จับตาตลาดคริปโตฯไทย หลังสรรพากร ยอมอ่อนข้อนำผลขาดทุนมาหักกลบกำไรก่อนจ่ายภาษี หวั่นนักลงทุนหนีเทรดนอกประเทศ กดดันตลาดไทยไม่บูม ขณะหลักเกณฑ์ห้ามใช้คริปโตฯชำระสินค้า ภาพรวมยังกระทบแค่กรอบแคบๆ เพราะส่วนใหญ่ยังเน้นการลงทุนเพื่อทำกำไรมากกว่า แม้หลายบริษัทต้องพับโครงการ
หลังจากคาราคาซังมาพักใหญ่ จนทำให้นักลงทุนสับสน ในที่สุดการเรียกเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ “ภาษี คริปโต” ก็ได้ทางออกที่ผ่อนคลายความตรึงเครียดลง เมื่อกรมสรรพากร ออกมาเปิดเผยผลการประชุมร่วมกับผู้แทนสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะ กรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมมีแนวทางและมาตรการผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล โดย
1.การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.) จากเงินได้พึงประเมินนั้น กรมสรรพากรเสนอให้ออกกฎกระทรวง นำผลขาดทุนมาหักกลบกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน โดยต้องทำการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.เท่านั้น
2.การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่าน Ex change ภายใต้ ก.ล.ต. จะไม่มีภาระภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15% เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี แต่อย่างใด และ
3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้ ก.ล.ต.และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
"การประกอบธุรกิจ และการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันจาก 240 ล้านบาท เพิ่มเป็น 4.83 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าจาก 9.6 พันล้านบาท เป็น 1.14 แสนล้านบาท และมีบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 170,000 ราย เป็น 1.98 ล้านราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง" “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร แสดงความเห็นถึงช่องทางการลงทุนใหม่ที่เป็นกระแสนปัจจุบัน
นอกจากนี้ในอนาคตกรม สรรพากร จะร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ศึกษาแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ การแก้ประมวล รัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่าน Exchange เพื่อเป็นผู้หักภาษี และนำส่งกรมสรรพากร รวมถึงการเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีเฉพาะสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น
"ขอย้ำว่าการทำงานร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาบริหารการจัดเก็บภาษีที่ตอบสนอง ความต้องการของทุกภาคส่วน ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่จะทำให้กฎหมายภาษีอากรไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และยังคงรักษาหลักการจัดเก็บภาษีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยยืดถือประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน"
โดยตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและได้ส่งแบบสอบถามให้ผู้ที่อยู่ในชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 3,000 ราย โดย 82% เป็นผู้มีเงินได้จากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีเงินจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซื้อมาเพื่อเก็งกำไร โดยเกือบ 90% ทราบมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลของตนอย่างชัดเจน
การผ่อนคลายความตรึงเครียดดังกล่าว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความเห็นของภาคเอกชนและบรรดานักลงทุนที่ออกมาแสดงทรรศนะต่อแนวคิดของภาครัฐเพื่อหวังให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศมีการเติบโตต่อเนื่อง และเป็นที่สนใจของนักลงทุนในประเทศ ดีกว่าจะเลือกใช้ผู้ให้บริการต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ กรมสรรพากร กำลังเร่งจัดทำแนวทางปฏิบัติในส่วนของการยื่นเสียภาษีเงินได้ของคริปโตเคอเรนซีให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะเร่งให้เสร็จเรียบร้อยทันปีภาษีนี้ เนื่องจากปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีเม็ดเงินหมุนเวียนจำนวนมากและเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทางคลังขอยืนยันว่าจะไม่เลื่อนการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป เพราะถือเป็นเงินได้ที่เสียกันมาตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว
ด้าน “ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์” นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เชื่อว่า ในปีภาษีนี้กรมสรรพากรคงไม่สามารถแก้กฎหมายได้ทัน ซึ่งผู้ที่มีรายได้จากคริปโตคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายไปก่อน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติการจัดเก็บภาษี คริปโต แบบหัก ณ ที่จ่าย นั้นไม่สามารถทำได้ ขณะที่รูปแบบการเก็บภาษีตาม Capital Gain โดยมีกำไรแล้วหักภาษีนั้น คำถามคือถ้าขาดทุนจะหักลบกันอย่างไร
ดังนั้นแนวทางที่คิดว่าทำได้ คือ หากคิดแบบชาวบ้านต้นปีรายได้เท่าไร ปลายปีรายได้เพิ่มเท่าไร ความมั่งคั่ง หรือ Wealth เพิ่มขึ้นเท่าไร ก็คิดตามภาษีตามนั้น โดยต้องมาพูดคุยถึงเปอร์เซ็นต์ที่นักลงทุนรับได้ เพราะฝั่งExchangeก็ไม่อยากขึ้นค่าธรรมเนียม เนื่องจากจะเป็นการผลักลูกค้าให้หนีไปต่างประเทศ ส่วนตัวจึงมองว่าการเริ่มเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังเติบโตนั้นเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป ภาครัฐควรเปิดให้อุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างเต็มที่ก่อนแล้วค่อยเก็บ
ขณะที่ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษา กติมศักดิ์สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่าภาครัฐควรมององค์รวม เศรษฐกิจยุคใหม่ไทยยังมีโอกาสในการแข่งขันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีบล็อคเชน เงินดิจิทัล ซึ่งมีคนไทยรุ่นใหม่หลายคนเข้าไปศึกษาหาโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่หลายรายที่กำลังเติบโต ควรสนับสนุนให้เกิดคลัสเตอร์ที่สร้างองค์ความรู้ พัฒนานิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้เติบโตขึ้นมาจนแข็งแรงก่อนค่อยไปเก็บภาษีก็ยังไม่สาย กฎหมายต้องมีไว้เพื่อพัฒนาสนับสนุน ไม่ใช่เพียงกำกับควบคุม
อย่างไรก็ตาม “ ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แสดงความเห็นว่า การเก็บภาษีจากการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีนั้น หลายประเทศมีการเรียกเก็บภาษีจากการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งโดยหลักการแล้ว การเก็บภาษีจากคริปโตเคอร์เรนซี ถือเป็นความเสมอภาคเท่าเทียมกับการเก็บภาษีจากการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เนื่องจากเป็นรายได้ประเภทหนึ่ง อีกทั้งผู้ที่มีรายได้จากการลงทุนมักจะเป็นผู้ที่มีฐานะดีกว่ารายได้ประเภทอื่น
โดยสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเหรียญต่างๆ ที่ซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนมากไม่ได้ออกโดยผู้ประกอบการในประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายทรัพย์สินที่ออกโดยหน่วยงานในต่างประเทศ ซึ่งมองว่าการเก็บภาษีในอัตราที่สอดคล้องเทียบเท่าที่อื่นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งอาจจะต้องสร้างสมดุลระหว่างอัตราภาษีที่จะจัดเก็บภาษี และจะต้องเทียบเคียงกับการลงทุนอื่นด้วย
สำหรับการลงทุนคริปโตฯ มี 2 ส่วน ได้แก่ 1. Day trade ซื้อขาย-มีรายได้ทุกวัน ซึ่งในกรณีนี้ สหรัฐฯ มองว่าเป็นรายได้คล้ายกับการทำงาน ซึ่งถูกจัดเก็บภาษีในอัตราเดียวกับภาษีเงินได้ และ 2.การลงทุนที่ถือยาวเกิน 1 ปี ในสหรัฐฯ มองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งจะนับเป็นอีกอัตราหนึ่งเทียบเท่ากับการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ฉะนั้นการคิดอัตราจะต้องเทียบเคียงว่าตรงไหนคืออัตราที่เหมาะสม
