มหากาพย์คดีพิพาทหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่ จุดเริ่มมาจาก นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ถูกดำเนินคดี 112 แล้วหลบหนีไปยังต่างประเทศทำให้เขาตัดสินใจขายหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่ที่ถืออยู่ทั้งหมด 59.46% ออกมาเมื่อปี 2558 โดยขณะนั้นมีตระกูลณรงค์เดชสนใจขอซื้อโดยมอบหมายให้ ณพ ณรงค์เดช เจรจาแทนครอบครัว
ทว่า ในการเจรจาซื้อขาย รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการโอนหุ้นที่ซื้อจากกลุ่มบริษัทของ นพพร ณพ กลับไม่แจ้งให้ครอบครัวได้ทราบ เขาแจ้งเพียงว่า ทุกอย่างอยู่ระหว่างดําเนินการ “ไม่มีปัญหา ไม่ต้องเป็นห่วง” กระทั่งต่อมา เมื่อ นพพร ฟ้อง ณพ พ่วงสมาชิกครอบครัวติดร่างแหไปด้วย จึงมารู้กันว่า ธุรกรรมนี้ไม่ปกติ และมีปัญหาชำระหนี้ค่าหุ้นไม่ครบอีกต่างหาก
กล่าวได้ว่า การซื้อขายเปลี่ยนมือจากนพพร มาสู่ ณพ หากดำเนินไปแบบตรงไปตรงมา ทำตามที่ตกลงกับครอบครัวก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่พอการดำเนินการอย่างมีวาระซ่อนเร้นจึงเป็นปมประเด็นนำไปสู่การพิพาทฟ้องคดี พร้อมกันกลับกลายเป็นชนวนขัดแย้งภายในครอบครัวณรงค์เดช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตรวจพบตามมาว่า ในกระบวนการซื้อขายถ่ายโอนหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่จากกลุ่มบริษัทนพพร มาสู่บริษัทส่วนตัวของณพ และโอนเป็นทอดๆ ไปจนถึงแม่ยาย คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา มีชื่อของ เกษม ณรงค์เดช ผู้เป็นบิดาเข้าไปอยู่ในนิติกรรมโดยที่เจ้าตัวไม่ได้รับรู้ โดยมีทั้งปลอมลายมือชื่อและใช้เอกสารปลอม!
เกษมฟ้องถูกปลอมลายเซ็น
มีรายงานว่า ภายหลังที่ถูกกลุ่มบริษัทนพพรฟ้องคดี ครอบครัวณรงค์เดช ได้ตรวจสอบเส้นทางการซื้อขาย และโอนหุ้น วินด์เอนเนอร์ยี่ พบว่า ณพ ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงใน บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จํากัด ที่เดิมระบุว่า เกษมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยนําเอกสารที่ “ปลอม”ลายมือชื่อเกษมมาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น จากเกษมไปเป็น “คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา” ภรรยาของ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจ แม่ยายของณพ เข้ามาเป็นผู้มีชื่อถือหุ้นใหญ่ใน GML แทนเกษม เพื่อให้เข้ามามีสิทธิใช้สอยจําหน่ายจ่ายโอนและได้ซึ่งดอกผลจากหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่แทนเกษมและครอบครัว ซึ่งเกษมและบุตรชายคนโต กฤษณ์ และกรณ์ น้องคนเล็ก ไม่ได้ทราบหรือรู้เห็นยินยอมแต่อย่างใด
เกษมจึงปรึกษาทนายความและดําเนินการตามคําแนะนําของทนายความ โดย ฟ้อง โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด, ณพ และคุณหญิงกอแก้ว แม่ยาย ต่อศาลอาญาด้วยตนเองเป็นคดีหมายเลขดําที่ อ.2497/2561หมายเลขแดงที่ อ.3518/2561 ในข้อหาใช้เอกสารปลอม รวมทั้งฟ้องคดีแพ่งต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีหมายเลขดําที่ พ.1031/2562 เพื่อเรียกคืนหุ้น WEH ทั้งหมด และ เกษมยังได้แจ้งความร้องทุกข์ ณพ และ คุณหญิงกอแก้วต่อ สน. ทองหล่อ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 และ แจ้งความร้องทุกข์เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ข้อหาปลอมลายมือชื่อและใช้เอกสารปลอม
สองหน่วยงานรัฐยืนยันลายเซ็นปลอม
