xs
xsm
sm
md
lg

ภาษีคริปโต-ภาษีหุ้น..สุดท้ายไม่ได้เก็บ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัทนายหน้าซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีหรือสินทรัพย์ดิจิทัล กำลังเกิดความโกลาหล หลังกรมสรรพากรประกาศเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายเงินดิจิทัล หรือแคปปิตอลเกนในอัตรา 15% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการซื้อขายคริปโตอย่างรุนแรง

ภาษีที่จะเก็บในอัตรา 15% คิดเฉพาะในส่วนที่เป็นกำไรจากการซื้อขายเงินดิจิทัล เช่น ต้นทุนที่ซื้อมา 1 แสนบาท แต่ขายไป 1.5 แสนบาท โดยมีกำไร 5 หมื่นบาท กรมสรรพากรจะเก็บภาษีเฉพาะส่วนที่กำไร 5 หมื่นบาท หรือต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย 7.5 พันบาท

และคิดเฉพาะการซื้อขายแต่ละรายการ หรือแต่ละธุรกรรมการซื้อขาย โดยไม่สามารถนำรายการซื้อขายหรือธุรกรรมการซื้อขายรายการอื่นที่ขาดทุนมาหักกลบรายการที่กำไรได้

บริษัทที่ดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายเงินดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีทั้งหมด 7 ราย โดยบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด เป็นยักษ์ใหญ่ มีส่วนแบ่งการตลาด หรือมาร์เกตแชร์ประมาณ 93% ของมูลค่าการซื้อขายเงินดิจิทัลทั้งหมด

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซีเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีผู้เปิดบัญชีซื้อขายเก็งกำไรประมาณ 1.4 ล้านราย และมีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่อง

การเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายคริปโต เป็นการสร้างรายได้เข้ารัฐเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ และเพื่อความเป็นธรรมของประชาชน เพราะเมื่อมีรายได้ ทุกคนจะต้องเสียภาษี

แต่การเก็บภาษีจะกระทบต่อการซื้อขายเก็งกำไรคริปโต เพราะจำนวนผู้เล่นจะลดลง ความถี่ในการซื้อขายลดลง และทำให้รายได้ของบรรดานายหน้าซื้อขายเงินดิจิทัลทั้งหมดลดฮวบลงด้วย

โบรกเกอร์คริปโตจึงออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายการเก็บภาษี เงินดิจิทัลทั่วโลกกำลังเกิดการปรับฐานอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบิตคอยน์ เงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงสุด ขณะที่เงินดิจิทัลสัญญาชาติไทย ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขาย โดยเฉพาะ “KUBCOIN” ซึ่งรูดลงมาประมาณ 40% จากสูงสุดประมาณ 590 บาทต่อ 1 เหรียญ ลดลงเหลือประมาณ 300 บาทเศษ

ส่วนมูลค่าซื้อขายเงินดิจิทัลผ่าน “บิทคับ ออนไลน์” ก็ซบเซาลงด้วย

ผู้ประกอบธุรกิจคริปโตระบุว่า การเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายเป็นการจำกัดการเติบโตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผลักดันให้นักเก็งกำไรคริปโตหันไปเปิดบัญชีซื้อขายในต่างประเทศ ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นข้ออ้างที่รับฟังได้

เพราะปัจจุบัน มีนักเก็งกำไรเงินดิจิทัลบางส่วนเปิดบัญชีซื้อขายกับโบรกเกอร์ในต่างประเทศ และไม่ได้มีเป้าหมายหลบภาษี แต่เป็นเพราะเชื่อมั่นในระบบโบรกเกอร์คริปโตต่างประเทศ

และค่านายหน้าซื้อขายต่ำมาก ประมาณ 0.07% หรือถ้ามูลค่าการซื้อขายสูงอาจต่อรองได้ถึง 0.03% โดยมูลค่าซื้อขาย 1 ล้านบาท จ่ายค่านายหน้าเพียง 300 บาท

ส่วนโบรกเกอร์คริปโตของไทยคิดอัตราค่านายหน้าสูงกว่า เช่น “บิทคับ ออนไลน์” คิดในอัตรา 0.25% หรือมูลค่าซื้อขาย 1 ล้านบาท คิดค่านายหน้า 2,500 บาท และทำให้ผลประกอบการ "บิทคับ ออนไลน์" เติบโตก้าวกระโดด 3 ปีติดต่อกัน

การถูกทุบหม้อข้าว ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งแม้จะมีจำนวนเพียงน้อยนิด แต่สามารถโวยวายจน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ยิน และออกมาแสดงท่าที โดยระบุว่า

การเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายคริปโต จะสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดการเงินสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้สตาร์ทอัปกลุ่มฟินเทคเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ส่วนกรณีที่มีผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลสะท้อนว่า หลักเกณฑ์การเก็บภาษีกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทยังไม่มีความชัดเจน นายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้กรมสรรพากรเนินการชี้แจงให้เกิดความชัดเจน

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้พูดชัดว่า สนับสนุนนโยบายการเก็บภาษีคริปโตหรือไม่ แต่หลังออกมาแสดงท่าที ราคา "KUBCOIN" ก็ดีดตัวขึ้นทันที

เพราะการสั่งให้กรมสรรพากรดำเนินการชี้แจงการเก็บภาษีให้เกิดความเข้าใจชัดเจนนั้น เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้กรมสรรพากร ทบทวนการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายคริปโตใหม่

ไม่รู้ว่า กรมสรรพากรจะถอดใจล้มเลิกแผนการเก็บภาษีคริปโตหรือไม่

แต่ถ้าชูธงเดินหน้าเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายคริปโต บรรดาโบรกเกอร์เงินดิจิทัลเหนื่อยแน่ เพราะกำไรจะไม่เฟื่องฟูเหมือนที่ฝันหวานกันไว้

ชาวคริปโตที่ลุกฮือต่อต้าน ถ้าได้รับชัยชนะ โดยกรมสรรพากรยกเลิกการเก็บภาษีกำไรจากการขายคริปโต จะเป็นแบบอย่างให้ชาวหุ้นลุกฮือต่อต้านการเก็บภาษีจากการขายหุ้น 0.10% ตาม

และชาวหุ้นเริ่มก่อหวอดล่ารายชื่อประท้วงการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นกันแล้ว

ภาษีคริปโต ภาษีหุ้น สุดท้ายสรรพากรอาจต้องยกธงขาว คว้าน้ำเหลว เหลือมือเปล่ากลับเข้ากรม ไม่ได้เก็บภาษีคริปโตและหุ้นนำเงินเข้ารัฐแม้แต่บาทเดียว








กำลังโหลดความคิดเห็น