xs
xsm
sm
md
lg

ACAP...ครบเครื่องเรื่องโกง / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศกล่าวโทษอดีตผู้บริหารบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP พร้อมพวกรวม 6 คน ในความผิดฐานทุจริต ซึ่งเป็นการตอกย้ำภาพลบของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้

ก่อนหน้า ACAP เคยมีคดีเบี้ยวหนี้หุ้นกู้จำนวนเกือบ 2,000 ล้านบาท โดยไม่ไถ่ถอนเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนด และไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ ทำให้นักลงทุนจำนวนมากเดือดร้อน จนต้องฟ้องร้อง โดยคดีอยู่ระหว่างเจรจาประนีประนอม

การที่อดีตผู้บริหารบริษัทถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษในความผิดทุจริต จึงเหมือนตะปูตัวสุดท้ายที่ตอกปิดฝาโลง ACAP ขณะที่ราคาหุ้นดิ่งลงต่อเนื่อง และไม่เห็นโอกาสฟื้น เพราะผลประกอบการขาดทุนหลายปีติดต่อโดยหุ้นถูกแขวนเครื่องหมาย “C” เนื่องจากมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน

สำหรับความผิดทุจริตที่ร้องต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ก.ล.ต.ระบุว่า น.ส.ณิชารดี สุขเจริญไกรศรี ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

น ส.พิมพ์วลัญช์ สุวัตถิกุล ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการบริหารบริษัท กระทำทุจริต แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากงานก่อสร้างกำแพงกั้นดินและท่อระบายน้ำ เป็นเหตุให้ ACAP ได้รับความเสียหาย 27.5 ล้านบาท

เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างปี 2561-2562 โดยกระทำผิดพร้อมพวกอีก 4 ราย ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ประกอบด้วย บริษัท ออลไรท์ เฮ้าส์ จำกัด นางกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์ บริษัท ไชอา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และนายธรายุ ลือเจียงคำ

ACAP ว่าจ้างให้บริษัท ออลไรท์ เฮ้าส์ จำกัด เป็นผู้ก่อสร้างกำแพงกั้นดินและท่อระบายน้ำ และให้บริษัท ไชอา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ต่อมาพบว่าไม่มีการก่อสร้างจริงตามสัญญา แต่ได้มีการจ่ายเงินค่าก่อสร้างไป ทำให้ ACAP ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่ารวม 27.5 ล้านบาท

หุ้น ACAP ควรจะดิ่งลงตั้งแต่ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เมื่อช่วงต้นปี 2563 แต่ราคากลับไม่ผันผวนมากนัก และถูกพยุงให้เคลื่อนไหวอยู่หลายบาท อย่างไรก็ตาม ปีนี้หุ้น ACAP ถูกถล่มจนทรุดลงต่อเนื่อง จนปิดเมื่อวันศุกร์ 11 มีนาคมที่ผ่านมาที่ราคา 89 สตางค์ ซึ่งข่าวการทุจริตของอดีตจผู้บริหารบริษัทอาจจุดชนวนให้เกิดการเทขายหุ้นอีกระลอก

โครงสร้างผู้ถือหุ้น ACAP ประกอบด้วย นางวารุณี ชินวงศ์วรกุล ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 24.79% ของทุนจดทะเบียน น.ส.ณิชารดี ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น น.ส.สุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ถือหุ้นในสัดส่วน 14.72% โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 3,540 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 60.49% ของทุนจดทะเบียน โดยผู้ถือหุ้นรายย่อยแทบทั้งหมด น่าจะติดหุ้นต้นทุนสูง

ACAP สร้างความเสียหายให้ทั้งนักลงทุนในหุ้นกู้ และนักลงทุนที่หลงเข้ามาซื้อหุ้น โดยผู้ถือหุ้นกู้แทบไม่มีโอกาสที่จะได้รับการไถ่ถอนหนี้ครบตามจำนวน เพราะฐานะการเงินบริษัทย่ำแย่ ขณะที่นักลงทุนที่แบกหุ้น ACAP ต้นทุนสูงไว้แทบไม่เห็นโอกาสถอนทุนคืน

เพราะบริษัทมีภาพลักษณ์ด้านลบ หุ้นขาดความน่าเชื่อถือ และผลประกอบการบริษัทตกต่ำ นักลงทุนทั่วไปคงไม่มีใครเข้ามาแตะหุ้น ACAP โดยมีแนวโน้มที่จะเป็นหุ้นตายซากอีกตัว

การกล่าวโทษคดีทุจริต ACAP ถือว่า ก.ล.ต.ทำงานอยู่ในเกณฑ์ที่รวดเร็ว เพราะใช้เวลารวบรวมหลักฐานเพียง 2-3 ปีเท่านั้น

แต่หลังจาก ก.ล.ต.กล่าวโทษต่อ ปอศ.ไปแล้ว คดีผู้บริหาร ACAP โกงคงเงียบหายไร้ร่องรอย เช่นเดียวกับคดีกล่าวผู้บริหารบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH คดีกล่าวโทษผู้บริหาร บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR

หรือคดีทุจริตในบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ไม่มีใครรู้ว่าคดีทุจริต EARTH คดีทุจริตใน POLAR คดีทุจริตใน IFEC และทำให้ประชาชนผู้ลงทุนนับหมื่นรายย่อยยับถึงขั้นหมดตัว กรมสอบสวนคดีพิเศษเอาคดีไปซุกไว้ที่ไหน หรือตัดตอนกันไปแล้ว เช่นเดียวกับการตัดตอนคดีปั่นหุ้นนับสิบคดีในยุคนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี

ผู้ถือหุ้นกู้และผู้ลงทุนหุ้น ACAP กำลังจับตาคดีทุจริตอยู่ เพราะอยากรู้ว่าผู้บริหารที่โกงและสร้างความเสียหายให้บริษัทนั้นชะตากรรมจะจบลงอย่างไร








กำลังโหลดความคิดเห็น