ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือน เม.ย.65 ยังบ่งชี้ถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาที่สินค้าที่อยู่ในระดับสูง โดยดัชนีเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าเดือน เม.ย.65 ลดลงอยู่ที่ 32.5 และ 35.5 จาก 33.4 และ 36.1 ในเดือน มี.ค.65 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีพบว่า ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากเกี่ยวกับ “ราคาอาหารและเครื่องดื่ม” “ราคาพลังงาน” และ “ราคาสาธารณรูปโภค“ หลังภาครัฐยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้มและทยอยปรับราคาแบบขั้นบันได รวมถึงในเดือน พ.ค.65 ได้ยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร และจะเริ่มทยอยปรับขึ้นเป็นขั้นบันไดเช่นกัน ขณะที่มาตรการคนละครึ่งระยะที่ 4 สิ้นสุดลงในเดือนที่ผ่านมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการรับมือของครัวเรือนกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นพบว่า ส่วนมาก 29.9% จะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในขนาดเล็กลง หรือเปลี่ยนยี่ห้อที่มีราคาถูกลง นอกจากนี้ ได้มีการสำรวจเพิ่มเติมหลัง “มาตรการคนละครึ่ง” ระยะที่ 4 สิ้นสุดลงว่าจะมีผลต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนอย่างไร โดยมีครัวเรือนกว่า 40% ระบุว่าจะใช้จ่ายลดลง เนื่องจากจำนวนเงินเท่าเดิมจะซื้อสินค้าได้ลดลง ผลสำรวจเพิ่มเติมดังกล่าวสะท้อนถึงทิศทางการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงซึ่งจะกระทบต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานต่อเนื่องไปในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนต่อเนื่องไปอย่างน้อยครึ่งแรกของปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาพลังงานโลก ตลอดจนการส่งผ่านราคาสินค้ามายังผู้บริโภคเป็นสำคัญ ขณะที่มาตรการต่างๆ ของภาครัฐทั้งในส่วนของการเยียวยา หรือมาตรการเงินอุดหนุน/ช่วยเหลือเริ่มทยอยหมดลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในช่วงที่รายได้และการจ้างงานยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เต็มที่และราคาสินค้ายังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนพบว่ายังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบาง ภาครัฐอาจจำเป็นเข้ามามีส่วนช่วยประคับประคองไม่ว่าจะเป็นในฝั่งรายได้ หรือการผ่อนปรนภาระการครองชีพ