xs
xsm
sm
md
lg

TWZ ลุยกัญชง-กัญชา-ยานยนต์ ลดเสี่ยงกระจายแหล่งรายได้เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น ” ปรับแผน แตกไลน์ธุรกิจจากขายและให้บริการเกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม สู่การพัฒนาวิจัยและผลิตกัญชง-กัญชา รวมถึงธุรกิจยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อปั๊มรายได้เติบโตแบบ New S-Curve ดันฐานรายได้ธุรกิจ Non-Telecom ขยับล่าสุดเพิ่มทุนกว่า 800 ล้านบาท รองรับแผนขยายงาน ขณะราคาหุ้นไม่คึกรับข่าว

หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงาน ผู้ประกอบการ หลายบริษัทเริ่มปรับกลยุทธการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการเบนไปสู่อีกหลายธุรกิจเพื่อกระจายรายได้และลดความเสี่ยงในเรื่องของรายได้เพียงทางเดียว บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่างเริ่มหาทางเพื่อให้อยู่รอดหรือเพื่อเพิ่มรายได้เข้าบริษัทและในระยะหลังจะพบว่าธุรกิจที่ได้รับความสใจคือการสกัดสารจากกัญชง-กัญชา

บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ คืออีกหนึ่งบริษัทที่ปรับเปลี่ยนและพยายามแตกไลน์ธุรกิจ จากธุรกิจเดิมที่ธุรกิจหลักเป็นผู้จำหน่ายและให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งประกอบด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซิมการ์ด บัตรเติมเงิน และอุปกรณ์เสริม ซึ่งระยะหลังนี้ TWZ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ธุรกิจอื่นเพิ่ม

เพราะเมื่อพิจารณาจากงบการเงินของ TWZ จะพบว่า รายได้โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 3 พันล้านบาทในรอบ 4 ปีที่ผ่ามมา (ดูตาราง) แต่กำไรสุทธิกลับไม่แปรผันตามรายได้ กล่าวคือกำไรไม่ถึง 100 ล้านบาทและที่สำคัญเมื่อปี 2563 ขาดทุน 7.50 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

แตกไลน์ธุรกิจ ปั้นรายได้เพิ่ม

อย่างไรก็ดี เมื่อการระบาดของโควิด-19 ไม่มีท่าทีจะยุติลง TWZ จึงไม่นิ่งดูดาย การเบนเข็มไปสู่ธุรกิจอื่นจึงเกิดขึ้น นับจาก ได้ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจรักจังฟาร์มจะจัดตั้งบริษัท กัญช์ยารักษ์ จำกัด ด้วยการร่วมลงทุนสัดส่วน 51% และกลุ่มวิสาหกิจรักจัง สัดส่วน 49% ซึ่ง "กัญช์ยารักษ์ฯ" จะได้สิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusivity) ในการได้สิทธิหรือสัมปทานในการซื้อวัตถุดิบที่ผลิตได้จากฟาร์มรวมถึงผลผลิตที่จะผลิตได้ในอนาคตแต่เพียงผู้เดียว ในราคาส่วนลดไม่น้อยกว่า 20 %ของราคาตลาด โดย TWZ จะเจรจากับกิจการอื่นๆที่เกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคในกลุ่มต่างๆ หรือ ที่เรียกว่า กลุ่มปลายน้ำ

ดังนั้น TWZ เดินหน้าเจรจาและได้บรรลุการเจรจาและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN โดยทาง TWZ และ กัญช์ยารักษ์ฯ จะเป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายวัตถุดิบ และ TKN จะเป็นผู้ผลิตและจัดหาช่องทางการจัดจำหน่าย ตามที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งคู่สัญญามีความประสงค์จะดำเนินการร่วมกันในการพัฒนาสูตร ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารหรือประเภทอื่น ๆ ตามที่ตกลงร่วมกัน ซึ่งมีส่วนผสมของพืชกัญชงและ/หรือกัญชา

นอกจากนี้ ในเดือน พ.ค. TWZ ได้ให้ บริษัท กัญช์ยารักษ์ จำกัด ซึ่ง TWZ ถือหุ้นสัดส่วน 51% ลงนามบันทึกข้อตกลงในการร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของพืชกัญชง-กัญชา กับ บริษัท กาโตว์ เฮ้าส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเบเกอรี่และเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ “กาโตว์ เฮ้าส์” (Gateaux House) เพื่อต่อยอดและขยายธุรกิจของ TWZ ที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชง-กัญชาไปยังผู้ผลิตสินค้าปลายน้ำ ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายเจตนาร่วมกันในการศึกษาวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกัญชงและกัญชา ตลอดจนร่วมกันผลิตและจำหน่าย สินค้าประเภทเบเกอรี่และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชงและกัญชา ซึ่ง บริษัทกัญช์ยารักษ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาวัตถุดิบและส่วนผสมจากพืชกัญชง-กัญชา และจะร่วมกับกาโตว์ เฮ้าส์ ในการพัฒนา ผลิต ทดลอง และวิจัยสินค้าร่วมกัน มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี และอาจลงนามสัญญาเพิ่มเติมต่อไป

“ความร่วมมือกับกาโตว์ เฮ้าส์ ในครั้งนี้ นับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของ TWZ เพราะกาโตว์ เฮ้าส์ เป็นผู้ผลิตเบเกอรี่และเค้กนมสดสูตรไต้หวันมากว่า 30 ปี มีผลิตภัณฑ์ทั้งขนมปังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสาขากว่า 30 แห่ง ทำให้สินค้ากัญชง-กัญชาที่พัฒนาและผลิตร่วมกันสามารถวางขายที่หน้าร้านได้เลย ซึ่ง TWZ จะรับรู้รายได้ได้ทันที”

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ TWZ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงศึกษาความเป็นไปได้การเข้าร่วมทุนกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักจังฟาร์ม ในการจัดตั้งบริษัท กัญช์ยารักษ์ จำกัด โดยกลุ่มตัวแทนรักจังฟาร์มสัดส่วน 49% แต่เมื่อเดือนสิงหาคมก็ยกเลิกสัญญาดังกล่าว หลังจากนั้น TWZ ส่ง บริษัท ซีบีดี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TWZ ถือหุ้น 99.99% ของทุนจดทะเบียน เพื่อทำบันทึกข้อตกลงร่วมทุน (MOU) กับบริษัท เอเอ ไบโอ จำกัด เพื่อร่วมดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับกัญชง

ปรับโครงสร้างใหม่หวังโตแบบ New S-Curve

จากการเดินหน้าลุยกัญชงกัญชามาตั้งแต่ต้นปี ล่าสุด นายกิตติพงศ์ กิตติภัสสร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TWZ ออกมาประกาศชัดว่า TWZ ได้ปรับโครงสร้างองค์กรและปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ภายใต้เป้าหมายสร้างการเติบโตแบบ New S-Curve โดยแยกสายธุรกิจชัดเจนระหว่างธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม (Telecom) และธุรกิจอื่น (Non-Telecom) อันหมายถึงธุรกิจยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) และธุรกิจกัญชงกัญชา ซึ่ง TWZ ตั้ง นายณัฐชัย เจริญขจรกุล ดำรงเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม เพื่อดูแลสายธุรกิจ Non-Telecom โดยเฉพาะ

ผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม หรือ Transformation ด้วยการสร้างโมเดลที่มีศักยภาพสูงมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมของ TWZ ได้ แม้ปัจจุบันโครงสร้างรายได้หลักยังมาจากสายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม (Telecom) แต่การมีคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจสายงาน Non-Telecom ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแส ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและกัญชงกัญชา จึงทำให้มั่นใจว่า เป้าหมายในการสร้าง TWZ ให้เติบโตแบบ New S-Curve มีความเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้

จากแผนการจะหันไปลุยในธุรกิจอื่นเพิ่มขึ้น ทำให้ TWZ ต้องระดมทุนเพิ่ม ด้วยการออกหุ้นสามัญใหม่ 4,964.47 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 496.44 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้ TWZ ได้จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ สัดส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาเสนอขายหุ้นละ 0.10 บาท และผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการจองซื้อ จะได้รับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ TWZ หรือวอร์แรนต์ (TWZ-W6) ที่บริษัทฯ จะออก 4,964.47 ล้านหน่วย โดยไม่คิดมูลค่าในอัตราส่วน 1 หน่วยหุ้นใหม่ต่อ 1 วอร์แรนต์ ราคาใช้สิทธิ 0.10 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้ TWZ ยังออกหุ้นกู้แปลงสภาพที่ให้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของบริษัทฯ 330,000 หน่วย ราคาเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท รวมมูลค่าระดมทุน 330 ล้านบาท เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ TWZ ทั้งจำนวน โดยหุ้นกู้แปลงสภาพนี้มีอายุ 2 ปี 6 เดือน กำหนดผลตอบแทน 6.25% ต่อปี อัตราแปลงสภาพ 1 หน่วยหุ้นกู้แปลงสภาพต่อ 5,000 หุ้นสามัญ

