"โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย)" ผันตัวเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่การเพาะปลูก หลังคนไทยตื่นตัวใช้ยาสมุนไพรไทยรักษาอาการเจ็บป่วย ขณะพืชกัญชากัญชง เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญหลังผู้ประกอบการรายใหญ่กระโดดเป็นผู้เพาะปลูกกัญชงมากขึ้น ชี้เป็นโอกาสของ JP นำศักยภาพด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และโรงงานที่ได้มาตรฐานสร้าง Value Chain ตอบสนองดีมานด์ หนุนกลุ่มธุรกิจ OEM ขยายตัวได้ดีในปี 2565
ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JP ผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่าย ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบครบวงจร เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยในปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น โดยยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูงจากเทรนด์ในปัจจุบันที่พบว่า ประชาชนมีการรับรู้และเชื่อมั่นในคุณสมบัติยาสมุนไพร โดยนำมาใช้รักษาโรคแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันมากขึ้น เช่น ใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการของโรคหวัด เช่น ไอ เจ็บคอ และช่วยลดไข้แทนยาพาราเซตามอล เป็นต้น รวมถึงนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมกลุ่มโรงพยาบาลรัฐจ่ายยาสมุนไพรให้แก่ผู้ป่วย เป็นปัจจัยเชิงบวกที่มีกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทำให้มีกลุ่มเกษตรกรรายย่อยผู้เพาะปลูกพืชสมุนไพรหลายรายที่อยากมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรเป็นของตัวเอง ได้ว่าจ้างให้โรงงานที่มีใบอนุญาตผู้ผลิตยาสมุนไพรเป็นผู้ผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับกระแสผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง ที่เป็นเมกะเทรนด์เข้ามาสร้างความคึกคักแก่อุตสาหกรรมอย่างมาก โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นการรวมตัวของเกษตรกรรายย่อย หรือกลุ่มภาคเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตเพาะปลูกพืชกัญชงเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบนำไปสกัดเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากกัญชงกัญชา จึงเป็นโอกาสของ JP ที่เป็นผู้ประกอบการโรงงานที่มีศักยภาพความพร้อมครบทุกด้าน จากการให้บริการให้บริการแก่ลูกค้าแบบครบวงจร ทั้งองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญ ทีมงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานการผลิตสำหรับการผลิตยา (GMP PIC/s) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกับกลุ่มผู้เพาะปลูกเพื่อพัฒนา Value Chain หรือห่วงโซ่คุณค่าจากการนำพืชสมุนไพรสู่การผลิตภัณฑ์สินค้าเชิงพาณิชย์ ผ่านรูปแบบความร่วมมือกับเกษตรกรรายย่อยที่ต้องการเป็นเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร หรือร่วมมือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการที่เป็นผู้เพาะปลูกกัญชง เพื่อสกัดสารจากกัญชงนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตรวมถึงพัฒนาสินค้าร่วมกัน
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ นำองค์ความรู้ด้านวิชาการมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ สอดคล้องนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาสินค้าเชิงพาณิชย์ ทั้งผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพรและยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ซึ่งเป็นโอกาสของ JP ที่จะสร้างการเติบโตที่ดีโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ที่จะเริ่มเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 เมื่อโรงงานได้รับ ใบอนุญาตการผลิตที่มิใช่การปลูก (สกัด) พืชกัญชง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว