ผู้ถือหุ้น “ไทยพาณิชย์” ยังคาใจ ผู้บริหารไม่เคลียร์ประเด็นเข้าซื้อ “บิทคับ” 51% ขณะที่ ธปท. ยังไม่ได้รับแผน “ซุปเปอร์ดีล” อย่างเป็นทางการ แค่เข้ามาหารือรายละเอียด เตรียมคลอดเกณฑ์คุมเข้มแบงก์พาณิชย์ลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนภายในกลางปีนี้ ด้านโบรกเกอร์ ประเมินดีลต้องเลือนออกไปหลังไตรมาส 2 คาดต่อรองราคาใหม่ต่ำกว่า 1.78 หมื่นล้านบาท หลังวอลุ่มเทรดลดฮวบกว่า 60%
แผนการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจของ “ไทยพาณิชย์”(SCB) สู่ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) ถือเป็นโปรเจกต์ที่น่าจะได้รับการตอบรับจากทุกฝ่าย โดย SCBX ได้กำหนดระยะเวลาการแลกหุ้นไว้ 30 วันทำการ ตั้งแต่ 2 มี.ค. 65 จนถึง 18 เม.ย. 65 ซึ่งจะเป็นวันที่ครบกำหนดเป็นวันสุดท้าย
แต่ประเด็นที่ถูกจับตามองและสร้างความกังวลให้แก่ผู้ถือหุ้น คือ แผนการเข้าซื้อหุ้นบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ Bitkub ในสัดส่วน 51% มูลค่ากว่า 1.78 หมื่นล้านบาท จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด โดยมีผู้ก่อตั้งคือ "ท๊อป" จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา หรือ “ซุปเปอร์ดีล” ที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายหรือคำตอบที่ชัดเจนของผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์
โดยในที่ประชุมสามัญประจำปีของธนาคารพาณิชย์ที่จะจัดขึ้น วันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยวิธีประชุมอี-มี๊ตติ้ง ปรากฏว่า ผู้ถือหุ้นหลายคนได้ถามคำถามเกี่ยวกับการลงทุนในบิทคับของ SCBX แต่ฝ่ายบริหารได้ตัดและปิดกั้นคำถามเหล่านี้โดยไม่ได้ตอบคำถามเลยแม้แต่คำถามเดียว ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยแก่ผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก
"ไทยพาณิชย์" ยังไม่ยื่นขออนุมัติจาก ธปท.
ขณะที่ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ยังไม่ได้ยื่นแผนการลงทุนในบิทคับอย่างเป็นทางการ มีเพียงการเข้ามาคุยเรื่องในรายละเอียดเท่านั้น กดังนั้น ธปท.จึงยังไม่ได้มีการพิจารณากรณีดังกล่าว ส่วนหนึ่งทาง SCBX อาจรอดูความชัดเจนของเกณฑ์การกำกับดูแลของธปท.ด้วย
“เนื่องจากปัจจุบันทั้ง 2 บริษัท ยังอยู่ระหว่างการสอบทานธุรกิจ (Due diligence) อยู่ โดยยังไม่รู้ว่าในท้ายสุดราคาตกลงซื้อขายจริงจะอยู่ที่เท่าไร และภายใต้การจัดโครงสร้างของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นกลุ่มธุรกิจการเงิน (โฮลดิ้ง) ภายใต้บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) หากเกินเพดาน 3% ของเงินกองทุน ก็สามารถทำได้ แต่จะคิดในกองทุนที่แพงขึ้น หรือเงินกองทุนจะย่อมลง”
แบงก์ชาติคุมเข้มธนาคารลงทุน DA
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์ควบคุมธนาคารพาณิชย์ลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปี 65 นี้ ประกอบด้วย
1.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset : DA) ที่ได้รับการอนุญาตและมีหน่วยงานการกำกับดูแล เช่น DA exchange, Broker, dealer ธนาคารพาณิชย์ลงทุนได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน กรณีที่เป็นกลุ่มธุรกิจการเงิน (โฮลดิ้ง) ลงทุนได้เกิน 3% ของเงินกองทุน แต่จะนำส่วนเกินไปหักเงินกองทุน ทำให้เงินกองทุนลดลงได้
2. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset : DA) ที่ไม่มีการกำกับดูแล เช่น Metaverse และ Defi ธปท.กำหนดให้ทำอยู่ในขอบเขต (Sandbox) โดยจะมีการพิจารณา 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการรับเข้าทดสอบ จะพิจารณาถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ และต้นทุนลดลง และ ขั้นตอนหลังการทดสอบก่อนจะให้บริการวงกว้าง จะพิจารณาประโยชน์ต่อภาพรวมหรือไม่ โดยการทดสอบดังกล่าวยังคงอยู่ในเพดาน 3%
นอกจากนี้ ธปท.ยังกำหนดให้แยกคณะกรรมการระหว่างธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจโฮลดิ้งที่ทำเรื่องของธุรกิจ DA โดยเฉพาะอย่างชัดเจน รวมถึงระบบไอที ระบบคอร์แบงกิ้งออกจากกันอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดต่อระบบของธนาคารพาณิชย์ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์จะต้องไม่ส่งเสริมหรือเชิญชวนประชาชนทั่วไปลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านสาขาธนาคารและเว็บไซต์ เพราะการลงทุน DA ไม่เหมาะกับลูกค้าทุกคน ยกเว้นกับกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง (HNW) ตามเกณฑ์ของก.ล.ต. ที่มีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน แต่ธนาคารจะเป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น
โบรก ฯ คาดมูลค่าดีลต่ำกว่า 1.78 หมื่นล้าน
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ประเมินว่า แผนการเข้าซื้อบิทคับของกลุ่มไทยพาณิชย์ จะยังคงเดินหน้าต่อไป แต่อาจจะต้องเลื่อนสรุปแผนออกไปเป็นหลังไตรมาส 2 จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ไตรมาสแรกปีนี้ เพื่อรอความชัดเจนหลักเกณฑ์ของ ธปท. ที่จะประกาศมีผลบังคับใช้ภายในกลางปีนี้ ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์เองก็เตรียมแผนปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้งส์ เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ของธปท.
ส่วนทางเลือกของกลุ่มธนาคารพาณิชย์เองมี 3 ทางเลือก คือ 1. ปรับโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ ขอผ่อนผันหลักเกณฑ์การลงทุนเกินเพดานได้หรือไม่ 2.ต่อรองราคาซื้อขายให้ต่ำลง หรือ 3.ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบิทคับ เพื่อให้สอดคล้องกับเพดานข้อกำหนดของ ธปท.
ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า มูลค่าการซื้อขายบิทคับ มีโอกาสต่ำกว่าที่ไทยพาณิชย์เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.78 หมื่นล้านบาท เมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดือน ของก.ล.ต. ในเดือน ก.พ. 65 อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ลดลงกว่า 60% เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายในเดือน พ.ย. 64
ขณะที่จำนวนบัญชีที่มีการ Active เดือนก.พ. 65 อยู่ที่ 4.95 แสนบัญชี ลดลงจากเดือนพ.ย.ปี 64 ถึง 29% จึงอาจเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ใช้เป็นอำนาจต่อรองราคาการซื้อบิทคับได้
จากการนำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์ “Bitkub ยูนิคอร์นสายพันธุ์อันตราย”ความยาว 5 ตอน และตอนพิเศษ ที่ผ่านมา ได้สะท้อนภาพปัญหาต่างๆ อาทิ ความเสี่ยงได้คุ้มเสียหรือไม่? เพราะข้อมูลตัวเลขของบิทคับหลายตัวนำเสนอยังค้านสายตาหลายคน รวมถึงการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะ “ไบแนนซ์” ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ประกาศจับมือกับบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลล็อปเม้นท์ ท่ามกลางกระแสตลาดคริปโตเคอร์เรนซีช่วงขาลง
ขณะที่ ก.ล.ต.และ ธปท.ประกาศควบคุมการทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ด้วยการห้ามไม่ให้ใช้เงินดิจิทัลชำระค่าสินค้าและบริการ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ห้ามไม่ให้มีการโฆษณา ชักชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมเป็นผู้ให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการ และไม่ให้บริการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
ส่วน “บิทคับ” เองก็โหมทำการตลาดอย่างบ้าคลัง จนดันราคา “Kub Coin” พุ่งทะยานกว่า 1,800% จากราคา 30 บาท ไปสูงสุดที่ 500 บาท ไม่ว่าจะให้ตัว “ท๊อป จิรายุส” เป็นไลฟ์โคช การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง หรือมีอิทธิพล (Influencer) ดึงภาคธุรกิจระดมทุนด้วยการออก ICO หรือ NFT แม้กระทั่งการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเจาะตลาดกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อกระตุ้นความสนใจตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ขณะที่ระบบของ “บิทคับ” เองยังไม่มีความพร้อมและประสิทธิภาพรัดกุมเพียงพอ จน ก.ล.ต. ต้องเข้าไปตรวจสอบ และเปรียบเทียบปรับ มาหลายครั้งตลอดปี 64 ดังรายละเอียดดังนี้
อ่านเพิ่มเติมในตอนที่ 1 >>> ดีล SCBX ฮุบ Bitkub เริ่มเสี่ยง ได้ไม่คุ้มเสีย? (ตอนที่ 1)
อ่านเพิ่มเติมในตอนที่ 2 >>> KUBCOIN เจ้ามือรวย แมลงเม่าม้วยมรณา (ตอนที่ 2)
อ่านเพิ่มเติมในตอนที่ 3 >>>Bitkub ยูนิคอร์น สายพันธุ์อันตราย?! (ตอนที่ 3)
อ่านเพิ่มเติมในตอนที่ 4 >>>ลัทธิ Bitkub ตัวป่วนวงการ! สวน “ธปท.-ก.ล.ต.” คุมเข้ม (ตอนที่ 4)
อ่านเพิ่มเติมในตอนที่ 5 >>>บิทคับ เทียบ ไบแนนซ์ ค่าต๋งแพง-ค่าถอนโหด กับดักแมลงเม่า (ตอนที่ 5)
และเป็นที่น่าสังเกตว่า ดีล “SCBX-บิทคับ” ยังจบไม่ลง เป็นไปได้หรือไม่ว่า จากการเข้าไปทำดีลดิลิเจนท์แล้วพบว่า ป้ายโฆษณาไม่ตรงปก เสมือน … ข้างนอกสุกใส ข้างใน …!? หรือไม่