xs
xsm
sm
md
lg

หลากมรสุมกดดันหุ้นไทย ค่าครองชีพพุ่ง-ศก.โตไม่เข้าเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กูรูคาดตลาดหุ้นไทย ก.พ.ยังผันผวนต่อ จากความกังวลเฟดส่งสัญญาณถอน QE เร็วขึ้น อีกทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประเทศอาจไม่เป็นไปตามคาดหวัง หลังค่าครองชีพปรับตัวสูง เชื่อโอมิครอนยังไม่สร้างผลกระทบหนักต่อตลาด แม้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งต่อเนื่อง ดันภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังไปต่อ ขณะเป้าทั้งปีลดต่ำกว่า 1,800 จุด ระยะสั้นเม็ดเงินยังไหลเข้า และได้รับปัจจัยหนุนจากแรงเก็งกำไรผลประกอบการ บจ.

ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยยังมีต่อเนื่อง นอกจากปัจจัยกดดันจากต่างประเทศ ตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มหันกลับมาให้ความสำคัญต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศอีกครั้ง เมื่อยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาสูงกว่าระดับ 1 หมื่นราย โดยคาดว่าการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยต่อจากนี้จะยังคงแกว่งตัว sideway ไปจนถึงพักฐาน

ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นมาจากรายงานภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ออกมาค่อนข้างดี หลังจากพักฐานลงไปจาก ความกังวลของการดึงสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้หุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตสูง (hight growth) เริ่มเห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัว ขณะที่อีกปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้น หนีไม่พ้นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่สร้างแรงหนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงาน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่นักลงทุนต้องติดตาม นอกเหนือจากตัวเลขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในประเทศ นั่นคือ การทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทเบียน (บจ.) รวมถึงจะมีการประกาศรายชื่อหุ้นเข้าใหม่ในดัชนี MSCI ซึ่งหุ้นไทยที่มีลุ้นเข้าดัชนี MSCI คาดว่าจะเป็น COM7 หรือ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) และ KCE หรือ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกปัจจัยที่น่ากังวล และอาจมีผลต่อตลาดทุน นั่นคือ “เงินเฟ้อ” หลังสถานการณ์ของเงินเฟ้อในสหรัฐฯยังสูง ประกอบกับภาพราคาน้ำมันปรับขึ้นไปค่อนข้างมากทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เมื่อเฟด ส่งสัญญาณถอนQE ที่เร็วขึ้นกว่าที่ผ่านมา

เฟดไม่ชัดเจนสร้างความกังวล

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด  ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือนกุมภาพันธ์ว่า มกราคมที่ผ่านมาภาพรวมการเคลื่อนไหวของดัชนีเป็นไปในทิศทางปรับขึ้น จากการผ่อนคลายความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่แม้จะแพร่ระบาดรวดเร็วแต่ไม่รุนแรงนัก รวมทั้งการรายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 64 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาด

ส่วนการปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนมกราคม มาจากแรงกดดันของปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการที่ เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม และอาจมากกว่า 0.25% อีกทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน-สหรัฐ-ชาติตะวันตก ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดแรงขายออกมา

โดย แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในเดือนนี้ ดัชนียังเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบระหว่าง 1,600-1,680 จุด จากนโยบายการเงินเฟดเหมือนจบแต่ไม่จบ ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง โดยเฉพาะรายงานประชุมเฟดวันที่ 17 ก.พ. ทำให้ตลาดยังมีความกังวลเรื่องนโยบายการเงินตึงตัวที่มากกว่าคาดอยู่ ส่งผลให้กรอบบนยังจำกัด แต่เชื่อว่ากรอบล่างแถว 1,600 จุด มี Downside จำกัด เช่นกัน 

ดังนั้น ด้วยความโดดเด่นเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำไรของบริษัทจดทะเบียน ทำให้มองว่าหากดัชนีอ่อนตัวลงมาที่บริเวณ 1,600 จุดถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสมหุ้นได้ โดยแนะนำหุ้นในกลุ่มหุ้นพื้นฐานดี และผลการดำเนินงานมีแนวโน้มโตดี หรือเป็นหุ้น S-Curve อาทิ KBANKหรือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), GPSC หรือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน), INTUCH หรือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) , SPALI หรือ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) , AMATA หรือบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) , LH หรือ บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) , GULF หรือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), DELTA หรือ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) , ADVANC หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ ONEE หรือ บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)

"โอมิครอน" กดดันน้อย-เม็ดเงินยังไหลเข้า

ด้าน บล.เอเชีย พลัส จำกัด  ระบุว่า ปัจจัยภายในประเทศอย่างการแพร่ระบาด โควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอนไม่ได้ส่งสัญญาณทางลบเพิ่มเติมทั้งในมุมผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิต อีกทั้งค่าเงินบาทยังแข็งค่าช่วงสั้น อยู่ระดับ 33.20 บาท/เหรียญฯ จึงทำให้ Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากสุดในภูมิภาค โดยปัจจุบันเริ่มเห็น Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลในเดือน ม.ค. 2565 พบว่าต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นไทยสูงสุดในภูมิภาคกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ 432 ล้านเหรียญฯ และยังไหลเข้าต่อเนื่องในเดือน ก.พ. 2565

