นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.04 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.53 บาทต่อดอลลาร์ (จากระดับปิด ณ วันที่ 3 พฤษภาคม) และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างที่ตลาดได้กังวลในช่วงก่อนหน้า
ทั้งนี้ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตามคาด และประกาศแผนการลดงบดุลเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะเพิ่มอัตราการลดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในเดือนกันยายน นอกจากนี้ ประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปมากอย่างที่ตลาดกังวลในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ประธานเฟดระบุว่า เฟดอาจสามารถขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่เฟดให้ความสำคัญในตอนนี้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ตาม แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทยังคงอยู่ เช่น ความไม่แน่นอนของสงครามที่จะกดดันสกุลเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หากยุโรปตัดสินใจคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย หรือรัสเซียยุติการส่งออกพลังงานไปยังยุโรป นอกจากนี้ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีนมีโอกาสที่จะกดดันสกุลเงินฝั่งเอเชียและทำให้ นักลงทุนยังไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น EM Asia ในระยะสั้น ทำให้เรามองว่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะเริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยและบอนด์ไทยมากขึ้นหรือไม่ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยง
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่าผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย เช่น ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ด้านตลาดทุนแรงหนุนจากการคลายความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นถึง +3.19% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +2.99% ซึ่งนับเป็นการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังรับรู้ผลการประชุมเฟดที่ร้อนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี อย่างไรก็ดี เรามองว่าทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนด้วย โดยหากรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทยอยออกมาดีกว่าคาดอาจช่วยหนุนให้ตลาดมีการรีบาวนด์ได้ในระยะสั้น แต่ทว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องระวังคือ การทยอยถอนสภาพคล่องออกจากตลาดของบรรดาธนาคารกลาง ผ่านการลดงบดุลของเฟดและการทยอยลดการทำคิวอีของธนาคารกลางอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลลบต่อตลาดหุ้นได้
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป รายงานผลประกอบการบริษัทที่ออกมาแย่กว่าคาด และความกังวลปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีนที่อาจกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ได้กดดันให้ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลง -0.96% นำโดยหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่ส่วนใหญ่มีรายได้หลักมาจากจีน เช่น Hermes -2.3% Kering -1.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปอาจรีบาวนด์ขึ้นได้บ้างในวันนี้ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมพร้อมกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดกังวล
ทางด้านตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวผันผวนพอสมควร โดยบอนด์ยิลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3.00% ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ก่อนที่จะย่อตัวลงแตะระดับ 2.94% หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่าจุดสูงสุดของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ น่าจะอยู่แถว 3.00% และผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวมากขึ้น หากประเมินว่าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยไปมาก และ Terminal Rate จะอยู่ในช่วง 3.00%-3.25%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน ผลการประชุมเฟดที่เป็นไปตามคาด และเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปมาก ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ลง (Sell on Fact) กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 102.5 จุด จากที่แกว่งตัวเหนือระดับ 103.3 จุด ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด นอกจากนี้ แนวโน้มเฟดไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย ที่ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ปรับตัวลง ยังได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 1,895 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่าผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวนด์ของราคาทองคำได้บ้าง และบางส่วนอาจรอลุ้นให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้าน 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเพิ่มสถานะถือครอง เพื่อลุ้นการปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ นอกเหนือจากผลการประชุมเฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยตลาดประเมินว่า BOE อาจมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.00% เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ BOE อาจประเมินว่าการเติบโตเศรษฐกิจอาจชะลอลง แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้ BOE ทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ในอนาคต
ส่วนในฝั่งเอเชีย นักวิเคราะห์มองว่า ผลกระทบจากการใช้มาตรการ Zero COVID ของทางการจีน เพื่อควบคุมการระบาดโอมิครอนจะกดดันให้ภาคการบริการซบเซาหนัก โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Caixin Services PMI) เดือนเมษายนอาจลดลงสู่ระดับ 40 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึงภาวะหดตัว) ส่วนในฝั่งไทยนั้น เรามองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนเมษายน อาจชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนสู่ระดับ 5.4% หลังราคาสินค้าพลังงานทรงตัว ทว่าราคาอาหารส่วนใหญ่อาจปรับตัวสูงขึ้น (ระดับราคาสินค้าโดยรวม +1.1%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) จะอยู่ที่ระดับ 2.0% ทั้งนี้ เราคาดว่าระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่กดดันให้ ธปท. ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางอื่นๆ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ายังไม่ได้กระจายเป็นวงกว้าง
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่ดีกว่าคาดอาจพอช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุน หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย