xs
xsm
sm
md
lg

CENTEL ส่งสัญญาณฟื้นตัว หวั่นต้นทุนพุ่งกดมาร์จิ้นอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่องทิศทางธุรกิจ “โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา” หลังไตรมาสแรกตีตื้นเหลือขาดทุนแค่ 44 ล้านบาท จากการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมทั้งใน และต่างประเทศ ขณะธุรกิจร้านอาหารไม่น้อยหน้ายอดขายแต่ละสาขาปรับตัวเพิ่มขึ้นรับการคลายล็อก ต้องติดตามต้นทุนสูงขึ้นรวมถึงภาวะเงินเฟ้ออาจกดมาร์จิ้น ขณะโดยรวมฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 1/65 โดยพบการเติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้มีรายได้รวม 3.88 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1 พันล้านบาท หรือ 40% จากไตรมาสแรกปีก่อนที่มีรายได้ 2.77 พันล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากธุรกิจอาหารและธุรกิจโรงแรม ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 951 ล้าบาท สูงกว่าไตรมาสแรกปี 64 ซึ่งอยู่ที่ 486 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 465 ล้านบาท หรือ 96%

ขณะเดียวกันคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 24% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ระดับ 18% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBIT) จำนวน 184 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 157% จากขาดทุน 324 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 64 เป็นผลให้ผลขาดทุนสุทธิ 44 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 91%

โดยธุรกิจโรงแรม ผลการดำเนินงานของโรงแรมในต่างประเทศยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทั้งมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และโรงแรมที่ดูไบ มีอัตราการเข้าพักค่อนข้างสูง จากงาน World Expo ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565 ในขณะที่ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 197% อยู่ที่ 1,957 บาท โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (OCC) เพิ่มจาก 14% เป็น 35% ในไตรมาส 1/65 และที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่ม 16% เทียบปีก่อน เป็น 5,660 บาท ทำให้ธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวม 1.24 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 748 ล้านบาท หรือ 149% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ ธุรกิจอาหาร การเติบโตของรายได้เนื่องจากปัจจัยบวกหลายประการ ได้แก่ รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ความกังวลจากการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงเนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนของประชากรเพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบการแพร่ระบาดสายพันธ์ุโอมิครอนไม่รุนแรงเหมือนสายพันธุ์เดลตาที่ผ่านมา กอปรกับบริษัทได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายทั้งในช่องทางของการรับประทานที่ร้าน การซื้อกลับบ้าน และการดีลิเวอรี รวมถึงมาตรการช้อปดีมีคืนของภาครัฐ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมยอดขาย ทำให้อัตราการเติบโตจากยอดขายสาขาเดิม (%SSS) เพิ่มขึ้นในอัตรา 10% เทียบปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ 4 แบรนด์หลัก 9% และแบรนด์อื่นๆ 15% และการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (%TSS) 15% เทียบปีก่อน ส่งผลรวมให้ CENTEL มีรายได้จากธุรกิจอาหารรวม 2.63 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 360 ล้านบาท หรือเติบโตเมื่อ 16% เทียบปีก่อน


หลายโครงการใหม่สนับสนุน

นอกจากนี้ ในปี 2565 บริษัทจะรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีเป็นปีแรกจาก 2 โรงแรมใหม่ คือ 1) โรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย 184 ห้อง ระดับ Luxury แห่งแรกในเครือ 2) โรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท ดูไบ จำนวน 607 ห้อง เป็นกิจการร่วมค้า บริษัทถือหุ้น 40% และบริษัทจะรับรู้รายได้จากการลงทุนในแบรนด์ใหม่ใน ร้านอาหาร Shinkanzen Sushi และ Senma Sushi ปัจจุบันเปิดดำเนินการ 38 สาขา ซึ่งบริษัทเข้าถือหุ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ในสัดส่วน 51% 

