ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวลดลง ขณะที่นักลงทุนจับตาสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,572.74 จุด ลดลง 6.80 จุด หรือ -0.19% ขณะที่ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 23,523.90 จุด เพิ่มขึ้น 30.52 จุด หรือ +0.13% ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการวันนี้ (10 ม.ค.) เนื่องในวันบรรลุนิติภาวะ (Coming of Age Day)
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แม้กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่น่าผิดหวังในวันศุกร์ (7 ม.ค.) โดยเพิ่มขึ้นเพียง 199,000 ตำแหน่งในเดือน ธ.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 422,000 ตำแหน่ง ซึ่งตอกย้ำความวิตกของนักลงทุนที่ว่า เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม รายงานการจ้างงานดังกล่าวบ่งชี้ถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 4.7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.1%
นักลงทุนยังจับตาการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก โดยศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ รายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นทะลุหลัก 60 ล้านรายแล้ว ณ วันอาทิตย์ที่ 9 ม.ค.ตามเวลาสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศที่มียอดติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงสุดในโลก โดยยอดติดเชื้อในสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของยอดติดเชื้อทั่วโลก ส่วนยอดผู้เสียชีวิตคิดเป็นสัดส่วนกว่า 15% ของยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลก
ขณะที่ออสเตรเลียมียอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 1 ล้านรายแล้ววันนี้ โดยครึ่งหนึ่งนั้นเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน
ทางด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติจีน (CCDC) ยืนยันว่า จีนพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน 2 รายในเมืองเทียนจิน ซึ่งถือเป็นการพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนครั้งแรกในประเทศจีน ส่งผลให้เมืองเทียนจินสั่งระดมการตรวจเชื้อขนานใหญ่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ต้องการให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นศูนย์ หรือ Zero-COVID