ว่ากันว่า ในการสอบสวนเพื่อพิสูจน์ในเรื่องนี้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ตรวจพบการปลอม และ ใช้เอกสารปลอมในเอกสารสำคัญ คือ สัญญาแต่งตั้งตัวแทน, ตราสารการโอนหุ้น, ใบสำคัญการซื้อขายหุ้น, สัญญาซื้อขายหุ้นใน บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่โฮลดิ้ง จำกัด แล้วนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ตามสถานที่ต่างๆ เป็นเหตุให้เกษมได้รับความเสียหาย
พนักงานสอบสวน จึงได้ส่งเอกสารไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของเกษมในเอกสารดังกล่าวว่าเป็นลายมือชื่อของเกษมจริงหรือปลอม
ต่อมา กองพิสูจน์หลักฐานตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า ลายมือชื่อของเกษมในเอกสาร นั้นเป็นลายมือชื่อปลอม ไม่ใช่ลายมือชื่อของเกษม ขณะที่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่ก็ยืนยันผลการพิสูจน์เช่นเดียวกัน
ดังนั้น วันที่ 4 มิ.ย.2564 อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งเด็ดขาดฟ้องคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา และพวก ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม สืบเนื่องมาจากการปลอมลายมือชื่อ หรือ ลายเซ็น ของเกษม ณรงค์เดช ในเอกสารหลายฉบับ และ ได้นำเอกสารปลอมเหล่านี้ไปใช้ในการโอนหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ มาเป็นของตนเองและพวก
โดยคำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดในครั้งนี้ สอดคล้องกับผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งหน่วยงานรัฐทั้งสองได้ชี้ชัดว่า เอกสารต่างๆ (ที่มีลายเซ็นของเกษมฯ เป็นผู้โอนหุ้น และคุณหญิงกอแก้วฯ เป็นผู้รับโอนหุ้น เพื่อใช้ประกอบในการโอนหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ของคุณหญิงกอแก้วฯ ทั้งหมดนั้น เป็นการปลอมลายมือชื่อของเกษม ณรงค์เดช ทั้งสิ้น
ปัจจุบันพนักงานอัยการได้ฟ้อง ณพ, คุณหญิงกอแก้ว และ บุคคลที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดําที่ อ.1708/2564 ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม และปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้
ศึกสองตระกูล
การใช้ชื่อเกษม ปลอมลายเซ็นนี้เป็นเรื่องที่ เกษม และ ครอบครัว ณรงค์เดช ยอมรับไม่ได้จนครอบครัวณรงค์เดชต้องออก “แถลงการณ์ของครอบครัว” เผยแพร่ต่อสื่อระบุถึง ณพ ว่า “การดำเนินการใดๆ ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ไปของณพ ทางครอบครัวณรงค์เดช จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และ หากมีการนำชื่อของกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น หรือ ครอบครัวไปใช้ ขอให้ทราบว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแอบอ้าง และ จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด”
โดยเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2561 เกษม ณรงค์เดช พร้อม บุตรชาย กฤษณ์-กรณ์ ณรงค์เดช เปิดบ้านแถลงข่าวถึงปมขัดแย้ง ระหว่างครอบครัวกับ ณพ กรณี การซื้อขายหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่ ว่าด้วย เรื่องคดีความการฟ้องร้องในข้อหา “ปลอมแปลงลายเซ็นในการโอนหุ้นวินด์” ที่ ณพ เคยมาขอให้ครอบครัวให้ร่วมลงทุนในธุรกิจพลังงาน แต่ปรากฏว่า ทางครอบครัวกลับพบเอกสาร “ที่มีการปลอมแปลงลายเซ็นของ เกษม” มอบอำนาจและโอนหุ้นที่ถือครองอยู่ใน วินด์ เอนเนอร์ยี่ ไปให้กับแม่ยายของ ณพ คือ คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่าง ณพ ณรงค์เดช และ สุรัตน์ จิรจรัสพร ซึ่งอ้างว่า บิดาเกษมนั้นเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในสถานะไม่สมบูรณ์พร้อม และไม่สามารถควบคุมดูแลกิจการต่อไปได้
