ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)(BAY) เผยกลยุทธ์กลุ่มงานลูกค้าธุรกิจ SME ในปี 2565 ยังคงเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้าธุรกิจ SME มุ่งสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของลูกค้าในทุกการก้าวผ่านสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยแผนกลยุทธ์ในการดูแลลูกค้า SME ผ่าน 3R ได้แก่ Resilient, Respond และ Rebuild for the Future โดยเน้นพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม อีกทั้งเดินหน้าเชื่อมต่ออาเซียนสร้างโอกาสธุรกิจเพื่อลูกค้า พร้อมเป็นพันธมิตรที่ลูกค้า SME ไว้วางใจ
น.ส.ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในปี 2564 กลุ่มธุรกิจลูกค้า SME ยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง ยอดสินเชื่อในธุรกิจ SME เติบโตกว่า 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นยอดสินเชื่อกว่า 280,000 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 กรุงศรีได้ดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบผ่านมาตรการเชิงรุกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เราได้ช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วกว่า 37,000 ราย เป็นยอดสินเชื่อรวมกว่า 180,000 ล้านบาท และเรายังคงเดินหน้าสนับสนุนลูกค้า SME ของเราต่อไปให้สามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ อีกทั้งเสริมช่องทางโอกาสธุรกิจและข้อมูลความรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจให้ลูกค้าอยู่เสมอ
"ในปีที่แล้วถือว่าเป็นอีกปีที่มีความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และธนาคารเองด้วยในการปรับตัวท่ามกลางสภาวะที่ยากลำบาก โดยได้มีการร่วมมือกับทั้งภาครัฐและสภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมในการให้องค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงความร่วมมือกับบริษัทในเครือออกหุ้นกู้คลาวด์ฟันดิ้ง เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการระดมทุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกด้วย"
สำหรับปี 2565 นี้ กรุงศรียังคงเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้าธุรกิจ SME ภายใต้แผนกลยุทธ์ในการดูแลลูกค้า SME ผ่าน 3R ได้แก่ Resilient, Respond และ Rebuild for the Future
โดย Resilient : มุ่งช่วยให้ธุรกิจลูกค้าฟื้นตัว โดยแบ่งการดูแลลูกค้าออกตามกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่างๆ ซึ่งในกลุ่มที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะมีผู้จัดการลูกค้าสัมพันธ์ของธนาคาร (Relationship Manager) ดูแลอย่างใกล้ชิด และมีมาตรการต่างๆ ในการช่วยสนับสนุนฟื้นฟูธุรกิจของลูกค้า และสำหรับกลุ่มที่พร้อมจะเติบโต ในวันที่เศรษฐกิจของไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
Respond : มุ่งตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้จัดการลูกค้าสัมพันธ์ของธนาคารจะเป็นที่ปรึกษาให้ลูกค้า สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในด้านการเงิน แนะนำโซลูชันที่เหมาะสมให้ลูกค้า และเพิ่มมูลค่าแก่ลูกค้าด้วยการแบ่งปันข้อมูล ความรู้ ทักษะใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้ลูกค้า
Rebuild for the Future : มุ่งช่วยให้ธุรกิจลูกค้าเติบโตในอนาคต โดยกรุงศรีร่วมสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าให้เติบโตไปด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 3 แนวทางหลักที่สอดคล้องไปกับทิศทางของกรุงศรีในการดูแลลูกค้าของธนาคาร อันได้แก่ ASEAN Connectivity หรือการเชื่อมโยงอาเซียน โดยประสานความร่วมมือกับ MUFG และเครือข่ายมาเสริมความแข็งแกร่งในการช่วยลูกค้าขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในด้านการขยายบริการธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศ และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ลูกค้าผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ทั้งงานสัมมนา หรือการจับคู่ธุรกิจ Trusted Partner หรือการเป็นพันธมิตรที่ลูกค้าไว้วางใจ พัฒนา Ecosystem ให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกค้าอย่างครบวงจร พร้อมพัฒนานวัตกรรมทางการเงินด้าน ESG เช่น สินเชื่อโซลาร์รูฟสำหรับผู้ประกอบการ และ Digital & Innovation หรือการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลและนวัตกรรม
ด้าน Digital & Innovation ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของกลุ่มธุรกิจ SME ในปีนี้ โดยมี 4 ผลิตภัณฑ์และบริการหลักที่เรามุ่งเน้น คือ 1.Krungsri Digital Supply Chain Solution คือ โซลูชันเพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจในกลุ่ม Supply Chain และช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ 2.Krungsri Biz Online หรือที่รู้จักกันในชื่อ KBOL ดิจิทัลแบงกิ้งเพื่อการทำธุรกรรมออนไลน์ของธุรกิจ โดยในปีนี้ KBOL ยังจะพัฒนาฟีเจอร์และบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลให้ลูกค้าธุรกิจของธนาคารกรุงศรี 3.“Krungsri iPro” นวัตกรรมทางการเงินเพื่อการเปิดบัญชีนิติบุคคลในยุคดิจิทัล ให้ลูกค้า SME ก้าวข้ามความยุ่งยากแบบเดิมๆ ด้วยเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกลูกค้า ลดขั้นตอนด้านเอกสาร สามารถนัดหมายวันเวลาเพื่อเปิดบัญชีได้ที่ออฟฟิศของลูกค้า พร้อมเปิดใช้งานบัญชีได้ทันที และ 4.“Krungsri Business Link” แพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจในการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สะดวกและน่าเชื่อถือด้วยการคัดกรองคู่ค้าจากกรุงศรีและพันธมิตร
"จุดแข็งของกรุงศรีนั้น เรามองที่ 3 จุดหลักๆ คือทีมงานที่แข็งแกร่ง มีความเข้าใจลูกค้า สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการได้อย่างตรงกับความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นในด้านการช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหา หรือต้องการลงทุนเพิ่ม รวมถึงเครือข่ายและองค์ความรู้ของ MUFG ก็เป็นอีกหนึ่งความแข็งแกร่งของธนาคารในการนำขยายธุรกิจและดูแลลูกค้า และอีกหนึ่งจุดแข็งของเราคือการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG อย่างต่อเนื่องทั้งด้านเงินทุนและองค์ความรู้ให้ลูกค้า"
ทั้งนี้ ในปี 2565 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ 2.5%จากยอดคงค้าง ณ สิ้นปีก่อนที่ 280,000 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทย จึงคาดการณ์ยอดคงค้างสินเชื่อ ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 287,000 บาท ขณะที่ยอดการขอเข้าโครงการความช่วยเหลือของลูกค้าน่าจะทยอยลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นขึ้น เช่นเดียวกับยอดสินเชื่อในไตรมาสแรกของปีนี้ที่มีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่องจากปลายปีก่อน ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้น่าจะทรงตัวหรือสูงกว่าจากปีก่อนที่ระดับ 4.2%ไม่มาก ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่คาดและเป็นระดับที่สามารถดูแลจัดการได้