ในเวลานี้ต้องยอมรับว่า Cryptocurrency หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลถูกตีกรอบควบคุมในหลายด้าน ด้วยเหตุผลสำคัญคือการหวั่นเกรงว่าอาจสร้างผลกระทบในเรื่องต่างๆที่จะตามมา ทำให้ ธปท. ,สำนักงาน ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง จึงมีการหารือเพื่อวางแนวทางกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดย ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้การสนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวกให้ร้านค้า หรือการดำเนินการใดๆ ที่ทำให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ เช่น ต้องไม่โฆษณาหรือเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า เพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
2. ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้า ในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไปช่วยร้านค้าในการสร้างระบบในการคำนวณค่าสินค้าและบริการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล หรือสร้างคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ลูกค้าจ่ายค่าสินค้าและบริการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เป็นต้น
3. ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 4. ในกรณีที่ผู้ซื้อขายหรือลูกค้า ทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น จะโอนให้กับร้านค้าหรือบุคคลอื่นไม่ได้
5. ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงินจากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ และ 6. ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ โดย หากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
เนื่องจาก ก.ล.ต.มองว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว จะไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยผู้ลงทุน ผู้บริโภค ประชาชน รวมทั้งผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่างๆ ยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุนได้ตามปกติ ขณะเดียวกันหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการกำกับดูแลการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในหลายประเทศ
“ธปท. คำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึงเทคโนโลยีเบื้องหลัง และมองว่าการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่เทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ดังกล่าวก็ควรได้รับการสนับสนุนโดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน” “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธปท.แสดงความเห็น
และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลให้หลายบริษัทจดทะเบียนที่มีแผนนำ Cryptocurrency มาใช้เป็นเงินอีกสกุลในการชำระหรือซื้อสินค้าของบริษัทจำเป็นต้องเลื่อนโครงการดังกล่าวออกไป เริ่มที่ “อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI กล่าวว่า จากการที่ ธปท. สำนักงานก.ล.ต. และ กระทรวงการคลังหารือร่วมกัน โดยห้ามใช้ ดิจิทัลแอสเซ็ท หรือเงินดิจิทัลในการชำระสินค้าและบริการ ทำให้บริษัทต้องยกเลิกโครงการการดังกล่าวไปก่อน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นข้อห้ามทางกฎหมายไปแล้ว
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ผู้บริหารของ SIRI เชื่อว่ามีเพียงเล็กน้อย เพราะสัดส่วนในมูลค่าของการใช้ คริปโทฯ ในการซื้อบ้านไม่เยอะถ้าเทียบมูลค่าบ้าน ซึ่งจ่ายด้วยคริปโทฯ ราว 10-20% ของราคาบ้าน ส่วนที่เหลือชำระเป็นเงินสด อย่างไรก็ตามมองว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องของนวัตกรรมทางด้านการเงิน ซึ่งบริษัทต้องเรียนรู้ และอยู่กับมัน บางเรื่องที่เป็นประโยชน์ก็ต้องเรียนรู้ไป แต่ก็เข้าใจรัฐบาลถ้าต้องควบคุม สำหรับลูกบ้านที่จ่ายด้วยคริปโทฯ ไปแล้ว ก็ต้องรอดูว่ากฎหมายจะมีผลย้อนหลังหรือไม่ ถ้ากฎหมายออกมาชัดเจน ก็ต้องปฏิบัติตามที่ประกาศ