ในการแถลงข่าวครั้งนั้น เกษมกล่าวว่า ที่ผ่านมามีข่าวที่เกี่ยวกับตนและครอบครัวหลายอย่างคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก ทำให้ชื่อเสียงครอบครัวเสียหาย ไม่เพียงแต่ความเสียหายต่อตระกูล และชื่อเสียงธุรกิจของเราที่ทำธุรกิจมานาน 40-50 ปี มีบริษัทในเครือกว่า 40 บริษัทเสียหายเท่านั้น ยังพาดพิงถึงบุคคลอื่น รวมทั้งผู้ถือหุ้นให้ได้รับความเสียหายไปด้วย ส่วนตัวปีนี้อายุ 83 ปีแล้ว ยังดูแลตัวเองให้มีความแข็งแรง ออกกำลังกายทุกเช้า เพื่ออยู่ดูแลลูกหลานไปนานๆ และช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจที่ได้ยกให้รุ่นลูกเข้ามาดูแล ผมยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ใช่เป็นบุคคลที่ไม่รู้เรื่อง หลงลืม หรือเป็นอัลไซเมอร์ ตามที่มีคนพยายามกล่าวหา
เมื่อกล่าวถึงช่วงนี้ เกษม ได้นำใบรับรองผลการตรวจสุขภาพ จากโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่เป็นผลการตรวจลงวันที่ 13 พ.ย.61 ออกมาแสดง โดยระบุว่า ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการประเมินสุขภาพจิตเพื่อประกอบการทำพินัยกรรม โดยผลการวินิจฉัยระบุว่า “อยู่ในเกณฑ์ปกติที่สามารถทำนิติกรรมได้ตามความประสงค์ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติวิสัย สามารถเขียนลายมือชื่อได้ตามปกติ”
“ลายเซ็นการโอนหุ้นให้แก่คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา นั้นก็ได้รับการพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกาแล้วว่า เป็นหลักฐานปลอมที่ ณพ ร่วมกันสร้างขึ้นทั้งสิ้น” ครอบครัวระบุ
คุณหญิกอแก้ว-หุ้นวินด์ฯ ของต้องมี?
จากคดีปลอมลายเซ็นของเกษม ถือเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง เพราะไม่เพียงเป็นเรื่องเงื่อนงำการทำธุรกรรมธุรกิจที่มีมูลค่ากว่า 24,000 ล้าน แล้วยังเป็นเรื่องของ “ตระกูลณรงค์เดช” ที่ถือเป็นตระกูลใหญ่ในวงการธุรกิจยานยนต์มีชื่อเสียงในระดับตำนานของประเทศ คำถามที่สังคมสงสัยว่า เพราะด้วยเหตุใด ณพ จึงเห็น “แม่ยาย” ดีกว่า พ่อ และพี่น้อง ณรงค์เดช
ณพ นั้น แต่งงานกับ “ดาว” น.ส.พอฤทัย บุณยะจินดา บุตรสาวคนโตของ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ คุณหญิงกอแก้ว ทำให้สองตระกูลกลายเป็นทองแผ่นเดียวกัน ตอนนั้นหลายฝ่ายมองว่า นอกจากความเหมาะสมราวกิ่งทองใบหยกแล้ว เมื่อเปรียบเทียบชื่อชั้นของตระกูล ฝ่ายหนึ่งมีกิจการระดับประเทศ ส่วนครอบครัว“บุณยะจินดา” แม้ พล.ต.อ.พจน์ จะเกษียณฯมาแล้วแต่บารมียังเป็นที่ยอมรับในหมู่ข้าราชการทั้งแวดวงทหาร ตำรวจและตุลาการจึงนับว่าเกื้อกูลกันได้
แต่แล้วทุกอย่างก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ว่ากันว่า คดีปลอมลายเซ็นเพื่อโอนหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่จากที่ควรเป็นของครอบครัวณรงค์เดช กลายเป็นความบาดหมางและความเจ็บปวดครั้งใหญ่ของคนในตระกูลณรงค์เดช ซึ่งมูลค่าความเสียหายแม้จะมากมายมหาศาล แต่ก็ไม่อาจจะเทียบเท่าความสัมพันธ์ทาง“สายเลือด” ที่จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลซึ่งมิอาจวัดเป็นมูลค่าได้
ว่ากันว่า การตัดสินใจของ ณพ ที่เลือกมอบผลประโยชน์ไปข้างแม่ยายแทนสายเลือด เลือกที่จะโอนหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่ไว้เป็นสมบัติของตนเอง และครอบครัว “บุณยะจินดา”แทนที่ “กงสีณรงค์เดช” เพราะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจาก คุณหญิงกอแก้ว นั่นเอง