ขณะที่ปัจจัยกดดันต่าง ๆ สะท้อนผ่านราคาหุ้นไปมากแล้ว หนุนโดยตลาดหุ้นโลกฟื้นต่อเนื่อง หลังจากปรับฐานลงมากเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยลบอื่น ๆ ยังไม่มีเข้ามาเพิ่มเติม ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวฟื้นขึ้นมาได้ ส่วนราคาน้ำมันดิบ ให้น้ำหนักการประชุม OPEC+ ซึ่งตลาดคาดว่าจะยังคงมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตไว้ที่ 4 แสนบาร์เรล/วัน ตามแผนเดิมต่อไป ทำให้กลยุทธ์ การลงทุนในช่วงนี้ เน้นหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดี และแนวโน้มกำไรต่อหุ้นเติบโตเกิน 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอาทิ MAKRO หรือ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), STEC หรือบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) และ KCE หรือ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)

ก.พ.แรงเก็งกำไรผลประกอบการหนุน

ด้าน นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นในเดือนกุมภาพันธ์ว่า ดัชนียังคงมีแนวโน้มผันผวน โดยได้แรงหนุนจากการเก็งกำไรการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนงวดปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะรายงานออกมาฟื้นตัวทั้งเทียบไตรมาสและเทียบปีต่อปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น

ประกอบกับการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ล่าสุดกรมทางหลวงทุ่มงบประมาณ 4.5 พันล้านบาท เพื่อดำเนินการขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์เชื่อมต่ออู่ตะเภา เพื่อรองรับการเดินทางในพื้นที่ EEC ซึ่งคาดว่าจะตอกเสาเข็มปลายปี 2565 เพื่อให้ทันใช้สำหรับการเปิดสนามบินอู่ตะเภาในปี 2568

อีกทั้ง การผ่อนปรนเว้นการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้กำกับ ก.ล.ต. ทั้งภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ภาษีมูลค่าเพิ่ม และยังให้นำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรในปีภาษีเดียวกันของกรมสรรพากร ทำให้บรรยากาศการลงทุนกลับมาคึกคักมากขึ้น และราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับสูง แต่นักลงทุนยังวิตกกังวลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีในเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 1,620-1,680 จุด

ส่วนปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาต่อเนื่อง อาทิ ทาง IMF มีการประเมินถึงเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวขึ้นมากแต่ไม่สมดุลเนื่องจากมียอดการอุปโภคบริโภคที่อ่อนแอ รวมถึงความไม่แน่นอนจากการใช้มาตรการปราบปรามธุรกิจในภาคเทคโนโลยี และภาคการผลิตที่ชะลอตัว และ ทางโกลด์แมน แซคส์ปรับคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 5 ครั้งในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง โดยมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคมนี้

โดยรวมไปถึงสถานการณ์ความตึงเครียดของเกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือหลังคณะเสนาธิการร่วมของเกาหลีใต้ (JCS) ได้เปิดเผยว่าเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธที่ยังไม่ทราบชนิดอย่างน้อย 1 ลูกลงสู่ทะเลนอกชายฝั่งตะวันออกเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งถือเป็นการยิงขีปนาวุธครั้งที่ 7 ในเดือนนี้ รวมทั้งการประชุม OPEC+ และการรายงานตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมกราคม จาก ADP สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ส่วนอียูจะมีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมกราคม จากมาร์กิต ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย และการกำหนดประชุม FED ในเดือนมีนาคมนี้

ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้น 7 หุ้นเด่น ปัจจัยพื้นฐานแกร่ง และแนวโน้มการเติบโตของผลการดำเนินงานในปีนี้มีทิศทางที่สดใส และยังได้ประโยชน์จากการกลับมาใช้มาตรการ Test & Go วันแรกในวันที่ 1 ก.พ. โดยหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ ได้แก่ ERW หรือ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), CENTEL หรือ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) , MINT หรือ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), AOT หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), AAV หรือ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน), BA หรือ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)และ ASAP หรือ บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน)

สำหรับทิศทางการลงทุนในทองคำ ประเมินว่า แนวโน้มราคาทองคำยังเจอแรงกดดันจากความกังวลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อค่อนข้างมาก พร้อมแนะจับตา Bond Yield และ Dollar Index อย่างใกล้ชิด หากตลาดเริ่มซึมซับแถลงการณ์ประชุม FOMC ไปบ้างแล้ว อาจทำให้ Bond Yield เริ่มย่อตัว ตลาดผ่อนคลายความกังวลในระยะสั้นอาจทำให้ราคาทองคำรีบาวด์เหนือ 1,800 $/oz อีกครั้ง โดยมีปัจจัยที่หนุนราคาทองคำคือ ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะรัสเซียซ้อมรบกับเบลารุสและนำกำลังทหารกว่า 100,000 นาย ประชิดชายแดนยูเครน ซึ่งไม่ห่างจากเมืองหลวงยูเครน ฝ่ายวิจัยประเมินว่าทั้ง 2 ปัจจัยข้างต้นอาจหนุนราคาทองคำในสัปดาห์หน้าปรับตัวขึ้นในกรอบ 1,775-1,830 $/oz

