"เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น" เตรียมร่อนหนังสือทวงถามความเป็นธรรมต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งคำถาม "ใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรมหรือไม่ หรือมีธงอยู่ในใจว่าไม่ต้องการให้กลับมาเทรดฯ" ขอความเห็นใจให้นักลงทุนที่ติดหุ้นและหาทางออกไม่ได้มาเป็นสิบปี พร้อมเตรียมร่อนหนังสือถึงผู้จัดการตลาด-หน่วยงานยุติธรรมสอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่สร้างความเสียหายผู้ถือหุ้น
รศ.ดร.จิรศักดิ์ จิยะจันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WORLD) ชี้แจงกรณีการเข้าทำ Share And Purchase Agreement ระหว่างบริษัทฯ และ NauticAWT Limited (NauticAWT) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ว่า สาเหตุที่ไม่ได้เปิดเผยกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นแค่ขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ยังไม่มีมติที่เกี่ยวข้องกับการขายออกมาแต่อย่างใดทั้งสิ้น
รศ.ดร.จิรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เพียงแค่มติอนุมัติหลักการสำหรับแผนงานในอนาคตสำหรับ WIE ซึ่งดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน WIE ได้ขายพื้นที่และโอนกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่ออกไปแล้ว ขณะที่พื้นที่ส่วนน้อยที่ยังเหลือคาดว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดได้ในปี 2566 จากนั้นจะมีเพียงรายได้ในส่วนของระบบสาธารณูปโภคเท่านั้น คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีความเห็นว่าหากขายเงินลงทุนได้จะสามารถนำเงินที่ได้ไปลงทุนในโครงการอื่นที่สร้างผลตอบแทนมากกว่า ซึ่งนี่คือแผนงานที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ ฉะนั้นการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้บริษัทฯ “กลับไปแก้ไขตัวเลขที่ผ่านมาแล้วในอดีต เพื่อให้ตัวเลขเปลี่ยนจากการมีกำไรกลายมาเป็นขาดทุน” เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเพราะจะทำให้บริษัทฯ ขาดคุณสมบัติในการกลับเข้ามาซื้อขาย (Resume Trade) ทันที ดังนั้น บริษัทฯ จึงยังไม่เห็นด้วยที่จะให้แก้ไขข้อมูลตัวเลขกำไรสุทธิที่บริษัทฯ ของปี 2563 งวด 6 เดือน ของปี 2564 และงวด 9 เดือนของปี 2564 ตามคำสั่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ
คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สนับสนุนให้บริษัทฯ กลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.เจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ขาดความระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจ เนื่องจากผู้บริหารชุดปัจจุบันที่เข้ามาแก้ปัญหาของบริษัทฯ ที่ถูกหยุดพักการซื้อขายได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ มีการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานต่างๆ ฉะนั้นพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่เรียกให้กรรมการบริษัทฯ ต้องชี้แจงตลอดเวลาโดยไม่เข้าใจกรรมการที่มาแก้ไขบริษัทฯ ที่เสียหาย จึงทำให้กรรมการบริษัทฯ เห็นว่ามีวาระซ่อนเร้นเสมือนหนึ่งไม่ต้องการให้บริษัทฯ กลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์
2.การโต้ตอบโดยหนังสือของตลาดหลักทรัพย์ฯ แตกต่างและไม่เป็นไปตามที่ได้พูดคุยกัน เนื่องจากเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชิญกรรมการเข้าไปชี้แจง ทางเจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มักจะบอกว่าไม่มีปัญหาอะไรมาโดยตลอด แต่เมื่อเป็นหนังสือของตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับมีข้อความเป็นไปในอีกทาง...เหมือนมีแนวโน้มว่าจะไม่อนุญาตให้บริษัทฯ กลับไปซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเหตุผลที่ไม่น่าเป็นไปได้ กล่าวคือเจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีลักษณะการตัดสินใจโดย “นำการคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาและตัดสินสิ่งที่ได้เกิดและผ่านไปแล้ว” เปรียบเสมือนมีการตั้งธงเอาไว้ว่าจะไม่ยอมให้บริษัทฯ กลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งโดยปกติหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการเป็นที่ปรึกษาที่ดี รวมไปถึงต้องผลักดันและส่งเสริมให้บริษัทเข้าไปซื้อขายให้ได้
3.บริษัทฯ เพียงแค่อนุมัติในหลักการให้ศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้นแต่ยังไม่ได้ดำเนินการจำหน่ายเงินลงทุนใน WIE แต่อย่างใด ตามแผนงานยังต้องมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาฝ่ายต่างๆ เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้อย่างละเอียด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากรรมการบริษัทฯ อาจจะไม่อนุมัติ รวมถึงที่ประชุมผู้ถือหุ้นอาจจะมีมติไม่อนุมัติกได้เช่นกัน
เมื่อพิจารณาจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติให้ฝ่ายบริหารไปพิจารณาปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน และผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ตลอดจนผู้ถือหุ้น เพื่อกำหนดแนวทางในการรักษาประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ ตลอดจนยับยั้งความเสียหายใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีแนวทางดังนี้
1.ทำหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ
2.ทำหนังสือบอกกล่าว รวมถึงพิจารณาใช้กระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจอย่างไม่ระมัดระวังในการพิจารณาการพ้นเหตุเพิกถอน การขอย้ายกลับมาซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงการสิ้นสภาพการเป็นบริษัทจดทะเบียน เพื่อโต้แย้งการใช้ดุลพินิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ อันจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และเป็นการยืนยันว่าได้ทำตามระเบียบและมาตรฐานสากลของประเทศไทย