นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารยังคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมที่ระดับ 4-6% โดยคาดการสินเชื่อรายใหญ่ และรายย่อยที่ 4-6% และสินเชื่อเอสเอ็มอี 1-3% ซึ่งสอดคล้องกับการเศรษฐกิจไทยที่คาดการณ์เติบโต 3-4% โดยมองว่าเศรษฐกิจปีนี้เริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง
"เรามองว่าเศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการกระจายการฉีดวัคซีน หรือการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 อันนำมาสู่การเปิดประเทศ และมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้กลุ่มที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหารเริ่มดีขึ้น ซึ่งธนาคารกรุงเทพได้ช่วยเหลือเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในการปรับตัวให้รับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านขององค์ความรู้ หรือการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการเดินหน้าได้ต่อไปด้วยกัน"
ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ตั้งเป้าหมายที่ระดับไม่เกินกว่า 4% จากไตรมาส 1 ปี 65 ที่ 3.3% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ขณะที่ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารจะยังคงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง แม้จะมีอัตราการกันสำรองที่ต่ำกว่าปีก่อนๆ จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยการตั้งสำรองหนี้เสียของธนาคารในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้จะอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาส 1/2565 ที่ระดับ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าช่วงปี 2564 ที่ตั้งสำรองอยู่ที่ระดับ 3.1-3.4 หมื่นล้านบาท ส่วนแนวทางการบริหารหนี้เสียโดยการจัดตั้งบริษัทร่วมบริหารหนี้เสีย (JV AMC) นั้น ธนาคารได้มีการหารืออยู่บ้าง แต่แนวทางการบริหารจัดการด้วยหน่วยงานภายในของธนาคารเองสามารถดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว
นายชาติศิริ กล่าวอีกว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้น ถือเป็นปัจจัยเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้ความสำคัญ ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสมอยู่แล้ว โดยธนาคารเองยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้ระดับเดิม และเน้นการดูแลลูกค้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกิดจากราคาสินค้าบางประเภทสูงขึ้นจากภาวะสงคราม ซึ่งน่าจะคลี่คลายลงได้ในระยะถัดไป
**“จานโปรด Episode ลับ” โปรโมตร้านเด็ดในชุมชน**
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือร้านอาหารในอีกทางหนึ่ง นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดโครงการ “จานโปรด Episode ลับ” เชิญชวนคนไทยร่วมกันสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบคลิปวิดีโอเกี่ยวกับ “อาหารจานโปรด” เพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์อาหารจานโปรดและร้านเด็ดของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นร้านอาหารและการท่องเที่ยวเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว หลังซบเซาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 มายาวนานกว่า 2 ปี
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวจะเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทีมกันไม่เกินทีมละ 5 คน จัดทำคลิปวิดีโอนำเสนออาหารอร่อยที่เป็น “จานโปรด” จากร้านเด็ดในจังหวัดของตนเอง โดยถ่ายทำคลิปด้วยโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ความยาวไม่เกิน 3 นาที ส่งเข้ามาที่ www.จานโปรด.com ซึ่งการประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ (1) ประเภทเยาวชน สำหรับนักเรียน และนักศึกษา และ (2) ประเภทประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ 50 ทีมที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับสิทธิเข้าร่วมอบรมหลักสูตร “ผู้กำกับน้อย” เพื่อเรียนรู้หลักการและประสบการณ์การจัดทำภาพยนตร์สั้นอย่างเข้มข้นจาก 5 ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ประกอบด้วย คุณธนิตย์ จิตนุกูล ผู้กำกับเรื่องบางระจัน คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับเรื่องต้มยำกุ้ง คุณบัณฑิต ทองดี ผู้กำกับเรื่องพุ่มพวง คุณราเชนทร์ ลิ้มตระกูล ผู้กำกับเรื่องโลกทั้งใบให้นายคนเดียว และคุณณภัทร ตั้งสง่า ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นที่คว้ารางวัลชนะเลิศในหลากหลายเวที
หลังการอบรม ทั้ง 50 ทีมจะได้รับโจทย์สำหรับการจัดทำภาพยนตร์สั้นในหัวข้อ “จานโปรด Episode ลับ” อีกรอบเพื่อร่วมเข้าประกวดภาพยนตร์สั้น ประจำปี 2565 เพื่อชิงรางวัล “ผู้กำกับน้อย” คนแรกของประเทศไทย พร้อมรางวัลเกียรติยศ “บัวหลวงทองคำ” และรางวัลต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 4 แสนบาท โดยผลงานทั้งหมดจะถูกนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ของธนาคาร เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ “จานโปรด” ทั้ง 50 จาน ขณะเดียวกัน ร้านเด็ดเจ้าของจานโปรดที่ได้รับคัดเลือกดังกล่าวจะได้รับมอบตราสัญลักษณ์ “จานโปรด Episode ลับ” เพื่อเป็นการรับประกันความอร่อยอีกด้วย
“การสร้างเรื่องราว หรือ Story Telling เป็นอีกหนึ่งวิธีการสำคัญที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และช่วยให้ลูกค้าเกิดการบอกต่อ ประเทศไทยมีธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นร้านอาหารอยู่มากกว่า 3 แสนราย แต่มีเพียงไม่มากที่สามารถต่อยอด สร้างเรื่องราวให้สินค้าของตนเอง เพราะพ่อค้าแม่ค้าอาจถนัดกับการทำอาหารมากกว่า ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าและคนรุ่นใหม่ มาช่วยสร้างเรื่องราวให้แทน ช่วยนำเสนออาหารจานโปรดที่อยากจะแนะนำให้คนอื่นๆ ได้ลองมาตามหาร้านเด็ดเหล่านี้ดูบ้าง ขณะเดียวกัน โครงการนี้ก็จะเป็นเวทีแห่งโอกาสสำหรับคนที่สนใจการสร้างภาพยนตร์ โดยเฉพาะน้องๆ นักเรียน นักศึกษาที่มีใจในงานเหล่านี้ สามารถเข้ามาเรียนรู้และหาประสบการณ์จากผู้กำกับชั้นนำระดับประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะมีโอกาสได้เรียนรู้โดยตรงจากผู้กำกับทั้ง 5 ท่านนี้” นายกอบศักดิ์ กล่าว