หลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน หรือเส้นทางรถไฟ “ล้านช้าง” เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยทางรถไฟสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative -- BRI) ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ริเริ่มขึ้นในปี 2013 เพื่อขยายเส้นทางการเดินทางขนส่งเชื่อมต่อผู้คนใน 70 ประเทศทั่วโลกทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งแน่นอนว่าการเปิดให้บริการถไฟความเร็วสูงจะมีทั้งประโยชน์ในเรื่องการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า ที่จีนจะส่งผ่านมาลงมาทางตอนใต้ ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่า คนไทยส่วนหนึ่งจะใช้โอกาสนี้ในการเดินทางท่องเที่ยวไปสู่ประเทศจีน หลังจากที่ประเทศลาวทยอยเปิดประเทศในช่วงต้นปี 2565
“รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ตอนนี้จ่อไทยแล้ว ซึ่งผลที่จะตามมา จังหวัดหนองคายน่าจะได้รับอานิสงส์ ขณะที่เราจะสามารถส่งสินค้าไทยออกไปได้ เช่นเดียวกันสินค้าจากจีนก็จะเข้ามาด้วย และคิดว่าเมื่อทุกอย่างเปิด มูลค่าการค้าชายแดนที่ด่านหนองคายจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4-5 เท่า ซึ่งผมคิดว่าในช่วงสั้น ระวังคนไทยไหลออกไปประเทศลาว แต่เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศ รับรองได้คนจีนทะลักมาแน่ สิ่งสำคัญเราจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมาเช็กอินที่ภาคอีสาน เราต้องสร้างสตอรี่ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าว
"Happy Model" การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ส่งเสริม ศก.ชุมชน
น.ส.ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวถึงแนวคิดของการทำ "Happy Model" ซึ่งเป็นโครงการอารมณ์ดีมีความสุขว่า ในช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การท่องเที่ยวของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะ Over Tourism ทำให้แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติมีโอกาสเสื่อมโทรม ซึ่้งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น ทางสภาหอการค้าไทยได้มองหาและคิดว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปแน่นอน การเดินทางเป็นหมู่คณะลดน้อยลง ต้องการความเป็นส่วนตัว เน้นเรื่องความสะอาด ไม่ต้องการเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม จึงเป็นที่มาของโครงการ Happy Model ที่จะเป็นกลไกทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศและที่เดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทยมีความสุข ท่องเที่ยวอย่างดีและคุ้มค่าที่ได้เดินทางเข้ามา
"การได้นักท่องเที่ยวคุณภาพสูงอาจไม่ได้หมายถึงเรื่องการจ่ายเงินเยอะ แต่เป็นเรื่องกลุ่มคนเหล่านี้ให้ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยที่เราใส่สินค้าและบริการในเรื่องของ BCG : Bio-Circular-G reen Economy ท่องเที่ยวสมดุล ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) เข้าไป เราจึงใช้กลไกเรื่องของ Happy Model เข้ามา ซึ่งจุดหมายปลายทาง คือ การได้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกัน จะปลูกฝังชุมชนให้มีส่วนรวมตามแนวทางของ Happy Model ในการพัฒนาพื้นที่รองรับให้นักท่องเที่ยว รวมถึงสินค้าและบริการ ช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชนให้มากกว่าที่จะไปกระจุกตัวในเมืองหลักๆ โดยต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี แบ่งปันสิ่งดีๆ ทำให้เกิดเรื่องราวขึ้นมา รวมถึงจะผูกเรื่อง BCG เข้าไปในโรงแรม มีการจัดแยกขยะ ลดเรื่องการใช้สินค้าที่มีส่วนของเคมีลง เช่น ถุงพลาสติก หรือบ่อขยะ จะต้องมีการกรองก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ เป็นต้น เป็นการส่งเสริมโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Hotel ทั้งหมดเพื่อความยั่งยืนของการท่องเที่ยว โดยที่ประเทศไทยจะต้องไม่เสียอะไร แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งทริปที่จังหวัดอุดรธานี เป็นการนำร่องในเรื่องของ Happy Model เนื่องจากทุกภาคส่วนมีความพร้อม หากเป็นที่ต้องการจะนำเข้าไปสู่แพกเกจของบริษัทนำเที่ยว ทำให้เกิดสภาพคล่องในธุรกิจบริการมากขึ้น และหลังจากทริปอุดรธานีแล้ว จะมีจังหวัดนำร่องอีก ได้แก่ นครพนม สมุทรสงคราม จันทบุรี และกระบี่"
น.ส.ศุภวรรณ กล่าวว่า แม้ในอนาคตนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย หรือแม้แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามานั้น กระบวนการดูแลแหล่งท่องเที่ยวจะต้องทำควบคู่กัน มีการป้องกัน ปิด ซ่อมสร้างให้กลับมาสู่ภาวะปกติ ไม่ใช่เปิดอย่างเต็มที่ แต่ยอมรับว่า ยากเหมือนกันที่จะแนะแนวทางให้ผู้ประกอบการหรือชุมชนให้เข้าใจถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและใส่ใจเรื่องการดูแลสิ่งแวล้อมผ่านการให้องค์ความรู้ และร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและชุมชนต่างๆ ไม่ทำแบบเดิมที่เปิดกว้างนักท่องเที่ยวเต็มที่ จนทำลายสิ่งแวดล้อมเหมือนในอดีต
อย่างไรก็ตาม ทางหากสามารถทำต้นแบบเรื่อง Happy Model ในแต่ละจังหวัดนำร่อง ก็จะรวบรวมทำเป็นแนวทางในคู่มือเพื่อให้แต่ละจังหวัดไปบริหารจัดการได้ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีอัตลักษณ์ไม่เหมือนกัน
แนะผู้ประกอบการโรงแรมบริหารกระแสเงินสด ทำตัวให้เล็กลง!
สำหรับภาพรวมตลาดธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน น.ส.ศุภวรรณ กล่าวก่อนประเทศไทยจะเริ่มมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นว่า ณ เวลานี้ ธุรกิจโรงแรมเริ่มดีขึ้น ตัวเลขอัตราการเข้าพักมีจำนวนมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก ส่วนที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นที่เข้ามาตอนนี้แค่แสนกว่าคน ขณะที่ในอดีตมีตัวเลขผู้ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย 3-4 แสนคนต่อเดือน ยังน้อยมาก ดิฉันคิดว่าต้องให้เวลา และหลายประเทศก็มีปัญหาในเรื่องการเปิดและปิดประเทศ
“ภาพรวมการนักท่องเที่ยวในประเทศดีมาก ด้วยโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน หรือทัวร์เที่ยวไทย คาดว่าสิ้นปี 64 ยอดจองห้องพักเต็มหมด ซึ่งคิดว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นกลยุทธ์และมาตรการที่ดีในการกระตุ้นตลาดในประเทศ แต่โดยภาพรวมแล้วผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรมเหนื่อยมากในตอนนี้ โรงแรมกว่าจะเปิดให้บริการได้ ถ้าจ้างคน (พนักงาน) ในตอนนี้ ดีมานด์ไม่มี แต่ซัปพลาย (ห้องพัก) อย่างนี้ขาดทุนแน่นอน สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้ คือ เปิดห้องพักในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการ ทำตัวให้เล็กลง ต้องมาดูความสามารถในการยืดเงิน เพราะรายได้ไม่ได้เข้ามาง่ายเหมือนแต่ก่อนแล้ว” น.ส.ศุภวรรณ กล่าว
อีสานกระทบไม่มากจากโควิด-19
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า เราอยากโฟกัสเรื่องท่องเที่ยวให้คนมาเที่ยวอีสาน ซึ่งในอดีตแล้วคนภาคอีสานไม่ได้ทัวร์จีนมาเลย อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดภาคอีสาน ไม่ค่อยถูกผลกระทบจากโควิด-19 หลายจังหวัดมีการควบคุมพื้นที่ได้ดี นักท่องเที่ยวภายในประเทศเดินทางมายังภาคอีสานเยอะขึ้น โรงแรมหลายแห่งในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี และจังหวัดเลย มีการจองห้องพักเต็ม ขณะที่จังหวัดนครพนม ท่องเที่ยวเติบโตถึง 120%
"แน่นอนว่า จีนมาก็เกิดแรงขับเคลื่อนที่แรงและใหญ่กว่า ซึ่งเราทำแบบจีนไม่ได้ ถ้าจะเปรียบนักท่องเที่ยวจีน ก็เหมือนกับน้ำ เราต้องบริหารจัดการให้ดี ตอนนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับภาคอีสานมากขึ้น โดยเฉพาะจากการเปิดใช้รถไฟความเร็วสูง" นายสวาท กล่าว
เฟ้นหาโปรดักต์ เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง
นายธเนศ วรศรัณย์ กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศที่มาก แต่ขณะเดียวกัน ก็สร้างปัญหาตามมาด้วย ซึ่งเราต้องวางแผนที่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ชาวบ้าน และต่อสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ซึ่งทางเราได้ใส่ Happy Model เข้าไปอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศและแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปีด้วย ซึ่งจะนำ Happy Model เข้าไปอยู่ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่อยู่ระหว่างการร่างแผนอยู่ โดยจะมีส่วนของการยกระดับอุตสาหกรรม BCG : Bio-Circular-G reen Economy ท่องเที่ยวสมดุล ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) เข้าไป นอกจาก 5 จังหวัดนำร่องแล้ว เรามีแผนที่จะทำทั่วประเทศภายใต้ชื่อ “1 หอ 1 Happy Model“
“เมื่อโควิดหายไป และกลับสู่การท่องเที่ยวอีกครั้ง เราต้องมาดูว่าอะไรจะต้องปรับเปลี่ยน ภาพใหม่ของการท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร ในส่วนของสภาหอการค้าไทย เราร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อน Happy Model ซึ่งคิดว่า ควรใช้เรื่องความคิดสร้างสรรค์ อัตลักษณ์ระดับท้องถิ่น รวมถึงเรื่องสุขภาพ เราอยากให้คนเข้ามาท่องเที่ยวมีสุขภาพกายและใจที่ดีด้วย สิ่งที่เราพูดเสมอว่า เมืองที่น่าอยู่ จะเป็นเมืองที่น่าเที่ยวเสมอ แต่เมืองที่น่าเที่ยวอาจจะเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ การทำ Happy Model ไม่ได้เป็นของใหม่ แต่ครั้งนี้จะเป็นการบูรณาการร่วมกันเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวคุณภาพสูงในทุกระดับทุกประเภท ทำให้แต่ละจังหวัดและท้องถิ่น มีเป้าเดินที่ชัดเจน และหากจะวิ่งไปข้างหน้าต่อ เป้าหมายถัดไปต้องทำอะไรบ้าง”
นายธเนศ ขยายความถึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ว่า จะไม่ใช่แค่มีเงิน แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง มีสุขภาพกายใจดี ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่เข้าไปท่องเที่ยวและต้องรับผิดชอบต่อสังคมที่เดินทางไปเยือน ซึ่งความรับผิดชอบทั้ง 3 ส่วน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเน้น และพร้อมที่จะจ่ายเพิ่ม ซึ่งสอดรับกับแนวคิดการทำ Happy Model และถือเป็นตลาดที่ใหญ่ เช่น นักท่องเที่ยวในยุโรป มองเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงนักท่องเที่ยวคนไทยที่เริ่มปรับตัวเช่นกัน ดังนั้น เราต้องคิดที่จะพัฒนาสินค้า (ซัปพลาย) และบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ต้องปรับแนวคิดผู้ใช้บริการในเรื่องมูลค่าเพิ่มทางจิตใจที่ต้องจ่ายเพิ่มด้วย ซึ่งจะทำให้เรามีนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย เป็นการคัดกรองนักท่องเที่ยวไปในตัวด้วย
