"คอลลิเออร์สฯ" ส่องตลาดอาคารสำนักงานในปี พ.ศ.65-66 ระทึก ซัปพลายอาคารสร้างเสร็จจ่อทะลักเกือบ 1 ล้าน ตร.ม. ส่งสัญญาณโอเวอร์ซัปพลายได้ หวังอัตราการเช่าพื้นที่อาคารเดิมปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจอุตฯ "คลังสินค้าให้เช่าและนิคมฯ" ดาวเด่นต่อเนื่องข้ามปี ผู้ประกอบการต่างชาติเร่งหาพื้นที่รองรับการส่งออก
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดพื้นที่สำนักงานในปี พ.ศ.2565 ว่า เป็นตลาดที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดการณ์ว่าในปีนี้ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ.2566 จะเป็นช่วงเวลาที่มีอุปทานใหม่ (ซัปพลาย) ก่อสร้างแล้วเสร็จและเข้าสู่ตลาดอีกเกือบ 1 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งสร้างความกังวลใจให้ผู้พัฒนาพื้นที่สำนักงานในประเทศไทยพอสมควร หากพื้นที่สำนักงานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเหล่านั้นไม่สามารถดูดซับได้อย่างที่คาดการณ์ไว้
โดยตามข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ.2564 อุปทานพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 9.314 ล้าน ตร.ม. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.6 ขณะที่อัตราการเช่าโดยรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย มาอยู่ที่ร้อยละ 93.8 เนื่องจากอุปทานพื้นที่สำนักงานใหม่ที่เปิดในปีที่ผ่านมา หลายอาคารยังคงมีอัตราการเช่าที่ค่อนข้างต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงมาจากกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สถาบันการเงิน และธุรกิจโคเวิร์กกิ้ง สเปซ และการย้ายพื้นที่อาคารสำนักงานเพื่อการลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ
ซึ่งฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่า ในปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2564) ผู้เช่าบางส่วนยังคงมีความต้องการต่อสัญญาเช่าพื้นที่ แต่ขณะเดียวกัน มีความต้องการขอปรับลดขนาดพื้นที่เช่าลงจากเดิม ขณะที่ผู้เช่ารายใหญ่ที่มีการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในแต่ละอาคารสำนักงานมีอำนาจการเจรจาต่อรองที่สูงขึ้นเพื่อที่จะได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้นจากเจ้าของอาคาร
สำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมคลังสินค้าให้เช่า และนิคมอุตสาหกรรม ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย มองว่าจะยังคงเป็นอีกดาวเด่นที่สำคัญของภาคอสังหาริมทรัพย์อีกหนึ่งประเภทในปีนี้ต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมา (2564) โดยเฉพาะคลังสินค้าให้เช่า ความต้องการคลังสินค้าคุณภาพสูง รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าและโรงงานของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และผู้ประกอบการในกลุ่มคอนซูเมอร์ที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปี พ.ศ.2563 เป็นต้นมา ยังมีความต้องการอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งฝ่ายวิจัยพบว่า ณ สิ้นครึ่งแรก ปี พ.ศ.2564 คลังสินค้าและโรงงาน รวมถึงศูนย์กระจายสินค้ามียอดการเช่าสัญญาใหม่มากกว่า 150,000 ตร.ม. โดยพบว่าผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดยังสามารถปล่อยเช่าพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และยังคงไม่ปรับลดเป้าผลประกอบการในปี 64 แม้ในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
"ทิศทางธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานในปีนี้ ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ว่า จะยังสามารถเติบโตได้ดี ความสนใจเช่าพื้นที่คลังสินค้าสำเร็จ (Built-to-Suit) และ Warehouse Farm ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการต่างชาติยังมีความสนใจจะลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่มาก บวกกับความต้องการในภาคการส่งออกสินค้าหลายกลุ่ม"