คุณหญิงกอแก้ว สถานะทางสังคมต้องบอกว่าอยู่ในระดับ “ไฮโซ” แต่ภายหลังการเสียชีวิตของสามีระดับของฐานะก็ลดลง หากต้องการคงสถานะตัวเองและครอบครัวเอาไว้ในระดับสูง ก็ย่อมมองไปถึง มูลค่าของวินด์เอนเนอร์ยี่ที่จะเข้าอยู่ในครอบครองช่วยยกระดับฐานะให้มากขึ้นได้อย่างไม่ต้องกังวล กับความถดถอยของสินทรัพย์หลังต้องอยู่เพียงลำพัง
หลายคนรู้ว่า เส้นทางของคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ตั้งแต่เป็นที่รู้จักมากที่สุดเมื่อตอนที่ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา ก้าวขึ้นเป็นหมายเลข 1 ของวงการสีกากี ในตำแหน่ง อธิบดีกรมตำรวจ
ระหว่างดำรงตำแหน่ง คุณหญิงกอแก้ว ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่สามีในฐานะนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจในแต่ละวันตลอดเวลา 3 ปีจะมีข้าราชการตำรวจแวะเวียนไปยังบ้านพักซอยมีสุวรรณ 3 ย่านคลองตันอย่างไม่ขาดสาย
ว่ากันว่า แม้วันนี้ พล.ต.อ.พจน์ จะเสียชีวิตไปแล้วแต่ร่องรอยของความยิ่งใหญ่ในอดีตยังตกมาสู่ตำรวจรุ่นหลังนั่นคือสโมสรตำรวจ และสนามกีฬาบุณยะจินดา ตั้งอยู่ริมถนนวิภาวดี-รังสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งสร้างมาจากการจำหน่ายพระเครื่อง พระบูชาหลวงพ่อโสธรรุ่น 80 ปีกรมตำรวจปัจจุบัน และเป็นพระยอดนิยมที่นักเล่นต้องการมีไว้ในครอบครอง
นอกจากที่กล่าวมาแล้วทางด้านสังคมยังมีมูลนิธิบุณยะจินดาเพื่อข้าราชการตำรวจ มี คุณหญิงกอแก้ว เป็นประธานฯมอบทุนการศึกษาบุตร-ธิดาข้าราชการตำรวจทุกปี
เรียกได้ว่า คุณหญิงกอแก้ว มีความเคยชินกับการมีหน้ามีตาทางสังคม ความเป็น “ไฮโซ” ที่เฉิดฉายในแวดวงชนชั้นสูงของสังคมมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี แม้คดียังไม่สิ้นสุด แต่เมื่อผลพิสูจน์ “ลายมือชื่อ” ออกมาเป็นที่ประจักษ์ว่า เกษมถูกปลอมลายเซ็นเพื่อธุรกรรมที่ ณพ คุณหญิงกอแก้ว ได้ประโยชน์ ต้องบอกว่า นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ของชีวิต คุณหญิงกอแก้ว ที่ตกเป็นเป้าสายตานินทาของวงสังคมไฮโซ ว่า การโอนหุ้น จากณพ ไปถึงมือคุณหญิงกอแก้ว แม่ยาย นั้น เป็นนิติกรรมที่ชอบธรรมหรือไม่?
คำถามต่างๆ ในวงสังคมพุ่งตรงมาที่คุณหญิงกอแก้ว ในฐานะ “จำเลย” คดีปลอมลายเซ็น อันอื้อฉาวจนทำให้มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ระยะหลังๆก่อนที่จะมีโควิด คุณหญิงกอแก้ว ไม่ค่อยปรากฏตัวให้เห็นตามงานอีเวนต์ งานสังสรรค์ต่างๆ ที่เคยทำประจำสักเท่าไหร่
ประเด็นสำคัญ คือ มีคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกอย่างต้องย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของ การเจรจาซื้อชายหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่ที่ครอบครัวมอบหมาย ให้ ณพ เป็นตัวแทน และทำข้อตกลงอะไรกันไว้
“ข้อตกลง” นี้ที่รู้กันภายในตระกูลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะพิสูจน์ว่า หากการซื้อหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่จากนพพรมาได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ใครบ้างที่มีสิทธิ์ครอบครอง และคิดเป็นสัดส่วนเท่าไร...ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีชื่อของ คุณหญิงกอแก้ว อย่างแน่นอน.
อ่านเพิ่มเติมย้อนหลัง >>> ผ่าปมซื้อขายหุ้น “วินด์เอนเนอร์ยี่” จากธุรกิจดาวรุ่งสู่มหากาพย์พิพาท
:: โปรดติดตามอ่านตอนจบ "บทสรุปหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่" ได้ในพฤหัสบดีหน้า