สถานะทางการเงินแกร่ง

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าบริษัทจะคาดการณ์ว่า การระบาดของโรค Covid-19 น่าจะมีแนวโน้มที่ดี แต่บริษัทยังคงติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นเพื่อที่จะมั่นใจว่า มีการบริหารจัดการเรื่องการเงินอย่างเหมาะสม และมีกระแสเงินสดที่เพียงพอในทุกสถานการณ์ โดยยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อัตราส่วนสภาพคล่องดีขึ้นจากสิ้นปี 2564 ที่ 0.7 เท่า และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น 0.9 เท่า ทั้งนี้ บริษัทมีเงื่อนไขกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 2.0 เท่า

ขณะเดียวกันแม้ยังคงมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการธุรกิจโรงแรม เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน นโยบายและมาตรการการควบคุมโรคโควิด-19 ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแรงกดดันต่อต้นทุนราคาวัตถุดิบและการขนส่งที่กระทบอัตราการทำกำไรของธุรกิจอาหาร อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามการผ่อนปรนมาตรการตามลำดับ อีกทั้งบริษัทก็มีการวางแผนในการเจรจาต่อรองกับผู้ขายอย่างต่อเนื่อง หาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติม รวมถึงมีการปรับราคาสินค้าเพื่อสะท้อนสภาวะการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ โดยบริษัทได้พยายามรักษาสมดุลเรื่องความคุ้มค่าของลูกค้าและผลกำไรของบริษัทอย่างเหมาะสม

เชื่อมั่นทั้ง 2 ธุรกิจหลักเติบโต

ทำให้ ในปี 2565 บริษัทประมาณการธุรกิจโรงแรมอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี (รวมโรงแรมที่ดูไบ) อยู่ในช่วง 40-50% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) อยู่ที่ 1,700-1,900 บาท และธุรกิจอาหาร อัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS) 10% ถึง 15% เทียบปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 20% ถึง 25% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา บริษัทคาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิ 180-200 สาขา 

ตัวเลขอัตราเข้าพักน่าประทับใจ

จากข้อมูลดังกล่าวนักวิเคราะห์พบว่าอัตราการเข้าพัก (occupancy) เร่งตัวขึ้นอย่างน่าประทับใจเป็น 50% ในเดือนเมษายน 2565 (จากเฉลี่ย 29% ในไตรมาสแรกปี 65) จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงแรมในทุกทำเลที่ตั้ง โดยเฉพาะหัวหิน และพัทยาซึ่ง occupancy สูงกว่า 60% และมัลดีฟส์ ซึ่ง occupancy ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 70% แม้ผู้บริหารคาดว่า occupancy รวมอาจจะลดลงเล็กน้อยในเดือนพฤษภาคม 2565 ตามปัจจัยฤดูกาลของโรงแรมที่มัลดีฟส์


คงงบลงทุน 3-4 พันล้านบาท

สิ่งที่น่าสนใจคือ CENTEL ยังคงตั้งงบลงทุน (CAPEX) รายปีเอาไว้ที่ 3-4 พันล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่บริษัทมีแผนจะเปิด Centara grand Hotel Osaka (515 ห้อง) ในปี 2566F, โรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของหนึ่งแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ (130 ห้อง) ในปี 2568 และโรงแรมสองแห่งในมัลดีฟส์ ในช่วงปี 2568-69 ในขณะเดียวกัน งบดุลของบริษัทยังแข็งแกร่งโดยมีสัดส่วน D/E อยู่ที่ 0.9x ในไตรมาสแรกปี 65

ขณะที่ การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (Same-store-sales growth) (SSSG) ออกมาน่าประทับใจที่ 20% ในเดือนเมษายน และคาดอยู่ที่ 30% ในเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลของฐานที่ต่ำ (Figure 2) ทำให้คาดว่าโมเมนตั้มของยอดขายจะเป็นบวกต่อเนื่องในไตรมาส 2/65 จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น