นโยบายเฟดมีผลต่อตลาดหุ้น

ด้าน “ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวถึงทิศทางการลงทุนเดือน ก.พ.ว่า ปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อการลงทุน คือรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากออกมาแตกต่างจากเดือนก่อนหรือคาดการณ์ของตลาดมาก จะส่งผลต่อความคิดของของนักลงทุนในตลาดต่อแนวนโยบายการเงินของเฟดในช่วงถัดไปได้

นั่นเพราะที่ผ่านมา นักลงทุนมีการเร่ง Price in ประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้น และส่งผลให้ความชัน Yield curve ของสหรัฐฯแบนราบลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับฝั่งไทยที่แนวโน้มการเข้มงวดนโยบายการเงินยังคงห่างไกล ทำให้ความชัน Yield curve ยังทรงตัวได้อยู่ในระดับสูง ภาพของ Bond yield ที่มีลักษณะเช่นนี้ ย่อมทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นที่มีลักษณะเป็น Value stock เช่นกลุ่มธนาคารและอสังหาฯ

เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วเช่นสหรัฐฯ กำลังจะขึ้นดอกเบี้ย หากมองไปข้างหน้าคือการเติบโตของเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในโหมดผ่อนคลาย เช่น จีนลดดอกเบี้ย ส่วนประเทศไทยเชื่อว่าทั้งปีจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

ดังนั้น คาดการณ์ดัชนีปีนี้ได้ปรับลดลงมาเล็กน้อยจากเดิมประมาณ 1,800 จุด จะลงมาเหลือ 1,770 จุด (อิงประมาณการ EPS ปี 2566) เพราะนับจากต้นปีประเด็น การเข้มงวดนโยบายการเงินของเฟด ที่เร็วเกินคาดได้ผลักดันให้ Bond yield ของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ จนส่งผลกระทบต่อ Valuation ของ SET Index ผ่านมาตรวัด Earning yield gap ในทางกลับกัน ทำให้กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ จึงแนะนำเพียง Selective การถือครองไปยังกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะปรับตัว Outperform ตลาดเท่านั้น ได้แก่หุ้นปันผลสูง ที่ล่าสุดให้ผลตอบแทนชนะตลาดอย่างชัดเจน เช่น ADVANC หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), INTUCH หรือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), MAJOR หรือ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน), TOG หรือ บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ส่วนอีกกลุ่มที่น่าสนใจได้แก่ หุ้นเติบโตที่ราคาหุ้นปรับฐานลงมาแรง แต่ประมาณการ EPS ไม่ได้ถูกปรับลดแต่อย่างใด ส่งผลให้ Valuation ปรับเข้าสู่ระดับที่น่าสนใจมากขึ้น อาทิ HANA หรือ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน), KCE หรือ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน), JMT หรือ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในช่วงถัดไปได้แก่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มไม่เป็นไปตามคาดหวังและเผชิญอุปสรรคมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยนอกบ้านน้อยลง สะท้อนผ่านดัชนี Mobility ที่ปรับตัวลดลงในหลายจังหวัด หากราคาสินค้าในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ อาจทำให้กลุ่มหุ้นที่อิงกับภาคการบริโภคภายในประเทศมี Downside risk ที่มากขึ้นได้

กำไร บจ. ยังเติบโตแม้ Covid กดดัน

ด้าน “ยุทธพล ลาภละมูล” กรรมการ ผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เกียรตินาคินภัทร จำกัด แสดงความเห็นต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยว่ายังมีความน่าสนใจ โดยประมาณการว่ากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตได้ดี ประมาณร้อยละ 10 แนะลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมือง ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 และการใช้จ่ายก่อนการเลือกตั้ง

ถัดมาคือหุ้นกลุ่มที่ราคาไม่สูง หรือหุ้นกลุ่มราคาขึ้นช้า (Laggard) ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เนื่องจากเศรษฐกิจมีการเติบโตที่กระจายตัวขึ้น รวมถึงหุ้นกลุ่มที่มีอำนาจกำหนดราคา (Pricing Power) สูง สามารถปรับตัวได้ ในภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น หรือหุ้นกลุ่มที่ได้ ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร รัฐบาลมีแนวโน้มสูงขึ้น และหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก เช่น 5G, Data Center, ยานยนต์ไฟฟ้า หรือพลังงานสะอาด เป็นต้น โดยอุตสาหกรรมที่ บลจ. มีมุมมองที่เป็นบวกได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มการสื่อสาร และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม




กำลังโหลดความคิดเห็น