เอเซียพลัส เผยกำไรบจ. Q4/64 โต 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีหลัง หลังรับมือโอไมครอนได้ดี มั่นใจ Q1/65 ยังดีต่อเนื่อง อีกทั้งได้ราคาน้ำมันหนุน ดัน SET กลับ 1,700 จุด ได้อีกรอบ แนะ MINT - CENTEL - ERW - M - MAKRO ยังเป็นหุ้น Laggard ส่วนหุ้นเดือน มี.ค. ให้กรอบแนวต้าน 1,700 และ1,740 จุด แนวรับ 1,635 และ1,600 จุด แนะเลือกลงทุนหุ้นกลุ่มการแพทย์ - บริหารหนี้ ขณะที่ ปัญหายูเครน- รัสเซีย บล.ฟินันเซีย ประเมินหากลากยาว หุ้นกลุ่มอาหาร - อิเล็กฯ อ่วม เหตุสัดส่วนรายได้ในยุโรปสูง
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนในงวด Q4/64 ซึ่งฝ่ายวิจัยฯรวบรวมถึงวันที่ 28 ก.พ.65 จากการรายงานออกมาแล้ว 543 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วน 95% ของ Market Cap. รวม พบว่ามีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 2.75 แสนล้านบาท เติบโต 41% QoQ และ 50% YoY จากช่วง Q4/ 64 ถึงแม้ว่าบริษัทจดทะเบียนจะต้องรับมือวิกฤตโควิดโอไมครอนเป็นครั้งแรก แต่ก็สามารถและฟันฝ่าไปได้ด้วยดี
สำหรับปี 2565 นักวิเคราะห์มีมุมมองบวกต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ดีขึ้น จากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้น และยังมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันช่วงต้นปีเฉลี่ยยืนอยู่ในระดับสูงมาก 87 เหรียญต่อบาร์เรล สูงกว่าสมมุติฐานฝ่ายวิจัย 65 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งปกติราคาที่เกินสมมุติฐานทุกๆ 5 เหรียญ ช่วยหนุนกำไรบริษัทจดทะเบียนราว 1 บาทต่อหุ้น
ดังนั้นคาดกำไรบริษัทจดทะเบียนดีต่อเนื่องใน Q1/65 (ถือเป็น High Season ของหลายอุตสาหกรรม) ถือเป็นหนึ่งแรงพยุงใน SET Index กลับไปยืนเหนือ 1,700 ได้อีกครั้ง
ส่วนประเด็นเรื่อง การเจรจาระหว่างตัวแทนรัสเซียกับยูเครนรอบแรกจบลง และมีโอกาสที่จะเจรจากันต่อในรอบที่ 2 ในช่วงเวลาถัดไป สร้างความผ่อนคลายให้กับสินทรัพย์เสี่ยงและตลาดหุ้นชั่วคราว และน่าจะส่งผลดีต่อหุ้นบางกลุ่มให้มีโอกาสฟื้นตัว หลังถูกดันมานาน
ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯ จึงได้ค้นหาว่า ในเดือน ก.พ. 65 มีกลุ่มหุ้นอะไรที่ราคายัง Laggard ภาพรวมตลาดหรือ SET Index ที่ปรับตัวขึ้นมา +2.2% บ้าง พบว่า มีกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบ คือ PETRO -5.2%, AUTO -3.8%, TOURISM -3.5%, CONS -1.4%, PROP -0.5% และ FOOD ที่บวกเพียง 0.1% เป็นต้น
อย่างไรก็ดีในหุ้นกลุ่ม Laggard ดังกล่าว ฝ่ายวิจัยฯ เล็งเห็นว่ามีหุ้นบางกลุ่มที่ราคามีโอกาสรีบาวน์กลับได้เร็ว คือ กลุ่มท่องเที่ยว ด้วย 3 ปัจจัย ดังนี้ 1. ราคา Laggard กลุ่มอื่นๆ และตลาด 2. การเจรจารัสเซียกับยูเครนเริ่มต้นด้วยดี ส่งผลดีต่อธุรกิจในยุโรป และหุ้นท่องเที่ยว ซึ่งในภาวะปกติไทยมีนักท่องเที่ยวรัสเซียสัดส่วน 3.7% และ 3. วันที่ 1 มี.ค. นี้ เป็นวันแรกที่เปลี่ยนการตรวจโควิดนักท่องเที่ยวครั้งที่ 2 จาก RT-PCRเป็น ATK ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณความผ่อนคลายที่ดี โดยหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสะสมในช่วงนี้ แนะนำ MINT,CENTEL, ERW
ทรีนีตี้ คาด SET มี.ค. ให้กรอบแนวต้าน 1,700 และ 1,740 จุด
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ประเมินภาพตลาดหุ้นไทย เดือนมี.ค.65 เคลื่อนไหวไปตามพัฒนาการของ 4 ปัจจัยหลัก ทั้งนี้มองกรอบแนวต้านของดัชนีในเดือนนี้ที่ระดับ 1,700 จุด และ1,740 จุด ซึ่งระดับ 1,740 จุดนี้ถือเป็นระดับที่ยืดสุดแล้วตามวิธีคำนวณด้วยโมเดล Earning yield gap ในขณะเดียวกัน มองกรอบแนวรับที่น่าสนใจของดัชนีสำหรับการเพิ่มน้ำหนักที่ระดับ 1,635 จุด และ1,600 จุดตามลำดับ
เผย 4 ปัจจัยมีอิทธิผลต่อหุ้นไทยเดือนนี้
สำหรับ 4 ปัจจัยใหญ่ที่จะมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทย ได้แก่
1. ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) ระหว่างรัสเซียและยูเครน ประเมินตราบใดที่ปัจจัยดังกล่าวยังยืดเยื้อและลากยาวออกไปจะเป็นผลบวกทางอ้อมต่อตลาดหุ้นไทยที่จะเห็น Fund flow ไหลเข้าเพื่อหลบภัยในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 2 ฝ่ายหาข้อตกลงร่วมกันได้ คาดว่าจะเห็น Fund flow ไหลย้อนกลับไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวอย่างมากก่อนหน้านี้ เช่น ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นต้น
2. แนวนโยบายการเงินของ Fed โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการประชุม FOMC ในวันที่ 15-16 มี.ค.นี้ หากในที่ประชุมดังกล่าว Fed มีมติขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% คาดว่าตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงบวกในระยะสั้นได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่ในราคาไปหมดแล้ว แต่หาก Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50% เพื่อยับยั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ประเมินจะเป็น Negative surprise ต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น ผ่านการปรับสูงขึ้นของ Bond yield แบบฉับพลัน เนื่องจาก ณ ขณะนี้ตลาด Price in ปัจจัยดังกล่าวไปเพียงแค่ 7% เท่านั้น อย่างไรก็ดี มองประเด็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% จะมีผลต่อตลาดหุ้นในลักษณะ “เจ็บแล้วจบ” ซึ่งจะถือเป็นเรื่องดีต่อภาพตลาดหุ้นในระยะกลางได้
3. พัฒนาการของเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่วนหนึ่งอิงอยู่กับสถานการณ์ Covid ในประเทศที่ล่าสุดยังคงเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับสูง มองประเด็นดังกล่าวเมื่อมาประกอบกับแรงส่งของนโยบายภาครัฐที่ลดลง และระดับราคาสินค้าโดยรวมที่อยู่สูง จะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนทยอยลดลงได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีนักต่อกลุ่ม Domestic consumption โดยรวม สอดคล้องกับดัชนี Mobility ปัจจุบันที่บ่งชี้ว่าคนเริ่มออกมาดำเนินชีวิตและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านในระดับต่ำอีกครั้ง รวมถึงรายงานของธปท.ล่าสุด ที่เริ่มบ่งชี้ถึงสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว มองปัจจัยนี้จะมีผลโดยตรงต่อ EPS ของ SET ในช่วงถัดไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก ธนาคาร และกลุ่ม Consumer discretionary ต่างๆ และมีโอกาสกระทบกับระดับเป้าหมายของ SET ในท้ายที่สุด และ
4. ความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจถูกถอดออกจากการคำนวณดัชนี MSCI Emerging Market (MSCI EM) ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะทำให้เห็นเม็ดเงิน Fund flow ไหลเข้าสู่ประเทศ EM อื่นๆได้ ซึ่งไทยเราถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยจากการคำนวณของทรีนีตี้ล่าสุดพบว่า หากเกิดกรณีดังกล่าว น้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI EM นี้จะขยับสูงขึ้นจาก 1.85% สู่ระดับ 1.89% คิดเป็นเม็ดเงินไหลเข้าราว 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4,600 ล้านบาท หากอิงกับเม็ดเงินลงทุนที่อิงอยู่กับดัชนี MSCI EM ราว 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับกลุ่มหุ้นแนะนำประจำเดือนนี้ ยังคงเน้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนไปยังกลุ่ม Defensive ที่มี Alpha เฉพาะตัว เหมาะกับการเลือก Selective ในช่วงเวลาที่ Valuation ของดัชนีอยู่ในโซนสูง และยังมีความไม่แน่นอนของปัจจัยรอบด้านอยู่ คือกลุ่มการแพทย์ (Healthcare) และกลุ่มบริหารหนี้ (AMC) ซึ่งในส่วนของกลุ่ม Healthcare นั้น เลือก BDMS, BCH, CHG, IMH และกลุ่ม AMC เลือก BAM, JMT, CHAYO
ฟินันเซีย เปิดลิสต์ หุ้นเสี่ยงรับปัญหายูเครนลากยาว
ด้าน บทวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มหุ้นไทย ที่เสี่ยงถูกกระทบหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนลากยาว และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในยูโรโซนให้ชะลอตัว แม้ว่าคณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายได้จัดการเจรจาโดยตรงเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงร่วมกันได้ส่วนการเจรจารอบต่อไปจะมีขึ้นที่ชายแดนเบลารุสและโปแลนด์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
โดยหุ้นที่มีสัดส่วนรายได้ในยุโรปสูงไปต่ำ ได้แก่ XO 80% NRF 30% TU 28% SAPPE 8% ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์คือ KCE 65% DELTA 26% HANA 10-15% โดยต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนเดือน มี.ค. ประเมินว่าตลาดจะมีความผันผวนสูงโดยมีปัจจัยหลักคือสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และธนาคารกงสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก ซึ่งหากกรณีไม่เกิดสงครามลุกลาม SET Index จะไม่หลุดแนวรับหลัก 1,660 จุด และมีปัจจัยผลักดันคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สอดคล้องกับกำไรบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มฟื้นตัวใน Q4/64 และต่อเนื่องปี 65
อย่างไรก็ตามจากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างประเทศ จึงเน้นลงทุนในกลุ่ม Value และ Domestic Play โดยเลือก Top Pick เดือนนี้ ได้แก่ BDMS CPALL - OSP - PJW - TOP