อีกทั้งผู้ถือหุ้นที่ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพจะได้รับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ TWZ (TWZ-W7) ที่จะออก 3,300 ล้านหน่วย โดยไม่คิดมูลค่า ในสัดส่วน 1 หุ้นกู้แปลงสภาพต่อ 1,000 หน่วย TWZ-W7 อัตราการใช้สิทธิแปลงสภาพ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้นสามัญ ในราคาใช้สิทธิ 0.10 บาทต่อหุ้น

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ทั้งสิ้นประมาณ 826.44 ล้านบาท ซึ่ง จะแบ่ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และลงทุนเพิ่มในธุรกิจอื่นอย่างยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และกัญชงกัญชา รวมถึงพืชกระท่อมและสมุนไพรอื่นๆ

ทั้งนี้ แม้ TWZ จะมีรายได้หลักจากธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม แต่หลังจากนี้ จะเน้นไปเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Non-Telecom ให้มากขึ้น เพราะทั้งธุรกิจยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และธุรกิจกัญชงกัญชา เป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแสและมีโอกาสในการเติบโตในอนาคต เพราะเป้าหมายของธุรกิจยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นรถเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการเติบโตของธุรกิจขนส่งที่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำกว่า จะครองส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยในปี 2565 TWZ มีเป้าหมายที่จะนำเสนอบริการรถยนต์ไฟฟ้าในโครงการต่างๆ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 500 ล้านบาท สามารถสร้างกำไรได้มากกว่า 20%

ขณะที่ธุรกิจกัญชงกัญชา นั้น ล่าสุด บริษัท ซีบีดี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TWZ ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมทุนกับบริษัท เอเอ ไบโอ จำกัด ในการ จัดตั้งบริษัท สยาม เมดิคอล แคนนาบิส จำกัด (SMC) เพื่อจัดจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชงทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ทำให้ TWZ สามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คาดว่า SMC จะสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจได้ปีละ 50 ล้านบาท

โดย TWZ ได้เข้าร่วมลงทุน 49% และตัวแทน AABIO 51% เพื่อประกอบกิจการปลูกพืชกัญชง ผลิตสารสกัดกัญชง และแปรรูปผลผลิตกัญชง เครื่องสำอางทางการแพทย์ เพื่อจําหน่ายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ 100 บาท ซึ่ง TWZ ให้ CBD บริษัทย่อยเข้าร่วมลงทุนใน SMC 49% โดยเข้าซื้อหุ้นสามัญของ SMC 4,900 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท (ราคาพาร์) คิดเป็น 49% ของทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วจากผู้ถือหุ้นเดิม มูลค่ารายการ 490,000 บาท และ AABIO จะขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งหมด ให้กับ SMC เพื่อดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยให้คิดราคาที่ต้นทุนบวกกำไรไม่เกิน 3% ซึ่งปัจจุบันมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศแล้ว และคาดว่า SMC จะก่อให้เกิดรายได้ปีละ 50 ล้านบาท

ล่าสุด TWZ ได้รับคำสั่งซื้อน้ำมันกัญชงสกัดล่วงหน้าจากบริษัท แคนน์ โกลบอล จำกัด (Cann Global) ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมกัญชงของโลก โดยคาดว่าจะสามารถส่งสินค้าและรับรู้รายได้จากการขายเฟสแรกได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่ง บริษัท แคนน์ โกลบอล จำกัด (Cann Global) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย และเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมกัญชง-กัญชาเพื่อการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชงกัญชาทางการแพทย์ อันดับ 1 ในประเทศออสเตรเลีย และเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยธุรกิจของแคนน์ โกลบอล ครอบคลุมการปลูกและแปรรูปกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหาร ภายใต้แบรนด์ EM Wholefoods, Blanck&Co และ Australian Grown Naturals เป็นต้น รวมถึงผลิตภัณฑ์สกินแคร์ และผลิตภัณฑ์ยา และออร์เดอร์ดังกล่าว จะรับรู้รายได้ไตรมาสแรกปี 65

ทั้งนี้ TWZ มีแปลงปลูกกัญชงของบริษัทจะอยู่บนพื้นที่ 70 ไร่ ใน จังหวัดแพร่ โดยเอเอ ไบโอ เป็นผู้เพาะปลูกและผลิตสินค้ากัญชง และจะขายผลผลิตทั้งหมดที่ผลิตได้ให้กับบริษัท สยามเมดิคอล แคนนาบิส แต่เพียง ผู้เดียว และมอบหมายให้บริษัท สยาม เมดิคอล แคนนาบิส เป็นผู้จัดจำหน่าย รวมถึงติดต่อรับคำสั่งซื้อและบริการทั้งหมด