หวั่นเงินเฟ้อพุ่งกดดันกำไรขั้นต้น

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือภาวะเงินเฟ้อทางด้านต้นทุนจะยังคงเป็นปัจจัยลบต่อเนื่องไปตลอดปีนี้ ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจอาหารในไตรมาสแรกปี 65 อยู่ที่ 45.8% (เปรียบเทียบกับสมมติฐานทั้งปีที่ 46.3%) ซึ่งหมายความว่าประมาณการ ปี 2565 ยังมีความเสี่ยงด้าน downside อยู่ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ทำการส่งผ่านต้นทุนไปที่ราคาขายแล้ว และจะปรับโปรโมชันใหม่เพื่อบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น โดยรวมถึงแม้ว่ายอดขายจะมีแนวโน้มสดใสตลอดปีนี้ แต่เชื่อว่าประเด็นเรื่อง margin ที่ถูกกดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอาหาร อาจกระทบ sentiment ราคาหุ้นในระยะสั้นถึงกลาง ดังนั้นจึงยังคงคำแนะนำ “ถือ” โดยประเมินราคาเป้าหมายที่ 43.50 บาท อิงจาก EV/EBITDA ปี 2566F ที่ 14.6x เท่ากับค่าเฉลี่ยระยะยาว +1.0 S.D.

คาด 3 ปี เติบโตเท่าก่อนโควิด-19

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย จำกัด ประเมินทิศทางธุรกิจ CENTEL ว่า ผลขาดทุนสุทธิไตรมาสแรกปีนี้ที่ 44 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 476 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 64 และกำไรสุทธิ 152 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 64 สอดคล้องกับคาดการณ์ โดย EBITDA ในไตรมาสแรกปี 65 โตขึ้นเท่าตัวเทียบปีก่อน แต่ยังทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาสก่อนที่ 951 ล้านบาท หนุนจากธุรกิจโรงแรมที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งเทียบปีก่อน จากภาคการท่องเที่ยวไทยที่ฟื้นตัวขึ้น อีกทั้งกิจการในมัลดีฟส์ที่แข็งแกร่งต่อเนื่องเพราะเป็นช่วง high season และผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจโรงแรมในดูไบเนื่องจากมีงาน Dubai World Expo ทำให้คาดผลประกอบการยังติดลบในปี 2022 ขณะที่กิจการจะยังโตต่อเนื่องในช่วง 3 ปีข้างหน้าจนแตะระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในปี 66

จุดเด่นที่ cash flow และงบดุลที่แข็งแกร่ง

สอดคล้องกับ บล.เคทีบีเอสที แนะนำ “BUY” ราคาเป้าหมาย 50 บาท/หุ้น หลังจากภาพรวมยังเป็นไปตามคาด ขณะที่ภาพของธุรกิจอาหารในเดือน เม.ย.-พ.ค. 22 ยังมี SSSG ที่เติบโตได้ดีมาก 20-40% เทียบปีก่อน จากไตรมาสแรกปี 65 ที่ 10% เพราะการบริโภคที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี ส่วนธุรกิจโรงแรมในเดือน เม.ย. 22 Occ. Rate ทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 50% จากไตรมาสแรกปี 65 ที่ 29% ขณะที่ต้นทุนอาหารอย่างน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ โดยมีการทยอยปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

ดังนั้นยังคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ 307 ล้านบาท ฟื้นตัวได้ดีจากปี ก่อนที่ขาดทุนสุทธิที่-1.7 พันล้านบาท ขณะที่คาดผลการดำเนินงานใน ไตรมาส 2 ปี 65 คาดจะขาดทุนลดลงจากปีก่อน เพราะภาพรวมการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนหลังจากที่ไทยมีนโยบายผ่อนคลายการเข้าประเทศมากขึ้น

