xs
xsm
sm
md
lg

กรรมการหุ้น TU สุมหัวอินไซด์ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศใช้มาตรการทางแพ่ง ลงโทษปรับกรรมการบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU พร้อมพวกรวม 9 คน ในความผิดการนำข้อมูลภายในใช้แสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น

ค่าปรับรวมกันทั้งหมดวงเงินเพียง 13.63 ล้านบาทเท่านั้น แต่ประเด็นที่สำคัญคือ การอินไซด์ หรือการใช้ข้อมูลภายในครั้งนี้มีกรรมการ TU ติดร่างแหถึง 6 คน หรือค่อนหนึ่งของกรรมการบริษัททั้งหมด

ผู้ที่ถูกลงโทษปรับทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายไกรสร จันศิริ ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ นายดิสพล จันศิริ นายชาน ฮอน กิต ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทในเครือ TU

นายชาน ติน ซู นางไฉ่ เหวียน จู นายชวน ตั้งจันสิริ ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ TU นางเฉิน อวี้ เจิน นายชาน ฮอน ฮุง และนางหุย ปุย หวา ซึ่งอาศัยข้อมูลภายในเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น หรือช่วยเหลือการกระทำความผิด

พฤติกรรมความผิดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 โดยนายไกรสร นายชาน ฮอน กิต และนายชวน ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2560 ของ TU ที่มีกำไรสุทธิจำนวน 1,736.84 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2560 ร้อยละ 23.07 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.93

และระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน 2560 นายไกรสร ได้ซื้อหุ้น TU โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายดิสพล (บุตรชาย) ขณะที่นายชาน ฮอน กิต ได้ซื้อหุ้น TU ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง และเปิดเผยข้อมูลภายในแก่นายชาน ติน ซู (บุตรชาย) และนางนางไฉ่ เหวียน จู (ภรรยา) ซึ่งนายชาน ติน ซู และนางไฉ่ เหวียน จู ได้นำข้อมูลภายในที่ได้รับไปใช้ซื้อหุ้น TU ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง

นอกจากนี้ นายชวน ได้ซื้อหุ้น TU ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางเฉิน อวี้ เจิน (เพื่อน) และบัญชีของอา เพื่อประโยชน์ของตนเองและอา รวมถึงเปิดเผยข้อมูลภายในแก่นายชาน ฮอน ฮุง (พี่ชาย) ซึ่งนายชาน ฮอน ฮุง ได้นำข้อมูลภายในที่ได้รับการเปิดเผยจากนายชวน ไปใช้ซื้อหุ้น TU ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง และได้เปิดเผยข้อมูลภายในแก่นางหุย ปุย หวา (ภรรยา) ซึ่งนางหุย ปุย หวา ได้นำข้อมูลภายในไปใช้ซื้อหุ้น

คดีอินไซด์หุ้น TU อาจไม่ใช่คดีใหญ่ที่มีค่าปรับจำนวนหลายร้อยล้านบาท หรือมีค่าปรับกว่า 2.3 พันล้านบาท เหมือนคดีปั่นหุ้น บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA แต่เป็นคดีที่กรรมการบริษัทส่วนใหญ่ร่วมกันเล่นโกง เอาเปรียบประชาชนทั่วไป แม้เงินที่ได้จากการเล่นโกงจะไม่มากมายนักก็ตาม

สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ไม่ได้ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล แต่พร้อมจะกระทำความผิดเพียงเพื่อผลประโยชน์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

TU เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ค่าพี/อี เรโชประมาณ 11 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทนประมาณ 5% ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง และอยู่ในความนิยมของนักลงทุน โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยประมาณ 28,841 คน มีกลุ่มนายไกรสร จันศิริ ถือหุ้นใหญ่

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 TU เพิ่งนำบริษัทลูก หรือบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หลังนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนครั้งแรกในราคา 13.50 บาท แต่ล่าสุดราคาปิดที่ 11.90 บาท ต่ำกว่าจองหุ้นละ 1.60 บาท

การถูก ก.ล.ต. ลงโทษในความผิดอินไซด์ โดยมีกรรมการบริษัทฯ ครึ่งค่อนถูกสั่งปรับและพักการเป็นกรรมการบริษัทในตลาดทุน จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของ TU โดยตรง

เพราะแม้จะเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แต่เมื่อกรรมกรรมบริษัทส่วนใหญ่และผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมหัวกันเอาเปรียบประชาชนนักลงทุนทั่วไป จะทำให้ TU กลายเป็นหุ้นที่ไม่น่าไว้วางใจ

เพราะเงินเพียงไม่กี่ล้านบาท กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ยังเสี่ยงกระทำผิดกฎหมาย และเล่นโกงนักลงทุน จึงไม่รู้ว่าการดำเนินงานภายในจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส และเบียดบังผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่

ค่าปรับจำนวน 13 ล้านบาทเศษ เป็นเงินเพียงก้อนเล็กๆ สำหรับกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ร่วมขบวนการอินไซด์หุ้นครั้งนี้ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาในการจ่ายเพื่อปิดคดี

แต่ปัญหาที่ไม่อาจกอบกู้คือมาไม่ได้คือ ความไม่น่าไว้วางใจในหุ้น TU

ปัจจัยพื้นฐานที่ดีของตัวหุ้นกำลังถูกลบล้างด้วยพฤติกรรมเอาเปรียบนักลงทุนของกรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ TU








กำลังโหลดความคิดเห็น