xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมบิทคอยน์ถึงสามารถเอาชนะ Hyper Inflation ได้ / ณพวีร์ พุกกะมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ ฯ ได้ประกาศตัวเลข CPI Index หรือดัชนีผู้บริโภคที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่ออัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับ 6.8% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ก่อนหน้านี้ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ฯ ยังออกมายอมรับว่าเงินเฟ้อได้กลายเป็นปัญหาในระยะยาวไปแล้ว

ในเมื่อเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงขนาดนี้ นักลงทุนต้องมองหาสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงเพื่อจะเอาชนะตัวเลข 6.8% ให้ได้และทองคำกับบิทคอยน์ถูกมองว่าจะเป็นทางเลือกในฐานะการเป็น Safe Haven

แต่กลับกลายเป็นว่าผลตอบแทนการลงทุนในทองคำในปี 2021 นี้กลับออกมาติดลบในระดับ 5-6% ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ฯ แข็งค่าขึ้นในระดับ 5% ส่วนบิทคอยน์แม้จะปรับฐานลงมาแต่ยังสามารถสร้างผลตอบแทนในระดับ 80% ได้

ต้องยอมรับว่าหลายปีที่ผ่านมาทองคำมีสถานะเป็นสกุลเงินหนึ่งไปแล้วโดยเสียสถานะของการเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็น Narrative ที่คุ้นเคยกันในอดีต เห็นได้จากเวลาที่ Bond Yield ของสหรัฐฯหรือค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทองคำจะถูกเทขายเสมอ

การที่ FED อาจจะเร่งลดวงเงินการทำคิวอีและเร่งระยะเวลาในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อที่จะเอาชนะเงินเฟ้อจึงน่าจะมีส่วนกดดันราคาทองคำอยู่ไม่น้อย จากข้อมูลในอดีตยังระบุว่าหลังการถอนคิวอี ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนได้แย่ที่สุด

ขณะที่มีทฤษฎีสมคบคิดได้อธิบายว่า Wall Street ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือทองคำนับตั้งแต่มีการเปิดเทรด Gold Futures และ ETF ทองคำ ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วและมีสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่พยายามจะกดราคาทองคำมาโดยตลอด

ทำให้บิทคอยน์กลายมาเป็นสินทรัพย์ที่ถูกมองว่าจะเข้ามาช่วยสร้างผลตอบแทนที่สามารถชนะเงินเฟ้อระดับ Hyper Inflation โดยมีมุมมองจากนักลงทุนและซีอีโอระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Ray Dalio,Paul Tudors Jones,Michael Saylor รวมถึง Jack Dorsey ที่ออกมาเปิดเผยว่าได้ลงทุนในบิทคอยน์เพื่อที่จะเอาชนะเงินเฟ้อ

ขณะที่บทวิเคราะห์จาก Bloomberg ได้ระบุว่าบิทคอยน์มีโอกาสเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงได้ในระยะยาวโดยมีเนื้อหาสำคัญคือบิทคอยน์ได้ปรับเปลี่ยนจากการเป็นสินทรัพย์ที่เคยมีอัตราเงินเฟ้อ 28% นับตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2011 มาเป็นสินทรัพย์ที่มีอัตราเงินฝืดถึง 99.94% ในปัจจุบัน

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในรูปของเงินดอลลาร์ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับอัตราเงินฝืดของ Bitcoin และตั้งแต่ FED เริ่มอัดฉีดสภาพคล่องด้วยการทำ QE อีกรอบแบบไม่จำกัดวงเงิน งบดุลของ FED พุ่งขึ้นถึงระดับ 220% และเป็นการเพิ่มขึ้นแบบ Expotential Growth ขณะที่ซัพพลายใหม่ของบิทคอยน์เพิ่มขึ้นมาในอัตราที่น้อยกว่างบดุลของ FED เป็นอย่างมากโดยเพิ่มขึ้นเพียง 160% นับตั้งแต่ปี 2012

พูดง่าย ๆ คือบิทคอยน์มีสถานะสินทรัพย์ที่มีความเป็นเงินฝืดอยู่ตลอดเวลาจากการที่มีกลไกของการทำ Halving ที่ทำให้ซัพพลายใหม่ที่ออกมาจากการขุดมีปริมาณลดลงทุก ๆ สี่ปี ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สามารถพิมพ์ออกมาได้อย่างไม่จำกัด แม้ว่าจะเริ่มมีการลดวงเงินที่จะทำคิวอีลงแต่ยากที่จะกำจัดสภาพคล่องส่วนเกินที่สร้างออกมาหมดไปได้ในเวลาสั้น

ขณะที่ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศจีนและสหรัฐฯทำให้จีนหยุดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมาตั้งแต่เกิดประเด็นสงครามการค้าทำให้โอกาสที่สหรัฐ ฯ จะผลักภาวะเงินเฟ้อออกนอกประเทศทำได้ยาก ผู้ที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯจึงกลายเป็น FED เองเสียส่วนใหญ่

แม้ระยะสั้นบิทคอยน์จะถูกเทขายออกมาต่อเนื่องแต่ในระยะยาวบิทคอยน์ถูกมองว่าสามารถสร้างผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงได้ด้วยกลไกของการทำให้มีภาวะเงินฝืดตลอดเวลาและเมื่อมีคุณค่าในเชิง Scarcitiy ก็จะเกิดดีมานด์เข้ามาผลักดันราคาในที่สุด

บทความโดย : ณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS)




กำลังโหลดความคิดเห็น