xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นเอเชียร่วงตามดาวโจนส์ หวั่นเงินเฟ้อฉุด ศก.สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหุ้นเอเชียเปิดร่วงลงตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงกว่า 1,100 จุดในวันพุธ (18 พ.ค.) ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2563 เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทค้าปลีก นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยืนยันว่า เฟดไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่าที่จำเป็นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 26,435.32 จุด ร่วงลง 475.88 จุด หรือ -1.77%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 20,146.96 จุด ร่วงลง 497.32 จุด หรือ -2.40% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,046.71 จุด ลดลง 39.27 จุด หรือ -1.27%

ภาวะการซื้อขายถูกกดดันหลังบริษัทค้าปลีกในสหรัฐฯ เปิดเผยผลกำไร โดยทาร์เก็ต ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า กำไรต่อหุ้นในไตรมาส 1/2565 ลดลงสู่ระดับ 2.19 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.07 ดอลลาร์ เนื่องจากผลกระทบของปัญหาห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าขนส่งที่สูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังต้องปรับลดราคาสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันกับบรรดาคู่แข่งในตลาดได้

การเปิดเผยผลประกอบการที่ย่ำแย่ของทาร์เก็ตมีขึ้นเพียงวันเดียวหลังจากวอลมาร์ท ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกใหญ่ที่สุดในโลกเปิดเผยกำไรต่อหุ้นที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1 อันเนื่องมาจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อเช่นกัน

พอล คริสโตเฟอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเวลส์ ฟาร์โก อินเวสต์เมนท์ กล่าวว่า นักลงทุนเทขายหุ้นเนื่องจากกังวลว่าธุรกิจค้าปลีกเริ่มได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแซงหน้าค่าจ้าง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผลประกอบการที่ย่ำแย่ของบริษัทค้าปลีกสะท้อนให้เห็นว่า เงินเฟ้อกำลังส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่นายพาวเวล ยืนยันว่า เฟดจะไม่ลังเลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่าที่จำเป็น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งขึ้นรุนแรงจนสร้างความเสียหายต่อรากฐานเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน เฟดยังเตรียมปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน มิ.ย. ซึ่งเฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่น่าจับตาวันนี้ ได้แก่ อัตราว่างงานเดือน เม.ย. ของออสเตรเลีย รวมถึงยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน เม.ย. และยอดสั่งซื้อเครื่องจักรเดือน มี.ค. ของญี่ปุ่น


กำลังโหลดความคิดเห็น