จับมือ"โซลาร์ตรอน" ลุยติดตั้งสถานีชาร์จรถ EV

อย่างไรก็ดี เมื่อ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา TWZ ประกาศคงวามร่วมมือ กับบริษัท โซลาตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR เพื่อร่วมกันพัฒนาติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า อีวี ((Electric Vehicle : EV) ให้กับกลุ่มตลาดรถไฟฟ้าอีวี โดยความพิเศษของสถานี คือ การนำเอาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาติดตั้งไว้บนสถานีชาร์จ ซึ่งส่วนหนึ่งจะแปรเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาบรรจุและนำไปชาร์จให้กับรถพลังงานไฟฟ้าอีวี โดยจะเป็นสถานีชาร์จรถไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย โดยเบื้องต้นจะเริ่มติดตั้งสถานีแรกในไตรมาสแรกปี 2565 นี้

ด้วยการให้บริษัทย่อยของ TWZ อย่าง บริษัท สกายเวลไทยแลนด์ จำกัด ซึ่ง สกายเวล์ไทยแลนด์ เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการขายและบริการรถไฟฟ้าอีวี ให้กับบริษัทและองค์กรต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทยอยส่งมอบรถไฟฟ้าอีวีให้กับกลุ่มลูกค้าแล้วอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ SOLAR เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับพลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศแบบบริการครบวงจร ที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี และมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยด้วยเครื่องจักรจากประเทศเยอรมัน ทุกผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ซึ่ง TWZ มองว่าการผนึกความร่วมมือกับ SOLAR ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเบอร์ต้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสงอาทิตย์ และความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ TWZ ที่จะผลักดันให้ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จตามเป้าหมายที่เราต้องการเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งและการพาณิชย์ได้ นายพุทธชาติ รังคสิริ ประธานกรรมการ TWZ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) นั้น TWZ เซ็นสัญญาซื้อขายและให้บริการไปแล้ว 2 ฉบับ มูลค่าโครงการ 100 ล้านบาท ในโครงการรถเมล์ไฟฟ้า (EV) ที่ลงนามสัญญา กับ บริษัท ออลซีซันส์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ใช้วิ่งเป็นรถ Shuttle Bus ของอาคารออล ซีซันส์ เพลซ และโรงแรมคอนราด กับสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส เพลินจิต 2 คัน ซึ่งโครงการนี้ TWZ รับผิดชอบดูแลทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวรถ การบำรุงรักษา พนักงานขับรถ สถานีจ่ายไฟ โดยมีสัญญาระยะยาว 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2569 ขณะที่อีก 1 โครงการอยู่ในขั้นตอนรอส่งมอบรถ 26 คันก่อนสิ้นปี 64 ดังนั้น TW คาดว่าสัดส่วนรายได้จากการให้บริการรถไฟฟ้าในอนาคตจะอยู่ที่ 15% ของสัดส่วนส่วนรายได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ TWZ มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นคือ รถบัสและรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อการขนส่งและการพาณิชย์ ซึ่งมีทั้งรถ 4 ล้อ และรถ 6 ล้อ โดยเป้าหมายในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะมุ่งเน้นการเจาะตลาดภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ คาดว่าสัดส่วนรายได้จากการให้บริการรถไฟฟ้าครบวงจรในอนาคตอยู่ที่ 15% ของสัดส่วนส่วนรายได้ ทั้งหมดของ TWZ และจะเติบโตมากขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้ประกอบการในกลุ่มขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะแท็กซี่ ซึ่งจะสอดคล้องแผนการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อการขนส่งที่ TWZ วางไว้

อย่างไรก็ดี ในส่วนของหุ้นนั้น จะพบว่าราคาหุ้น TWZ ไม่ได้คึกคักรับข่าวการลงทุนแตกไลน์ไปสู่หลากหลายอย่างตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะตั้งต้นปีมาหุ้น TWZ เทรดกันที่ระดับต่ำกว่า 1 บาทและโดยเฉลี่ยนอยู่ที่ 0.10 บาท ล่าสุดเมื่อ 21 ธ.ค.ปิดที่ 0.10 บาท มูลค่าซื้อขาย 35.78 ล้านบาท






กำลังโหลดความคิดเห็น