"ภากร" ลั่นเดินหน้าผลักดันตลาดทุนไทย ทันสมัยเท่าทันการลงทุนโลก พร้อมปรับโฉม Settrade Streaming ครั้งใหญ่ หวังดันซูเปอร์แอปเชื่อมโยงการลงทุนในทุกแพลตฟอร์ม ย้ำเป้าหมายเปิดบริการ TDX ไตรมาส 3/65 เชื่อมต่อผู้ให้บริการ-ผู้ลงทุน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในงานสัมมนา “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer” เดิมพันเปลี่ยนอนาคต ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าในการพัฒนาฟังก์ชันการใช้งานของแอปพลิเคชัน “เซ็ทเทรด” (Settrade Streaming) ให้เป็น SuperApp ที่สามารถเชื่อมต่อการลงทุนในทุกสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความต้องการของนักลงทุนได้อย่างครบวงจรในทุกแพลตฟอร์ม ทั้งหุ้น กองทุน อนุพันธ์ หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ดิจิทัลโทเคนที่จะเปิดให้บริการในอนาคต โดยปัจจุบัน Settrade Streaming ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์การลงทุนประเภทต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุน กองทุนรวมดัชนี (ETF) ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX)
ขณะที่ในไตรมาส 3 ของปี 2565 คาดว่า ตลท.จะสามารถเปิดตัวศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange : TDX) แพลตฟอร์มการลงทุนแบบเปิด (Open Platform) ที่จะเชื่อมโยงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการและผู้ลงทุน โดยเน้นโทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) และโทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token)
อย่างไรก็ตาม จากการที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากแรงหนุนที่ผู้ลงทุนเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัทผู้ระดมทุนต่างให้ความสนใจเข้ามาระดมทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่าตามราคาตลาด หรือมาร์เกตแคปประมาณ 1.79 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นอัตราแลกเปลี่ยนไทยที่ 60 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าเฉลี่ยของปริมาณการซื้อขายต่อวันล่าสุดที่ประมาณ 7.49 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท
"ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองภาพอนาคตว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Market) กับตลาดสินทรัพย์การลงทุนรูปแบบเดิม (Traditional Asset Market) จะยังเติบโตควบคู่กันไปในอนาคต เพราะตลาดทั้ง 2 แบบมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน โดยนักลงทุน และผู้ระดมทุนต่างมีจุดใช้ตลาดทุนที่ไม่เหมือนกัน ทั้งในแง่ความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละรายที่แตกต่างกัน รวมถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์และตราสารที่เหมาะสมกับการระดมทุนของธุรกิจ เช่น หากบริษัทหนึ่งที่ประกอบธุรกิจมานาน ต้องการระดมเงินทุนหลักแสนล้าน ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอาจยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งในแง่จำนวนผู้ลงทุนที่อาจจะต้องใช้มากรายเพื่อให้ได้เงินทุนครบตามจำนวนที่ต้องการ รวมถึงความเข้าใจของนักลงทุน ในทางกลับกัน หากบริษัทดังกล่าวระดมทุนผ่านการออกหุ้นใหม่ (IPO) เพื่อเสนอขายให้นักลงทุนสถาบันที่มีความเข้าใจในธุรกิจ โดยขายผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่าย (Underwriter) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ และมีหลักการควบคุมดูแลที่ชัดเจน อาจมีความเหมาะสมกว่า"
อย่างไรก็ดี สำหรับที่ต้องการระดมทุนในรูปแบบใหม่ เช่น บริษัทสตาร์อัปที่ก่อตั้งธุรกิจได้ไม่นาน แต่มีไอเดียในการทำธุรกิจ และต้องการระดมเงินทุนปริมาณไม่มาก ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอาจมีความเหมาะสมมากกว่า เพราะผู้ลงทุนในตลาดเป็นกลุ่มนักลงทุนที่แสวงหาความเสี่ยง รวมถึงสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าจากการเข้าถึงผู้ลงทุนได้มากกว่า สามารถทำได้ง่าย มีความยืดหยุ่นสูง ข้อจำกัดด้านเงื่อนไขที่มีน้อยกว่า