xs
xsm
sm
md
lg

UAC ลุยผลิตปิโตรเลียมจากแหล่ง L10-L11 ทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ยูเอซี โกลบอล" เตรียมเข้าลงทุนแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมแปลงสำรวจบนบก L10/43 และ L11/43 พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมอรุโณทัยและบูรพา คาดเริ่มเข้าทำการผลิตและสำรวจปริมาณปิโตรเลียมทันที เบื้องต้นคาดมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบไม่ต่ำกว่า 300-500 บาร์เรล/วัน และก๊าซธรรมชาติไม่ต่ำกว่า 300,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เริ่มรับรู้รายได้ไตรมาส 3 ปีนี้

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมจะลงทุนติดตั้งระบบผลิตปิโตรเลียมในแหล่งปิโตรเลียมหมายเลข L10/43 และ L11/43 พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมอรุโณทัยและบูรพา จังหวัดสุโขทัยทันที ภายหลังการลงนามในสัญญาสัมปทานกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้บริษัท ยูเอซี ยูทิลิตีส์ จำกัด (UU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ UAC ตามสัดส่วนการถือหุ้น 70% และอีก 30% เป็นบริษัท พีทีอี พลัส จำกัด ได้รับโอนสิทธิสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมแปลงดังกล่าว โดยมีอายุสัมปทานจนถึงปี 2576 เบื้องต้น คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 280 ล้านบาทต่อปี อิงจากราคาน้ำมันดิบและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ณ ปัจจุบัน

“UAC ร่วมมือกับบริษัท พีทีอี พลัส จำกัด (PTE Plus) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจด้านการสำรวจ และให้บริการในอุตสาหกรรมสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ และผู้ทีมบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งมีประสบการณ์ เช่น บริการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องสูบหลุมน้ำมัน บริการหลุมเจาะติดตั้งและเปลี่ยนระบบการผลิตบริการหลุมผลิตแบบรถบรรทุกเคลื่อนที่ บริการแปลและวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินศักยภาพของแหล่งผลิต ซึ่งการร่วมมือระหว่าง UAC กับ PTE Plus ในครั้งนี้ถือเป็น Strategic Partner ที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในการขยายธุรกิจด้านการผลิตปิโตรเลียมได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะมีการเข้าสำรวจปริมาณปิโตรเลียมสำรองในพื้นที่สัมปทานดังกล่าว เพื่อต้องการทราบปริมาณปิโตรเลียมที่ชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 300 บาร์เรล ดังนั้นหลังจากบริษัทฯเข้ามาดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์จะสามารถทยอยรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 3/2565 เป็นต้นไป

นายชัชพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แห่งที่ได้รับโอนสัมปทานในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการเพิ่มกำลังการผลิตให้โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (PPP) ของบริษัทฯ ในอนาคต จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตรวม 1.9 หมื่นตันต่อปี ซึ่งนำไปใช้ในการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เผาทิ้ง (Associated Gas) เป็นวัตถุดิบในการผลิต C1 จำนวน 1.3 หมื่นตันต่อปี LPG จำนวน 6.3 พันตันต่อปี และ NGL จำนวน 1.3 พันตันต่อปี

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งด้านแหล่งเชื้อเพลิงที่จะส่งให้โรงไฟฟ้าเสาเถียร เอ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้า 3.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่า กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลกกแรต และตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ ได้ต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับแผนการขยายธุรกิจทางด้านพลังงานสะอาดของบริษัทฯ ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น