สำหรับราคาหุ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลง -2% เมื่อเทียบกับ SET จากผลประกอบการในไตรมาสแรกปีนี้พลิกเป็นขาดทุนซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะกำไรเพราะมีภาษีจ่ายและค่าเช่าจ่ายที่มากกว่าคาด แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวได้ดีจากการเตรียมยกเลิก Thailandpass ในวันที่ 1 มิ.ย. 22 และการประกาศ Covid-19 เป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 ก.ค. 22 ประกอบกับ CENTEL ยังเป็นหุ้นที่มี cash flow และงบดุลที่แข็งแกร่งสุดในกลุ่มฯ (net D/E = 0.87x)


มีลุ้นรายได้ธุรกิจอาหารแตะหมื่นล้าน

ด้าน  บล.ฟินันเซีย ไซรัส รายงานว่า ฝ่ายวิจัยแนะนำ “เพิ่มน้ำหนัก” เข้าลงทุนในหุ้น CENTEL  คาดเห็นการฟื้นตัวของทั้งธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด Occ Rate เดือน เม.ย. อยู่ที่ 50% เทียบกับ 26% ในไตรมาส 1/65 ส่วน SSSG โตมากกว่า +20% และคาดยังดีต่อในเดือน พ.ค. ระยะยาวคาดได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งหลังปี 65 ดังนั้นแนะนำ “ซื้อ” เป้าหมาย 49 บาท

เงินเฟ้อ-ต้นทุนยังกดดันธุรกิจร้านอาหาร

นอกจากนี้ จากแนวโน้มธุรกิจของ CENTEL ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินทิศทางธุรกิจร้านอาหารว่าจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว จากที่ผ่านมาโดนมรสุมอย่างหนักและหลายระลอกจากสถานการณ์ โควิด-19 และการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้น แต่ปี 2565 นี้หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงจนมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการเปิดประเทศที่จะหนุนนักท่องเที่ยวเข้ามาซึ่งจะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มนี้ไม่น้อย

นั่นเพราะ สถานการณ์ภายในประเทศเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีการที่จะเตรียมเปิดประเทศมากขึ้น เริ่มเห็นบางธุรกิจร้านอาหารที่เริ่มกลับมาเปิดรับพนักงาน มีการทำธุรกิจที่กลับมาคึกคัก ดังนั้นเชื่อว่าจะเห็นในเรื่องของทิศทางของการเติบโตขึ้นของยอดขายของสาขาต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นธุรกิจค้าปลีกโดยรวมทั้งหมด รวมไปถึงในเรื่องของตัวธุรกิจที่เป็นร้านอาหารด้วย โดยจะเริ่มเห็นจากตัว Same Store Sales หรือว่ายอดขายของร้านต่างๆ ที่มีสาขาอยู่ใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกันถ้ายังรักษาระดับตรงนี้ได้ ไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี นั่นเท่ากับว่าตัวรายได้ที่เป็นธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะอย่างในกรณีตัว CENTEL น่าจะกลับมาเป็นหลักหมื่นล้านได้อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้นถ้าดูเจาะเฉพาะในธุรกิจที่เป็นร้านอาหาร จะเริ่มเห็นว่าภาคที่เป็นตัวของธุรกิจรายได้จากพวกร้านอาหารโดยเฉพาะในฝั่งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนเริ่มติดลบน้อยลง นั่นหมายถึงกำไรที่มีการฟื้นตัว และมีความคาดหวังว่าน่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกขึ้นได้ในครึ่งปีหลัง

ส่วนตัวแปรที่อาจจะทำให้ในเรื่องของตัวกำไรอาจจะไปได้ช้ากว่าที่ประเมินเอาไว้ สิ่งที่อาจจะต้องจับตาดูคงจะเป็นต้นทุน ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบมาตั้งแต่ในช่วงของปลายๆ ไตรมาส 1/65 ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนพลังงาน และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัววัตถุดิบทั้งหลายที่มันก็ขึ้นมาตามราคาสินค้าเกษตร เพราะว่าตัวต้นทุนพวกนี้จะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการที่เป็นร้านอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงต้องจับตาดูว่าเงินเฟ้อมันจะผ่านจุดสูงสุดไปได้ไหม ซึ่งในเดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น