xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ สปีดปั้นโมเดลธุรกิจใหม่ หวังก้าวข้ามโควิด เซอร์ไพรส์! ม.ค.ยอดเปิดโครงการใหม่โต 441%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่ผ่านมากลับมาเติบโตที่ 1.6% ที่ได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกที่ดีขึ้น มาตรการผ่อนคลายการควบคุมโรคและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวหลังเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำและยังต้องอาศัยมาตรการต่างๆ ในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 เติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงทั้งในเรื่องของการระบาดของโอมิครอน ที่แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะไม่สูง แต่ระดับผู้ติดเชื้อเกินกว่า 10,000 คนต่อวันเป็นตัวแปรที่สำคัญ ทำให้ภาครัฐเริ่มที่จะบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโอมิครอน

ทั้งนี้ ภาพที่สำนักวิจัยทางด้านเศรษฐกิจโดย EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มองในปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอัตราเร่งขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 3.2% ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ทั้งภายในและนอกประเทศ แต่ยังมีความกังวลในครึ่งแรกของปีนี้เกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโอมิครอน และการเพิ่มขึ้นอย่างของเงินเฟ้อ จะกลายเป็นปัจจัย "ฉุดรั้ง" การใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน แต่ในครึ่งหลังของปี 65 ภาพรวมเศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวได้ จากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่การส่งออกสินค้าจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

ในขณะที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2564 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทุกรายได้เร่งปรับกลยุทธ์ในทุกๆ มิติให้รวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสปีดขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจเพื่อสุขภาพ ธุรกิจที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขยายพอร์ตในกลุ่มหมวดขนส่งสินค้าและคลังสินค้า ขณะที่ในเรื่องของธุรกิจอสังหาฯ เน้นการบริหารต้นทุน บริหารการขาย รักษาและเพิ่มสภาพคล่อง ลดขนาดการเปิดโครงการเพื่อให้ปิดการขายได้เร็ว เน้นโครงการใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดโครงการแนวราบอย่างหนัก โดยเฉพาะโครงการตามรอบนอกกรุงเทพฯ ส่งผลให้ภาพรวมตลาดแนวราบมีส่วนแบ่ง (มาร์เกตแชร์) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดคอนโดมิเนียม มาอยู่ระดับเกินกว่า 55% และแนวโน้มจะยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ต่อเนื่องใน 1-2 ปี เนื่องจากแรงกดดันจากการระบาดของโควิดได้เข้ามาดิสรัปชันต่อความต้องการมีที่อยู่อาศัยของผู้ซื้อที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี การพ้นจุดต่ำสุดของตลาดอสังหาฯ รวมถึงตลาดคอนโดฯ ในปีที่ผ่านมาเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ "เริ่มจะกลับมาขับเคลื่อนการลงทุนใหม่" ในปี 65 อีกครั้ง ภายใต้บริบทใหม่ที่มีเป้าหมายสำคัญของแผนการทำธุรกิจที่ก้าวไปสู่ความ "ยั่งยืน"

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ
เซอร์ไพรส์! LPN ระบุตลาดอสังหาฯ ม.ค.เปิดใหม่เพิ่มขึ้น 441%

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ได้วิเคราะห์ถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปีนี้ว่าน่าจะมีแนวโน้มเติบโตประมาณ 5-10% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในเดือนมกราคม 2565 โครงการอาคารชุดและบ้านพักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งหมด 7,450 ยูนิต เพิ่มขึ้น 441% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นมูลค่ารวม 27,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 247% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2564

“การเปิดตัวโครงการเพิ่มขึ้นในเดือน ม.ค.เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 64 เป็นผลมาจากผู้ประกอบการอสังหาฯ ได้มีการชะลอแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงปลายปี 64 ผลจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และในช่วงเดือนมกราคม 64 มีการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้การเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวมีไม่มากนัก ประกอบกับจำนวนสินค้าคงเหลือพร้อมขายในตลาดลดลง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งเปิดตัวโครงการใหม่ เพื่อกระตุ้นยอดขายและเพิ่มสินค้าเข้ามาในตลาด”

การเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในเดือนมกราคม 65 เป็นการเปิดตัวโครงการอาคารชุดพักอาศัย จำนวน 7 โครงการ จำนวน 5,635 หน่วย เพิ่มขึ้น 1,242% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 คิดเป็นมูลค่ารวม 18,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 435% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 64 โดยมีอัตราการขายเฉลี่ย ณ วันเปิดตัวโครงการอยู่ที่ 20% ซึ่งสูงกว่าอัตราการขายเฉลี่ย ณ วันเปิดตัวในเดือนมกราคม 64 ที่อยู่ที่ 8% ซึ่งเป็นการเปิดตัวโครงการอาคารชุดพักอาศัยที่ใกล้เคียงกับหน่วยเปิดตัวในเดือนมกราคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด โดยระดับราคาอาคารชุดพักอาศัยที่เปิดตัวมากสุดอยู่ที่ระดับราคา 2-3 ล้านบาท คิดเป็น 42.2% ของการเปิดตัวโครงการอาคารชุดพักอาศัยทั้งหมด


ม.ค.เปิดโครงการแนวราบเกือบ 9,000 ล้านบาท

ในขณะที่การเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เดือนมกราคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ โดย 7 โครงการเป็นโครงการที่ระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และมี 1 โครงการที่มีระดับราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทต่อหน่วย โดยมีจำนวนหน่วยเปิดตัวทั้งสิ้น 1,815 หน่วย เพิ่มขึ้น 89% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 คิดเป็นมูลค่าการเปิดตัวบ้านพักอาศัยในเดือนมกราคม 2565 มูลค่า 8,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 โดยบ้านเดี่ยวที่มีระดับราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทมีจำนวนหน่วยเปิดตัวและมูลค่าสูงสุด เมื่อเทียบกับบ้านแฝดและทาวน์เฮาส์ โดยมีอัตราการขายเฉลี่ย ณ วันเปิดตัวโครงการอยู่ที่ 10% ใกล้เคียงกับเดือนมกราคม ปี 2564

และจากการรวบรวมแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 17 บริษัทในปี 2565 พบว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง 17 แห่งมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลไม่น้อยกว่า 329 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 438,120 ล้านบาท ไม่น้อยกว่า 60% เป็นโครงการบ้านพักอาศัย

“ผู้ประกอบการอสังหาฯ เริ่มมั่นใจว่าตลาดอสังหาฯ จะฟื้นตัวในปี 2565 และได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2564 ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2565 ที่จะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 3.5-4% ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒน์ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ เริ่มทยอยลงทุน และนำโครงการที่ชะลอแผนเปิดตัวโครงการในปี 2564 มาเปิดตัวโครงการในปี 2565 เพื่อเพิ่มยอดขาย และทดแทนสินค้าคงเหลือที่มีแนวโน้มลดลง” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

REIC คาดมูลค่าโอนปีนี้แตะ 9.09 แสนล้านบาท

ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารฯ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ปีนี้จะอยู่ภายใต้ 8 ตัวแปรหลัก คือ อัตราการขยายตัวของ GDP อัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ย MRR ผลกระทบเชิงนโยบายและสถานการณ์ที่สำคัญ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อัตราดูดซับบ้านจัดสรร อัตราดูดซับอาคารชุดกรุงเทพฯ และปริมณฑล และอัตราดูดซับบ้านจัดสรร อัตราดูดซับอาคารชุดในส่วนของภูมิภาคตามลำดับ โดยอุปทานปีนี้จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งในเรื่องของหน่วยการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินประมาณ 85,538 หน่วย เพิ่มขึ้น 28% จะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนประมาณ105,307 หน่วย เพิ่มขึ้น 35.3%

สำหรับข้อมูลด้านอุปสงค์ซึ่งหมายถึงกำลังซื้อนั้น ศูนย์ข้อมูลฯ ชี้ว่า "ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน" หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ 332,192 เพิ่มขึ้น 25.1% การโอนกรรมสิทธิ์แนวราบเพิ่มขึ้น 24.6% การโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดเพิ่มขึ้น 26.1% มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ปี 65 ประมาณ 909,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3%

พฤกษามุ่งมิติ สร้างความเข้มแข็ง Synergy ธุรกิจ "อสังหาฯ-รพ." ตอบโจทย์ยุคโควิด

นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) คนใหม่ กล่าวถึงเชิงกลยุทธ์การก้าวไปข้างหน้าของบริษัทพฤกษาฯ ว่า เรามุ่งในเรื่องสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทิศทางธุรกิจของพฤกษาในปี 2565 ที่จะเกิดขึ้นวางไว้ 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

1.ปรับ Portfolio มุ่งลดสินค้าคงค้างลง ส่งผลให้ระดับหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนของพฤกษา อยู่ในฐานะการเงินที่แข็งแกร่งระดับ 0.36 เท่า เป็นตัวเลขที่ต่ำพอควร นั่นหมายความว่า เรามีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน มีกระแสเงินสดประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งข้อดีส่วนนี้สามารถนำมาเสริมพอร์ตต่อกลยุทธ์ของเรา

