ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รายงาน การใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง ผู้กระทำผิดการใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น หรือ อินไซเดอร์เทรดดิ้ง หุ้นบริษัท พลาสติค และ หีบห่อ จำกัด (มหาชน) หรือ TPAC และ TPAC-W1 จำนวน 12 ราย โดยปรับเป็นเงินรวม 12.81 ล้านบาท หลังจากการกระทำความผิดผ่านพ้นมาแล้วเกือบ 7 ปี
อินไซเดอร์เทรดดิ้ง 12 รายประกอบด้วยนายทักษะ บุษยโภคะ อดีตประธานกรรมการบริหารของ บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MODERN นายชัชชัย ธรรมารุ่งเรือง อดีตรองประธานกรรมการและกรรมการบริหาร นายกวีวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีตกรรมการของ MODERN
นายราเมซ กุมาร นาซิงปุระ อดีตกรรมการบริษัทในเครือของกลุ่ม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ IVL นาย Ashok Jain นางสาวธัญธร ตันติธรรม นาย Alexandru Erhan นาย Anish Goyal นายธนรรถ บุษยโภคะ นางสาวเบญจมาศ ธรรมารุ่งเรือง นางสาวอนุตรีย์ เนื่องจำนงค์ และนางสาวพีรกานต์ เนื่องจำนงค์
นายทักษะ นายชัชชัย และนายกวีวุฒิ นายราเมซ และพนักงานของ IVL จำนวน 4 ราย ประกอบด้วยนาย Ashok นางสาวธัญธร นาย Alexandru และนาย Anish ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับการตกลงซื้อขายหลักทรัพย์ TPAC ระหว่าง MODERN ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TPAC กับกลุ่มตระกูลโลเฮีย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ IVL
และทำให้กลุ่มตระกูลโลเฮียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของ TPAC โดยกำหนดราคาซื้อสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น
ระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม – 8 ตุลาคม 2558 นายทักษะได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายธนรรถ และได้เปิดเผยข้อมูลภายในแก่นายธนรรถซึ่งได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์โดยซื้อขายหลักทรัพย์ TPAC นายชัชชัยได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวเบญจมาศ
และนายกวีวุฒิได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวอนุตรีย์และนางสาวพีรกานต์ ขณะที่นายราเมซ นาย Ashok นางสาวธัญธร และนาย Anish ได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง และนาย Alexandru ได้ซื้อหุ้น TPAC และ TPAC-W1 ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ก่อนหน้า TPAC เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 12 ตุลาคม 2558
พฤติกรรมการกระทำผิด เกิดขึ้นมาแล้วเกือบ 7 ปี แต่ ก.ล.ต.เพิ่งสั่งลงโทษปรับ ทำให้เกิดคำถามว่า เพราะเหตุใดคดีนี้จึงใช้เวลาสรุปสำนวนยาวนานมาก
กระบวนการตรวจสอบ รวบรวมข้อมูลหลักฐาน และพิจารณามาตรการลงโทษ กรณีอินไซด์หุ้น TPAC ไม่น่าจะเกิน 2 ปี เช่นเดียวกับความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้นคดีอื่น โดยเฉพาะคดีปั่นหุ้น ซึ่ง ก.ล.ต. ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 5 ปี จึงสรุปสำนวนร้องทุกข์กล่าวโทษ
ความล่าใช้ในการลงโทษหรือกล่าวโทษคดีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ทำให้กระบวนการปราบปราม กำจัด หรือดำเนินคดีความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้น ไม่เด็ดขาด ฉับไว และไม่ทันต่อสถานการณ์
มีความพยายามปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบ รวบรวมหลักฐาน เพื่อให้การลงโทษหรือกล่าวโทษคดีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ ให้มีประสิทธิภาพ ภายในเวลาที่รวดเร็วขึ้น แต่สุดท้าย การกล่าวโทษหรือการลงโทษผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยังอืดอาดล่าช้าเหมือนเดิม โดยสาธารณชนไม่เข้าใจว่า ก.ล.ต.มีปัญหาอะไร การทำงานติดขัดในขั้นตอนไหน
สำหรับคดีหุ้น TPAC แม้การพิจารณาลงโทษจะมีกระบวนการที่ล่าช้า แต้สุดท้ายอินไซเดอร์ทั้ง 12 คนก็ถูกลงโทษ ซึ่งแต่ละคนมีฐานะสำคัญในบริษัทจดทะเบียน มีฐานะความมั่งคั่ง โดยเป็นทั้งผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียน และน่าจะตระหนักถึงชื่อเสียง ไม่ควรหากินกับเงินเพียงเล็กน้อย
แต่การขาดความสำนึกในหลักธรรมาภิบาล ความโลภและการเห็นแก่ได้ จึงก่อคดีขึ้นมา
โทษปรับจำนวน 12 ล้านบาท ไม่ใช่เงินจำนวนมากของอินไซเดอร์แก๊งนี้ แต่ชื่อเสียงที่ถูกประจานสู่สาธารณชน เป็นโทษหนัก และไม่คุ้มกับการใช้อินไซด์เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป