xs
xsm
sm
md
lg

อินเวสทรีเปิดกลยุทธ์ปี 65 ตั้งเป้าออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิ้งกว่า 1,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




อินเวสทรีเปิดแผนธุรกิจปี 2565 ขยายสู่ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก 'SMEs นักลงทุน และพันธมิตร' มุ่งร่วมแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพสำหรับ SMEs พร้อมเพิ่มโอกาสสร้างรายได้แก่นักลงทุนรายย่อย ด้วยรูปแบบการลงทุนที่ผันผวนน้อยกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น ตั้งเป้าขยายมูลค่าหุ้นกู้ที่ 1 พันล้านบาท จากปีนี้ที่ 221 ล้านบาท

น.ส.ณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด
กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทเติบโตก้าวกระโดดมากกว่า 300 เท่า โดยมีมูลค่าหุ้นกู้รวมทั้งสิ้นกว่า 221 ล้านบาท คิดเป็น 16% ของมูลค่าตลาดรวม 1,391 ล้านบาท และ 29% ของจำนวนบริษัทที่ออกหุ้นกู้ 140 บริษัท มีนักลงทุนที่เข้าใจความเสี่ยงของ SMEs และต้องการช่วย SMEs เพิ่มขึ้นจาก 38 รายเป็น 269 ราย โดยอัตราเฉลี่ยของผลตอบแทนที่ได้รับคือ 11% พร้อมกันนั้น ยังได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลายทั้งกลุ่มที่มี supply chain ขนาดใหญ่ เช่น เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เซ็นทรัล รีเทล (CRC) ในโครงการจับมือพันธมิตรฝ่าวิกฤตโควิดด้วยแผนช่วยเหลือคู่ค้าและผู้ประกอบการ หาแหล่งเงินทุนเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจที่มากกว่า 50% เป็น SMEs มีผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคู่ค้าของกลุ่มเซ็นทรัลมาออกหุ้นกู้กับบริษัทประมาณ 20 ล้านบาท

"ถึงแม้มูลค่าหุ้นกู้ที่เราออกจะราคาไม่สูงนัก แต่ถ้าดูเปอร์เซ็นต์จำนวนบริษัทที่มาออกหุ้นกู้กับเราจะเห็นชัดเจนว่าเราช่วย SME ที่ต้องการต่อลมหายใจธุรกิจจริงๆ โดยเฉพาะรายย่อยมากๆ ที่ต้องการทุนไปหมุนเวียนในจังหวะที่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งมีทั้งการขอออกหุ้นกู้ซ้ำจาก SME รายเดิม 75% และรายใหม่อีก 25% เราเชื่อมั่นว่าทุกๆ คนมีโอกาสเติบโต หรือ Everyone Can Grow ดังนั้น ไม่ควรจะมีใครต้องล้มไปจากความตั้งใจในการทำธุรกิจเพียงเพราะขาดทุนหมุนเวียน ที่ผ่านมาเราช่วยเหลือ SMEs ไปแล้วกว่า 40 บริษัท ซึ่งมีพนักงานรวมแล้วมากกว่า 400 รายเลยทีเดียว"

สำหรับปีนี้บริษัทจะต่อยอดและขยายธุรกิจไปสู่ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก นั่นคือ SMEs นักลงทุน และพันธมิตรมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าจะขยายมูลค่าหุ้นกู้ที่เราออกประมาณ 5 เท่าหรือกว่า 1,000 ล้านบาท ขยายจำนวนนักลงทุน 8 เท่า หรือให้มากกว่า 320 ราย ซึ่งจะมีทั้งนักลงทุนสถาบันที่อยู่ระหว่างการลงทะเบียน และกองทุนต่างประเทศที่กำลังพิจารณาลงทุน ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในสินเชื่อ P2P ในต่างประเทศอยู่แล้ว รวมไปถึงแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ ที่ให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในซัปพลายเชน และในกลุ่มที่เห็นศักยภาพของการร่วมมือกับ Fintech เพื่อนำเครื่องมือที่เรามีไปใช้ในการทำงานของธุรกิจ

นายวรกร สิริจินดา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวเสริมว่า "นอกจากการขยายธุรกิจไปใน 3 กลุ่มดังกล่าวแล้ว เรายังเสริมแกร่งระบบหลังบ้านให้พร้อมรับการเติบโตนั่นคือการเสริมแกร่ง 3 กลยุทธ์ความไว้วางใจ ได้แก่ระบบ Cyber Security ที่พร้อมดูแลและติดตามการลงทุนของนักลงทุนได้ ดูแลทรัพย์สินของนักลงทุน ด้วยผู้รับฝากสินทรัพย์ (Custodian) ระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพที่ปลอดภัยจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ (cyber attack) เสริมประสิทธิภาพของระบบ Credit Scoring ในการวิเคราะห์คุณสมบัติความน่าเชื่อถือของ SME ที่มาออกหุ้นกู้ และเสริมทีมบุคลากรที่เข้าใจผลิตภัณฑ์การเงิน เข้าใจเกณฑ์กำกับดูแล เข้าใจความเสี่ยงและความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์ที่ขายกับนักลงทุน เราเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคง เป็นที่เชื่อมั่นวางใจได้ เพราะเราเองก็เทียบเท่ากับสถาบันการเงิน ความมั่นคงและการบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด"

สำหรับภาพรวมตลาดการปล่อยสินเชื่อเพื่อ SMEs นั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนผู้ประกอบการประมาณ 3 ล้านบริษัท 99% หรือประมาณ 2.9 ล้านเป็น SMEs และมากกว่า 2 ล้านบริษัทนั้นเป็นบริษัทขนาดเล็ก ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs ยังคงมีอยู่ ถึงแม้ในตลาดจะมีการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อสูง แต่บริษัทขนาดเล็กยังคงเจอปัญหาเข้าไม่ถึงเงินกู้เหมือนเดิม แน่นอนว่าในภาวะวิกฤตนี้เงื่อนไขบางอย่างของธนาคารกลายเป็นข้อกำหนดที่มาจำกัดสิทธิ เช่น ประวัติชำระหนี้ที่ไม่ดีนัก ไม่ยอมชำระหนี้ มีหนี้สินติดค้าง หรือชำระเงินช้าเมื่อถึงกําหนดชำระ หุ้นกู้ crowdfunding จึงมาเปิดโอกาสให้ SME และแน่นอนว่าเราเห็นโอกาสเติบโตจากตลาดนี้เช่นกัน รวมไปถึงโอกาสจากนักลงทุนไทยที่เปิดกว้างในการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้ คราวด์ฟันดิ้งยังผันผวนน้อยกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ และให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น