2.เสริมแกร่งธุรกิจหลัก ด้วยการจัดสรรที่ดินในมือ 157 ผืน มูลค่าถึง 15,400 ล้านบาท บริหารโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างการพัฒนา 145 โครงการ มูลค่าเกือบ 80,000 ล้านบาท และมียูนิตพร้อมอยู่ที่พร้อมแปลงเป็นรายได้ 2,300 ยูนิต

3.การประสานความร่วมมือ (Synergy) ใน 2 ธุรกิจหลักของพฤกษา ทั้งธุรกิจอสังหาฯ และโรงพยาบาลวิมุตในเครือเอง โดยจะปรับสินค้าและบริการให้ตรงกับพฤติกรรมของลูกค้าที่ถูกกระทบจากโควิด-19 การออกแบบฟังก์ชันใหม่ๆ และเสริมเรื่องสุขภาพเข้าไป ขณะเดียวกัน ยังเปิดให้บริการศูนย์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัยในโครงการ

และสุดท้ายได้แก่ (4) การสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการนำนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ตามหลัก ESG และการลงทุนใน Corporate Venture Fund วงเงิน 3,500 ล้านบาท เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

'เฟรเซอร์ส โฮม' ชู 4 กลยุทธ์สู่การเติบโตที่ยั่งยืน

นายแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มธุรกิจอสังหาฯ เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กลุ่มธุรกิจของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปีนี้ว่า หากสำรวจความต้องการในตลาดที่อยู่อาศัยกลับพบคนยังต้องการบ้าน โดยเฉพาะบ้านแนวราบ ทั้งทาวน์โฮม และบ้านเดี่ยว ซึ่งในปีนี้ บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดทาวน์โฮมที่ทำตลาดกับกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลางได้รับผลกระทบจากเรื่องของโควิด เศรษฐกิจ และหนี้ครัวเรือนที่สูง ส่งผลให้ตัวเลขปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินสูงขึ้น ดังนั้น ในปีนี้เฟรเซอร์ส โฮม มาปรับเพิ่มสัดส่วนเซกเมนต์บ้านเดี่ยวระดับบน

ซึ่งในปีนี้ทางบริษัทฯ ได้วางเป้าที่จะมีการเปิดโครงการใหม่ 25 โครงการ มูลค่า 29,500 ล้านบาท โดยโครงการบ้านเดี่ยวมีสัดส่วนของ City Home โครงการใหม่ใจกลางเมือง คือ โครงการเดอะ แกรนด์ วิภาวดี 60 พร้อมเพิ่มสินค้าระดับซูเปอร์ลักชัวรี แบรนด์ The Royal Residence เป็นกลยุทธ์การรุกตลาดแนวราบของบริษัทมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การจะเข้าสู่ความยั่งยืนนั้น นายแสนผิน ได้เน้นย้ำใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.Land Bank Development บริษัทมีความได้เปรียบในเรื่องการนำที่ดินเดิมที่ซื้อไว้แล้วมาพัฒนา เพื่อลดความเสี่ยงในการที่มูลค่าของที่ดินเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ ประมาณ 90% ใช้ที่ดินเดิมมาพัฒนาโครงการ ยกเว้นตลาดอสังหาฯ ต่างจังหวัดที่ต้องลงทุนซื้อที่ดินเพิ่ม

"ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินปรับขึ้นมาตลอด แพงเกินไป ผู้ประกอบการรายใหม่คงชะลอการซื้อดิน ส่วนผู้ประกอบการเก่าอาจต้องฝืนเปิดโครงการ ซื้อที่ดินเข้ามาพัฒนาซึ่งอาจทำให้มาร์จิ้นลดลง แต่เฟรเซอร์ส โฮม ปีนี้ เราจะแข่งขันในเรื่องต้นทุนของราคาที่ดินเดิม"

2.Portfolio Diversification การกระจายพอร์ตสินค้า เพิ่มแบรนด์ให้หลากหลาย และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์

3.Quality พัฒนาและรักษามาตรฐานการก่อสร้างในทุกโครงการ และ 4.Technology พัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ HOME+ (โฮมพลัส) ที่จะชวนทุกคนมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ และเพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำของดีไซน์ในโครงการแนวราบและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า อย่างเช่น บ้านเดี่ยวราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ที่จะมีสระว่ายน้ำส่วนตัว หรือ Spa & Endless Pool ที่มาพร้อมกับระบบคลื่นว่ายน้ำทวนกระแส สามารถออกกำลังกายเบาๆ และยังสามารถใช้กระแสน้ำนวดผ่อนคลายแบบสปาได้อีกด้วย


