xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “เงินเฟ้อ” พุ่งฉุดบริโภค รั้งเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าภาพของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ หลายๆ สถาบันจะมองว่าเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ชัดขึ้น ท่ามกลางตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ขึ้นๆ ลงๆ ในหลักกว่าหมื่นต่อวัน แต่ด้วยตัวเลขการฉีดวัคซีนที่สูงและความไม่รุนแรงของตัวสายพันธุ์โอมิครอนเอง จึงทำให้ประชนชนกลับมาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามปกติมากขึ้น ภาคการท่องเที่ยวแม้จะยังฟื้นตัวช้ากว่าภาคธุรกิจอื่นๆ แต่ยังมีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่กระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นหลังจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกขยับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารคาดการณ์อัตราการเติบโตจีดีพีที่ระดับ 3-4% จากปีก่อนที่เติบโตได้ประมาณ 1% จากการขับเคลื่อนในหลายภาคธุรกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเหนือระดับก่อนโควิด 25% การลงทุน 8% การบริโภค 5% การผลิต 5% ขณะที่ภาคที่ยังได้รับผลกระทบอยู่เป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการบริการ-ท่องเที่ยวยังกลับมาเพียง 6% ของยอดปกติแต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในข่วงปลายปีก่อนถึงต้นปีนี้ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาแต่ด้วยอาการที่ไม่รุนแรง ผลกระทบจึงไม่มากนัก

"สถานการณ์ในขณะนี้เหมือนกับว่าเราเห็นแสงสว่างที่อุโมงค์ชัดขึ้นใกล้ขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญไม่ใช่แค่เราจะทำอย่างไรให้ไปถึงทางออกอุโมงค์ แต่เมื่อออกจากอุโมงค์แล้ว จะทำอย่างไรให้สู้กับปัญหาใหญ่ที่กำลังรอเราอยู่ด้วยเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การถูกดิสรัปชันทางเทคโนโลยีที่เราอาจจะลืมไปในช่วงนี้ ดังนั้น เราต้องใช้เวลา 4-5 เดือนในช่วงที่กำลังเดินออกสู่อุโมงค์นี้ในการปรับตัวเพื่อที่เราออกจากตรงนี้ไปได้แล้วจะสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ซึ่งหากเราทำได้ดีๆ นักท่องเที่ยวมามากขึ้น ตัวเลขจีดีพีกว่า 3-4% ที่คาดไว้เป็นไปได้ว่าจะสูงกว่านี้" 

สำหรับประเด็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนั้นมองว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเริ่มลดลงในครึ่งปีหลัง หลังปัญหาการขาดแคลนสินค้า-วัตถุดิบค่อยๆ คลี่คลายลง แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะใกล้คือ การถอนมาตรการทางการเงินและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยน เพราะจะเป็นการดึงเงินกลับทำให้แนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะชัดเจนมากขึ้นถึงจำนวนครั้งในเดือนมีนาคมจะส่งผลต่อตลาด Money Market Fund ผู้ที่ลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นกู้จะต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบกับเงินลงทุน ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินน่าจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยกลับเข้าระดับเกิดโควิด

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง เนื่องจากหลังวิกฤตโควิดผ่านพ้นไปจะเข้าสู่โจทย์ของการสะสางปัญหา ได้แก่ หนี้ภาครัฐที่สูงขึ้น จำเป็นต้องหารายได้มาชดเชย หนี้ครัวเรือนที่สูง และปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของภาคเอสเอ็มอีที่สูง ขณะที่ผู้ประกอบการเองไม่มีโจทย์ที่ท้าทายในเรื่องของการปรับตัวเข้าสู่ New Normal ซึ่งไม่ใช่เรื่องของโควิดเท่านั้น แต่จะต้องปรับตัวให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ นำพาไปสู่การบริหารงาน การบริหารต้นทุนที่เปลี่ยนไป เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นในตลาดให้ได้

 คาด Q1 แตะ 3.5% สูงสุดรอบ 11 ปี

“KKP Research โดเกียรตินาคินภัทร ระบุจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จึงได้ปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2565 จากระดับ 2% เป็น 2.3% ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นแตะระดับ 3% ได้ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 1 จะปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 3.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 11 ปี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ 3 ประการ คือ ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ฟื้นตัว การลดการลงทุนด้านพลังงานจากความกังวลเรื่องโลกร้อน และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยราคาน้ำมันมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นเกิน 100 เหรียญต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาส 2 ของปีและเฉลี่ยทั้งปีที่ 85 เหรียญต่อบาร์เรล รวมถึงราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นมากและอาจส่งผ่านไปสู่ราคาอาหารชนิดอื่นๆ ปัจจุบันราคาขายปลีกหมูปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วมากกว่า 40%

