีคงคำแนะนำให้นักลงทุนมีทองคำในพอร์ตลงทุนที่ 5-15% ของพอร์ต โดยนักลงทุนที่สนใจลงทุนในทองคำกับวายแอลจี สามารถลงทุนได้ทั้งในรูปแบบของเงินบาท และลงทุนรูปแบบของสกุลเงินต่างประเทศแอปพลิเคชัน YLG Gold Investment แอปพลิเคชันซื้อขายทองคำออนไลน์ได้ถึง 5 สกุลเงิน ทั้งดอลลาร์สหรัฐ หยวน ดอลลาร์สิงคโปร์ ยูโร และบาท ยังคงเปิดให้บริการตามปกติไม่มีวันหยุดเช่นกัน เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนสามารถทำกำไรได้อย่างไม่สะดุด สนใจลงทุนกับวายแอลจี คลิก www.ylgbullion.co.th 


กำลังโหลดความคิดเห็น