เครือ ORI สร้างความมั่นคงรายได้ประจำ
สปีดเร็ว เทกฯ 'ไอบิส' 3 แห่ง-บุกหัวเมืองท่องเที่ยว


บริษัท ออริจิ้น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทอสังหาฯ ที่พยายามก้าวข้ามไปสู่การเป็นบริษัทอสังหาฯ ชั้นนำที่มีความหลากหลายของธุรกิจ ซึ่งเราจะเห็นภาพการเติมจิ๊กซอว์ทางธุรกิจใหม่ๆ เข้าเสริมสร้างอาณาจักรออริจิ้นฯ

ซึ่งดีลล่าสุดที่จบลงและประกาศออกมาแล้ว คือ บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำในเครือออริจิ้นฯ ได้เดินหน้าตามแผนโรดแมปการสร้าง Recurring Income โดยบริษัทได้เข้าซื้อกิจการโรงแรมแบรนด์ “ไอบิส” (ibis) โรงแรมระดับบัดเจ็ต โฮเทล ภายใต้เชนแอคคอร์ (Accor) จำนวน 3 แห่ง จำนวนห้องพักรวม 664 ห้อง จากบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW หนึ่งในผู้นำธุรกิจการลงทุน พัฒนา และบริหารโรงแรมและรีสอร์ตในประเทศไทยและอาเซียน โดยบริษัทจะเข้าไปบริหารจัดการโรงแรมทั้ง 3 แห่งภายในวันที่ 1 พ.ค.65

นายปิติพงษ์ ไตรนุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด กล่าวว่า “การเข้าลงทุนในโรงแรมแบรนด์ไอบิสทั้ง 3 แห่งนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้วัน ออริจิ้น เติบโตอย่างรวดเร็วในหลากหลายด้าน ได้แก่ การเพิ่มจำนวนโครงการที่สามารถรับรู้รายได้ทันทีอย่างรวดเร็ว เพิ่มพอร์ตฟอลิโอในเซกเมนต์ใหม่อย่างกลุ่มบัตเจ็ต โฮเทล และเพิ่มโอกาสการบุกหัวเมืองท่องเที่ยว ที่เป็นทำเลแม่เหล็กที่มีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างภูเก็ต หัวหิน และกระบี่ จากเดิมที่เราเน้นพัฒนาโครงการแถบกรุงเทพฯ และอีอีซี”

LPN ปรับโครงสร้างองค์กร รองรับธุรกิจ Turnaround

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวถึงยุทธศาสตร์ 3 ปีของบริษัท (2564-2566) ว่า จะขับเคลื่อนองค์กรให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน (Turnaround) โดยในปีนี้ เดินหน้าปรับโครงสร้างภายใน และปรับแผนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับเปลี่ยนแผนจาก 3 ปี เป็น 5 ปี นับเริ่มต้นในปี 2565-2569 ซึ่งยังคงเป้าหมายการเติบโต ทั้งด้านรายได้ กำไร ผ่านการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพโดยการใช้ข้อมูล (Big Data) มาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า (Customer Insight) เพื่อการพัฒนาทั้งบ้านพักอาศัย และอาคารชุดพักอาศัยให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าในทุกมิติ

"การเปิดตัวโครงการในปี 2565 จำนวน 16 โครงการ มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท เป็นโครงการอาคารชุดพักอาศัย 5 โครงการมูลค่า 7,000 ล้านบาท เน้นความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กระจายไปในทำเลต่างๆ หลากหลายทำเล และโครงการบ้านพักอาศัยระดับราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท จำนวน 10 โครงการ มูลค่า 3,300 ล้านบาท และโครงการบ้านพักอาศัยระดับราคาเกิน 10 ล้านบาท 1 โครงการ มูลค่า 700 ล้านบาท โดยมีงบลงทุนซื้อที่ดิน 4,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในปี 2565-2566"

และภายใต้แนวคิดดังกล่าว บริษัทวางแผนการพัฒนาโครงการใหม่ตั้งแต่ปี 2565-2569 จำนวนไม่น้อยกว่า 70 โครงการ มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ยอดขายรวมสะสม 5 ปี ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท โดยบริษัทมีเป้าหมายยอดขายในปี 2565 ที่ 13,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับยอดขายที่ 8,900 ล้านบาท ในปี 2564


กำลังโหลดความคิดเห็น