ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ระบุ จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวที่ 0.9% และคาดว่าในปี 2565 และ 2566 จะขยายตัวที่ 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและคาดว่าจะกลับสู่ระดับ pre-COVID ได้ในช่วงต้นปี 2566 ขณะที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่คาดว่า
จะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทั้งนี้ การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ คณะกรรมการระบุว่า นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย.21) ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
ทั้งนี้ EIC SCB คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2565 โดยคาดว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า แต่เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกน่าจะทำได้ในปี 2566 และคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะเป็นไปอย่างช้าๆ โดย EIC ประเมินว่าขนาดของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ในปี 2566
พร้อมกันนั้น EIC SCB คาดว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินของกลุ่มเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มปรับตึงตัวขึ้นในปี 2565 จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก และจะไม่เป็นปัจจัยกดดันให้ กนง. ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets : EM) อื่นๆ เนื่องจาก 1) แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีจำกัดจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2) ในระยะสั้นเงินบาทอาจอ่อนค่าลงบ้างแต่ไม่รุนแรงนัก และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
และ 3) ปัจจัยพื้นฐานด้านเสถียรภาพต่างประเทศของไทยยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้แม้ว่าไทยมีความอ่อนไหวต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของสหรัฐฯ ไม่มาก แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมีนัยสำคัญ