xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนเข้าร่วม "อาคารอนุรักษ์พลังงาน" ถึง 322 อาคาร รับเทรนด์การประหยัดพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อสังหาฯ-ภาครัฐ เร่งปรับตัวพร้อมก้าวสู่ยุคการสร้างนวัตกรรมรองรับการประหยัดพลังงาน พพ. ถก ธปท.-แบงก์ ใช้วงเงินกู้ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.5 แสนล้านบาท รองรับปล่อยกู้โครงการอนุรักษ์พลังงานให้ภาคธุรกิจ อุตฯ อาคาร ลดต้นทุน เสริมศักยภาพการแข่งขัน คาด พ.ค.ชัดเจน เผยอาคารเอกชนสนใจเข้าร่วมโครงการอาคารอนุรักษ์พลังงาน (BEC) ถึง 322 อาคาร ประหยัดค่าไฟฟ้าต่อปี 10%

จากปัญหาเรื่องพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรม การผลิต การขนส่ง และมีผลต่อภาคครัวเรือน ซึ่งในปัจจุบันหลายบริษัทจะให้พนักงานทำงานที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายมาทำตลาดในเรื่อง "พลังงานสะอาด" เช่น การซื้อบ้านพร้อมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทุกหลัง หรือ การเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องของแท่นชาร์จรถยนต์ EV ล้วนแล้วแต่เกิดจากวิถีการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า จากปัญหาการใช้พลังงานภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และการใช้พลังงานที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินออกไปในส่วนที่เกี่ยวกับพลังงานเป็นมูลค่ามหาศาล เช่น มีการใช้น้ำมัน 100 ล้านลิตรต่อวัน มีการใช้ไฟฟ้ากว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้การลดใช้พลังงานเป็นวาระสำคัญของประเทศ ที่ให้ทุกภาคส่วนลดการใช้พลังงาน ขณะเดียวกัน ทาง พพ. ได้มีการเจรจากับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เช่น ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะสม


นอกจากนี้ ทาง พพ.เตรียมที่จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ในการขอจัดสรรวงเงินในกรอบของพระราชบัญญัติในแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งวงเงินดังกล่าวมีส่วนมาสนับสนุนโครงการอนุรักษ์พลังงานทดแทน โดย ธปท.จะปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 และธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนไปเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 ในช่วง 2 ปีแรก และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีถัดไปแต่ไม่เกินร้อยละ 5

"ตอนนี้หลายแบงก์มีนโยบายปล่อยสินเชื่อพลังงานสะอาด จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง ซึ่งทาง พพ.จะหารือกับ ธปท.และแบงก์ในสัปดาห์หน้า และกระบวนการทั้งหมดจะเริ่มชัดเจนน่าจะในเดือนพฤษภาคมนี้"

สำหรับในเรื่องเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการประหยัดพลังงานในระดับธุรกิจ ผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนั้น ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า ได้มีการใช้งบประมาณรวม 500 ล้านบาท ให้การสนับสนุนเงินลงทุน (20-30%) ในการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุน มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 900 ราย ส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 3,000 ล้านบาท ประหยัดพลังงาน 84 ktoe หรือกว่า 1,260 ล้านบาทต่อปี โดยผลการดำเนินงานของแต่ละโครงการ ประกอบด้วย


1.โครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 พพ.เข้าไปสนับสนุนค่าลงทุนบางส่วน 20-30% ให้แก่โรงงาน SMEs Startup ผู้ประกอบการภาคเกษตร วงเงินสนับสนุนรวม 378 ล้านบาท มีสถานประกอบการได้รับการสนับสนุน 457 ราย ก่อให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างน้อย 2,095 ล้านบาท ผลประหยัดที่จะเกิดขึ้น 20 ktoe หรือประหยัดได้เกือบ 1,000 ล้านบาท ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1.2 แสน tCO2

2.โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารสนับสนุนค่าลงทุน 30% มีผู้เข้าร่วม 21 ราย วงเงิน 20 ล้านบาท กระตุ้นเงินลงทุนกว่า 72 ล้านบาท

และ 3.โครงการสนับสนุนการใช้พลังงานในภาคครัวเรือน วงเงิน 103 ล้านบาท มีผู้ผ่านการพิจารณา 46 ราย เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในภาคความร้อน แบ่งเป็นชีวมวล 60 ktoe และก๊าซชีวภาพ 2 ktoe เทียบเท่ากับ 2.2 ต้นไม้สับต่อปี


สำหรับความคืบหน้าอาคารที่เข้าร่วมโครงการ อาคารอนุรักษ์พลังงาน มาตรฐาน Building Energy Code (BEC) ซึ่งจะบังคับใช้กับการออกแบบอาคารใหม่ หรือดัดแปลง ขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไปนั้น มีอาคารภาครัฐที่ผ่านการตรวจรับรองจำนวน 369 อาคาร และมีอาคารเอกชนที่สนใจ จำนวน 322 อาคาร รูปแบบอาคาร BEC จะกระทบต่อต้นทุนก่อสร้างเฉลี่ยไม่เกิน 5% คืนทุนภายใน 3 ปี เจ้าของอาคารและผู้ใช้อาคารจะจ่ายค่าไฟลดลง และประเทศไทยจะประหยัดพลังงานได้มากกว่า 10% มีเป้าหมายภายใน 20 ปี จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 47,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น