RT เผยแผนธุรกิจปี 2565 ตั้งเป้ารายได้โต 50% แตะ 4,000 ล้านบาท เตรียมรับรู้รายได้ต่อเนื่องจากงานก่อสร้างทั้งในและต่างประเทศ ลุยประมูลงานภาครัฐมาร์จิ้นสูง และงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ดัน Backlog ทำสถิติใหม่ 8,500 ล้านบาท ทุ่มงบลงทุน 570 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรเฉพาะทางรับงานโครงการใหม่ พร้อมปรับกลยุทธ์เฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด
นายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิศวกรรมโยธาและธรณีเทคนิค เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 50% แตะ 4,000 ล้านบาท โดยรักษาอัตรากำไรขั้นต้นในระดับ 12-15%
ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจในปีนี้ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากงานในมือที่ได้รับตามแผนที่วางไว้ และทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีการก่อสร้างตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถจากบริษัทที่มีประสบการณ์และความชำนาญพิเศษ ซึ่งมีผู้รับเหมาจำนวนน้อยรายที่ดำเนินธุรกิจได้แบบ RT รวมไปถึงงานก่อสร้างภาคเอกชน
สำหรับปี 2565 บริษัทจะสามารถรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างหลัก เช่น งานก่อสร้างอุโมงค์ในโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3 จ.สระบุรี-จ.นครราชสีมา โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด จ.เชียงใหม่ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำตามแนวคลองมหาสวัสดิ์จากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ถึง ถ.ราชพฤกษ์ โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก กรมชลประทาน จ.เลย โครงการก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โครงการก่อสร้างทางหลวง อ.นาทวี จ.สงขลา และงาน Slope Protection
อีกทั้งบริษัทมีแผนเข้าประมูลงานโครงการภาครัฐเพิ่มขึ้น ต่อยอดจากการเป็นผู้รับเหมาช่วง (Subcontract) โดยมุ่งเน้นงานที่มีมาร์จิ้นสูง และงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น งานประเภทอุโมงค์ งานประเภทเขื่อน และ ระบบชลประทาน งานท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน คาดว่างานบางส่วนจะเริ่มประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล และเซ็นสัญญาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/65 เป็นต้นไป
ขณะที่งานต่างประเทศ บริษัทมีโอกาสในการเข้ารับงานประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้รับเหมาหลัก คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 4/65 และจะสามารถรับรู้รายได้ในปี 66
แผนการดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ทั้งหมดในปีนี้ อยู่ที่ 8,500 ล้านบาท ถือว่าเป็นสถิติใหม่สูงสุดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท โดยจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 65-66
นอกจากนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนจำนวน 570 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการจัดซื้อเครื่องจักร และ วัสดุอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างประมาณ 86% เพื่อเป็นการเตรียมรองรับโครงการใหม่ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะด้าน เช่น เครื่องเจาะอุโมงค์ดินอ่อน เป็นต้น ส่วนที่เหลือจะเป็นการจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ และอื่นๆ ในโครงการก่อสร้าง
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อในปีนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนการดำเนินงานตามมาตรการ เช่น การตรวจหาเชื้อสำหรับพนักงานในพื้นที่ก่อสร้างเป็นประจำเพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การคัดแยกผู้ป่วยเพื่อทำการกักตัวและรักษา และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าตรวจพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ
“การดำเนินงานในปีนี้ แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และ เนื่องจากงานที่ดำเนินงานเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการรับรู้รายได้ต่อเนื่องในอีก 3-5 ปี ทำให้มีการสะท้อนถึงอัตรากำไรขั้นต้นที่จะลดลงจากกระบวนการดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง แต่บริษัทได้มีการสำรองงบประมาณในส่วนนี้อย่างเพียงพอ และมีการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทสามารถควบคุม และลดความเสี่ยง รวมถึงการดำเนินงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และส่งมอบตามกำหนดเวลา” นายชวลิต กล่าว
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้แบ่งตามประเภทงาน ประกอบด้วย งานสร้างอุโมงค์ 52.18% งานสร้างเขื่อนและระบบชลประทาน 18.35% งานท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน 18.15% และงานอื่นๆ 11.32% เช่น งานก่อสร้างถนน งาน Slope Protection เป็นต้น โดยมีสัดส่วนรายได้ภายในประเทศ 99.22% และต่างประเทศ 0.78%