ต้องวางกฎกติกาป้องกันทุนจีนผูกขาด
นายธเนศ กล่าวถึงผลจากการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ว่า เราคงมีประสบการณ์จากจีนมาแล้ว เราเห็นการเติบโตที่อยู่ในกรุงเทพฯ พัทยา หรือแม้แต่ภูเก็ต ซึ่งเวลานักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้าไทยก็เปรียบได้กับน้ำที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก พร้อมกับนักธุรกิจ นักลงทุนตามมาด้วย สุดท้ายจะต้องอยู่ในกรอบที่คนกลุ่มนี้วางไว้ เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นเรื่องราคาถูก โดยจะมีกลุ่มนักธุรกิจจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทยเพื่อรองรับลูกค้าของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร รถนำเที่ยว เป็นต้น
แต่หลังจากที่รถไฟความเร็วสูงลาว-จีนมาจ่อที่ประเทศไทยนั้น เรามีผลการศึกษาอยู่ว่า เส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยได้ แต่ด้วยระบบคมนาคมที่ยังไม่สะดวกในประเทศลาว ทำให้จังหวัดหนองคาย มีความเหมาะสม หากจีนเข้ามาต้องผ่านทางจังหวัดหนองคายแน่นอน ซึ่งเราต้องหาวิธีที่จะทำให้พื้นที่ในจังหวัดหนองคายและเชื่อมจังหวัดใกล้เคียงได้ประโยชน์ร่วมกัน
"หากเราจะเปิดรับการลงทุนจากประเทศจีน เราต้องมองเรื่องของความร่วมมือ อย่างเช่นที่พัทยา จีนร่วมกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น ขณะที่หอการค้าไทย และภาครัฐดึงการลงทุนที่มีเรื่องสิทธิประโยชน์ มีเรื่องของ BOI ได้ ถ้าเราคิดโซลูชนให้ดี จะไม่เสียทั้งสองฝ่าย ในต่างประเทศมีการจำกัดเรื่องการลงทุนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 แต่ไม่มีใครบอกว่า รายได้ที่เกิดจากการลงทุนเอากลับไปหมด เงื่อนไขเหล่านี้มีอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องร่วมกันผลักดันออกมา ไม่ใช่ปล่อยให้น้ำท่วมไปหมด แล้วมาสร้างกติกากัน ตามแก้คงไม่ทัน เหมือนเช่นที่ภูเก็ต และพัทยา อยู่ในพื้นที่ต่างชาติไปเกือบหมด ดังนั้น เรามาคิดดูว่า เราเก่งเรื่องธุรกิจโรงแรมมีบริการที่ดี แต่เรื่องการสร้างแหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่นั้นอาจยกให้จีนเข้ามาลงทุน หรือแม้แต่เรื่องระบบขนส่งขนาดใหญ่จีนมีความถนัด แต่ในเรื่องของขนส่งระบบย่อย ควรให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ดีไซน์เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องเตรียมการไว้ก่อน มันก็เหมือนกับทางน้ำ มีทางระบายน้ำ กักเก็บน้ำ ไม่ใช่ปล่อยน้ำแล้วมาที่กักเก็บ ก็ไม่ได้ประโยชน์" นายธเนศ กล่าว
ไทยประเทศแรกของโลกทำ Carbon Neutral Tourism
นายธเนศ กล่าวว่า เราต้องปรับเปลี่ยนเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเราต้องการชูเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเรากำลังมุ่งไปสู่การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral Tourism ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของโลกที่จะเกิดขึ้นมา เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ต่างกับรูปแบบของภาคอุตสาหกรรมที่จะเป็นเรื่องของการชดเชย เช่น ปลูกป่าชดเชยการปล่อยมลพิษ (การเพิ่มเครดิต) เป็นต้น
“รูปแบบของการท่องเที่ยวจะต่างกัน จะมุ่งปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ รู้จักใช้อย่างฉลาด ลดการใช้สิ่งของ ชดเชยหรือการเอาคืนมา เช่น บางโรงแรมจะมีจักรยานให้ลูกค้าได้ปั่น การปั่นแต่ละครั้งจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนไปยังโรงงานได้ เป็นกิจกรรมชดเชย ซึ่งได้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้”