ในกรณีฐานประเมินว่าราคาหมูจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ราคาหมูค้างอยู่ที่ระดับปัจจุบันจากการนำเข้าที่ทำได้ยาก ในกรณีเลวร้ายที่ราคาหมูยังเร่งตัวต่อเนื่องมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นแตะระดับ 3% ได้ และมาตรการรัฐในการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟปี 2563 ในช่วงเดือนกุมภา-มีนาคม และพฤษภาคม-สิงหาคม ทำให้ฐานของราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันจากราคาอาหารและพลังงาน ในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว มีลักษณะเป็น Stagflation แล้ว ซึ่งจะกระทบผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจอย่างมาก เนื่องจากตะกร้าสินค้าที่แตกต่างกันของคนรายได้สูงและคนรายได้น้อยมีแนวโน้มทำให้ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นกระทบคนรายได้ต่ำมากกว่า โดยเมื่อแบ่งครัวเรือนเป็น 5 กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่สุดจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายในอาหาร 49% ในขณะที่กลุ่มคนรายได้สูงจะใช้จ่ายไปกับค่าอาหารในสัดส่วนที่ต่ำกว่าคือประมาณ 31% เนื่องจากมีการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยและบริการอื่นๆ ด้วย รวมถึงกระทบธุรกิจหลายแห่งโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นแต่ขึ้นราคาไม่ได้ ดังจะเห็นได้ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนธันวาคมเติบโตขึ้นแล้วประมาณ 8% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเติบโตเพียงประมาณ 2% เท่านั้น สะท้อนการส่งผ่านราคาที่ยังทำได้น้อยในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวนโยบายการเงินไทย

อย่างไรก็ตาม KKP Research คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะในช่วงปลายปีและความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อไทยจะสูงขึ้นแบบคุมไม่อยู่ยังมีน้อย เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขเงินเฟ้อของไทยและสหรัฐอเมริกาจะพบว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อยังกระจุกตัวอยู่ในฝั่งต้นทุนโดยเฉพาะราคาพลังงาน และราคาอาหารเท่านั้น โดยราคาสินค้าอื่นๆ ยังแทบไม่ปรับตัวสูงขึ้นเลย ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 0.2-0.3% เท่านั้นในปี 2564

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมพุ่งสูงขึ้นไปที่ระดับ 5.5% แล้วซึ่งหมายความว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ได้รับแรงกดดันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่กลับมาของคน และตลาดแรงงานที่ตึงตัวส่งผลให้ค่าแรงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทย เศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวเต็มที่และยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดและระดับศักยภาพค่อนข้างมากความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อแบบต่อเนื่องจึงมีน้อยและเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก

นอกจากนี้ ในปีนี้จะเป็นปีที่นโยบายการเงินไทยเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ในสถานการณ์ที่วัฏจักรเศรษฐกิจไทยแตกต่างจากวัฏจักรเศรษฐกิจโลก ทำให้การตัดสินใจปรับดอกเบี้ยนโยบายต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจและการดูแลเงินเฟ้อ โดยมีความท้าทายใน 3 มิติ คือ 1) เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา 2) อัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจโลกและส่งผ่านมาที่ไทย 3) อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ จะเป็นแรงกดดันให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจในไทยสูงขึ้นตามส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ในขณะที่ธปท.ยังปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไม่ได้ อาจทำให้เงินทุนมีโอกาสไหลออกมากขึ้น ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าและกระทบเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีกได้

กนง.ยังคงดอกเบี้ยตลอดทั้งปี

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) คาด กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมไว้ตลอดปี แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะมีแนวโน้มจะปรับอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดย EIC คาดว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5 ครั้งในปีนี้ และอาจเริ่มลดขนาดงบดุล (QT)ในช่วงกลางปีนี้ เนื่องมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังช้ากว่าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก และอัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่า รวมถึงเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังแข็งแกร่ง ส่งผลให้ไทยมีกันชนรับแรงกดดันจากเงินทุนไหลออกได้ สัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทยมีจำกัดและอยู่ต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

ส่งผลให้ความเสี่ยงที่จะเกิดการไหลออกฉับพลันของเงินทุนจากไทยอยู่ในระดับต่ำโดยการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยครั้งแรกน่าจะทำได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับเท่าช่วงก่อนโควิด-19 และจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในรอบนี้จะอยู่ที่ราว 2.25-2.5% ซึ่งต่ำกว่าในอดีต เนื่องจากสัดส่วนหนี้ของทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐปรับสูงขึ้นกว่าในอดีต

สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดการณ์ว่า กนง.จะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% ตลอดจนถึงสิ้นปีนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น แต่ กนง.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2565 และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ระดับต่ำกว่า 3% และยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มของราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง อีกทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ 

ขณะที่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางและแตกต่างกันอยู่มาก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวล่าช้าและต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อยู่มาก โดย กนง.ประเมินเศรษฐกิจโดยรวมกว่าจะฟื้นกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตการระบาดอาจเป็นช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และตลาดแรงงานยังอ่อนแอและค่าจ้างที่อาจยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเกิดวิกฤตการระบาด 

โดยวิจัยกรุงศรีประเมินค่าจ้างที่แท้จริงของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเพียง 1% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าค่าจ้างที่แท้จริงของครัวเรือนรายได้สูงสุดที่จะเพิ่มขึ้น 3.2% ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงของทุกกลุ่มครัวเรือนในปีนี้จะยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอและมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายไม่เท่าเทียมกันและยังบ่งชี้ถึงความเปราะบางในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดัชนี KR-ECI ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์-กังวลค่าครองชีพสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) เดือน ม.ค.65 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30.9 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 33.2 จาก 36.0 ในเดือน ธ.ค.64 สะท้อนว่าในระยะข้างหน้าครัวเรือนยังมีมุมมองว่าค่าครองชีพจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้ว่าการระบาดของโอมิครอนหลังช่วงปีใหม่จะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการยกระดับมาตรการคุมเข้มการระบาด ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงมีจำกัด

อย่างไรก็ตาม ระดับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งอาหารสด เช่น เนื้อหมู รวมถึงราคาพลังงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องได้เข้ามากดดันกำลังซื้อของภาคครัวเรือนส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันลดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกือบในทุกองค์ประกอบของดัชนี โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับ “ระดับราคาสินค้า” ในหมวดของอาหารและเครื่องดื่ม และราคาพลังงานที่ระดับดัชนีปรับลดลงจากเดือนก่อนถึง 39.9% และ 26.3% (ดัชนีลดลงหมายถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้น) สอดคล้องกับระดับเงินเฟ้อในเดือนม.ค.65 ที่พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 3.23% โดย มีสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก และราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ครัวเรือนมีความกังวลต่อมุมมองด้านรายได้และการมีงานทำปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

โดยองค์ประกอบของดัชนีในส่วนของรายได้และการจ้างงานปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน (-4.0% MoM) ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลภาวะการทำงานของประชากรในไตรมาส 4/2564 พบว่า แม้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่แรงงานบางส่วนยังมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 45.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภาวะปกติ บ่งชี้ถึงรายได้ของแรงงานที่ลดลงซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่องไป

ทั้งนี้ การลดลงดังกล่าวสอดคล้องกับระดับเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.65 ที่พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 3.23% โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก และราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ครัวเรือนมีความกังวลต่อมุมมองด้านรายได้และการมีงานทำปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยองค์ประกอบของดัชนีในส่วนของรายได้และการจ้างงานปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน (-4.0% MoM) ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลภาวะการทำงานของประชากรในไตรมาส 4/2564 พบว่า แม้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่แรงงานบางส่วนยังมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 45.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภาวะปกติ บ่งชึ้ถึงรายได้ของแรงงานที่ลดลงซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่องไป ด้านดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเช่นกันอยู่ที่ 33.2

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำผลสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองด้านระยะเวลาของระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นกับวิธีรับมือของครัวเรือน ผลสำรวจบ่งชี้ว่า หากครัวเรือนมีมุมมองว่าระยะเวลาที่ระดับราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงยิ่งนานจะยิ่งส่งผลให้ครัวเรือนลดค่าใช้จ่ายรายการที่ไม่จำเป็นออกไปเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากมีมุมมองว่าระดับราคาสินค้าที่สูงจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น 1 เดือน ครัวเรือนจะนำเงินออมที่มีออกมาใช้ทดแทนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันที่สะท้อนผ่านการนำเงินออมออกมาใช้ และในระยะข้างหน้าที่จะมีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

สำหรับในระยะข้างหน้าระดับราคาสินค้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหรืออย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี สาเหตุหลักมาจาก การปรับเพิ่มขึ้นราคาพลังงานที่เป็นทั้งต้นทุนทางอ้อมของราคาสินค้าผ่านต้นทุนค่าขนส่ง/การผลิต และทางตรงที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนผ่านค่าโดยสารและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันต่างๆ 

ขณะที่ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือเยียวยาและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจากภาครัฐยังมีความจำเป็นต่อเนื่องในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง






กำลังโหลดความคิดเห็น