เพราะก่อนหน้านี้ SIRI ได้ออกโครงการเปิดรับสกุลเงินดิจิทัล โดยใช้คริปโทฯ ซื้อที่อยู่อาศัยของแสนสิริได้ทุกโครงการ พร้อมยังเปิดรับในการจ่ายค่าส่วนกลางโครงการได้ ด้วยการเปิดรับคริปโทถึง 4 สกุลเงินดิจิทัล ได้แก่ Bitcoin, Ethereum (ETH) , USDC และ USDT โดยเริ่มโครงการไปเมื่อเดือน ก.ค.64 ที่ผ่านมา
ขณะที่ “นรุตม์ เจียรสนอง” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR กล่าวว่า บริษัทต้องหยุดแผนการใช้เงินดิจิทัลแลกตั๋วภาพยนตร์ไปก่อน เนื่องจาก พาร์ทเนอร์ 2 ราย คือ ซิปเม็กซ์ (ZIPMEX) และแรพิดซ์ (RAPIDZ) ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นตัวกลางเรื่องการชำระเงิน รายงานว่ากฎหมายยังไม่ชัดเจน ต้องระมัดระวัง โดยขอรอดูนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ชัดเจนอีกครั้ง
ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจและรายได้นั้น ยังถือว่าน้อยมาก เนื่องจากที่ผ่านมายังเป็นเพียงช่วงการทดลอง ลูกค้าที่มาใช้บริการก็ยังมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ในทางเทคนิค บริษัทมีความพร้อมที่จะรองรับการชำระสินค้าด้วยเงินดิจิทัลแล้ว แต่ถ้าพาร์ทเนอร์ ยังกังวลนโยบายของ สำนักงาน ก.ล.ต.และธปท. ทางบริษัทจะต้องขอหยุดโครงการไว้ก่อน แต่หากในอนาคตภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น หรืออนุญาต MAJOR ก็พร้อมจะกลับมาขายตั๋วหนังด้วยสกุลเงินดิจิทัล ได้ทันที
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทาง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จับมือ ซิปเม็กซ์ (ZIPMEX) แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย และ แรพิดซ์ (RAPIDZ) ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มโครงการ “ทดลองรับแลกตั๋วหนังด้วยสกุลเงินดิจิทัล” รายแรกของไทย ที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สาขารัชโยธิน เป็นที่แรก ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.64 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ “รังสรรค์ พวงปราง” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า แผนการใช้ คริปโทเคอร์เรนซี่ ในการชำระสินค้าในเครือ PTG ต้องเลื่อนแผนดังกล่าวออกไป เนื่องจากล่าสุดภาครัฐ เตรียมออกกฎหมายห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระสินค้า โดยที่ผ่านมาบริษัทได้เตรียมทำแพลตพอร์มที่รองรับคริปโทเคอร์เรนซีในการชำระสินค้าและบริการไว้แล้ว ซึ่งหากมีโอกาสบริษัทก็พร้อมจะนำออกมาใช้ทันที
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า หลักเกณฑ์ห้ามนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระสินค้าของภาครัฐ จะส่งผลให้ในหลายธุรกิจที่กำลังมีแผนเปิดรับการชำระเงินรูปแบบใหม่นี้ จำเป็นต้องชะลอหรือเลื่อนโครงการดังกล่าวออกมาเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมหลายฝ่ายเชื่อว่ายังเป็นผลกระทบในกรอบที่จำกัด เนื่องจาก Cryptocurrency ในปัจจุบันยังเป็นไปในรูปแบบการลงทุนมากกว่าการชำระสินค้า จึงเชื่อหลักเกณฑ์ควบคุมที่ออกมาจะไม่ทำให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศถูกลดทอนจนหมดความน่าสนใจลงไป
ในทางกลับกัน สิ่งที่น่ากังวลและยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย หลายฝ่ายยังยกให้การเรียกเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล แม้กรมสรรพการ จะลดความตรึงเครียดที่มีมาก่อนหน้านี้ โดยการการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.) จากการนำผลขาดทุนมาหักกลบกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน แต่ก็เชื่อว่ายังไม่เป็นที่ถูกใจนักลงทุนมากเท่าใด และอาจทำให้บางส่วนหนีหายออกไปจาก Exchange ไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.ไปหาผู้ให้บริการในต่างประเทศเพื่อหลบเลี่ยง ซึ่ง ถือเป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐที่จะต้องหาวิธีจัดการ การลงทุนของตลาดในประเทศยังมีความน่าสนใจอยู่ หรือบางทีการปล่อยให้ตลาดเติบโตไปก่อนและค่อยมาดำเนินการจัดเก็บจะเป็นคำตอบที่ช่วยให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยสดใสไม่แพ้ตลาดต่างประเทศอื่นๆ