xs
xsm
sm
md
lg

เชือดแก๊งทุจริต GSC ชุดใหญ่ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การกล่าวโทษกรรมการ หรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่กระทำความผิดในแต่ละปีมีนับสิบคดี แต่นานทีจะมีการกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแทบยกชุด และเพิ่งจะมีกรณีของบริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GSC เป็นคดีแรกๆ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษกรรมการ อดีตกรรมการ และอดีตผู้บริหาร GSC ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) รวม 7 ราย กรณีปฏิบัติผิดหน้าที่ ทุจริต และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้จากการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP จนเป็นเหตุให้ GSC เสียหาย

บุคคลทั้ง 7 รายที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษในช่วงปี 2562 เป็นกรรมการและผู้บริหาร GSC ประกอบด้วย น.ส.ณิชารดี สุขเจริญไกรศรี (ชื่อเดิม น.ส.สุกัญญา สุขเจริญไกรศรี) น.ส.สุดาภรณ์ กลิ่นแก้ว น.ส.สิริณี ฉิมบรรเทิง น.ส.อุดมพร เอี่ยมจ้อย น.ส.ณิชาภา ทองตัด นายธัญพิสิษฐ์ ทรัพย์รอด และ น.ส.เมตตา โพธิ์กิ่ง

ช่วงเดือนมีนาคม 2562 บุคคลทั้ง 7 ราย ซึ่งมี น.ส.ณิชารดี เป็นประธานคณะกรรมการบริหารของ GSC ได้ร่วมกันตัดสินใจอนุมัติ และหรือสั่งการให้ปล่อยเงินให้กู้ยืมแก่ ACAP ซึ่งมี น.ส.ณิชารดี เป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารรวม 7 รายการ มูลค่าสะสมรวมสูงสุดอยู่ที่ 180 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73 ของสินทรัพย์รวมของ GSC อัตราดอกเบี้ยของเงินให้กู้ยืมร้อยละ 2 ต่อปี

และมีเงินให้กู้ยืมบางรายการที่ไม่ได้คิดดอกเบี้ย แต่ภายหลังที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ชี้แจงเรื่องเงินกู้ยืม GSC จึงให้ ACAP จ่ายดอกเบี้ยย้อนหลังร้อยละ 2 ต่อปี

การให้กู้ยืมเงิน ACAP เข้าข่ายการทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงที่มีขนาดรายการใหญ่ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน แต่กรรมการและผู้บริหารของ GSC ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ โดยจัดประชุมผู้ถือหุ้นในภายหลัง ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติไม่ให้สัตยาบันต่อการทำรายการ

นอกจากนั้น ผู้ถูกกล่าวโทษยังกระทำการเกินกรอบอำนาจหน้าที่และไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุนของ GSC ที่กำหนดให้นำเงินไปลงทุนได้ในความเสี่ยงที่ระดับ 1 เท่านั้น แต่กลับนำไปลงทุนในตราสารหนี้ของ ACAP ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าระดับความเสี่ยงที่ลงทุนได้

ส่วนเงินที่ให้ผู้ยืม ACAP นำไปไถ่ถอนหุ้นกู้และตั๋วเงินที่ครบกำหนดชำระของ ACAP ที่มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.5-8.0 ต่อปี ทำให้ GSC เสียประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ควรได้รับ

ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพราะเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

การปล่อยกู้ของ GSC เป็นความพยายามช่วยกอบกู้วิกฤต ACAP ซึ่งมีปัญหาไถ่ถอนหุ้นกู้นับพันล้านบาท แต่การนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นประชาชนผู้ลงทุนเป็นครั้งแรก ก่อนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI เป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ และทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษผู้บริหารและกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

คดีที่กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนกระทำผิด ไม่ว่าการยักยอกทรัพย์ การยักย้ายถ่ายเทเงินหรือไซฟ่อนเงิน การทุจริตโดยซื้อหรือขายทรัพย์สินในราคาที่สูงหรือต่ำเกินความเป็นจริง การปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือและเกิดหนี้สูญ หรือการปั่นหุ้น การกล่าวโทษมักจำกัดวงเฉพาะกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทเป็นรายบุคคล

กรรมการบริษัทคนอื่นมักไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ไม่ต้องถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ทั้งที่ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้น

เพราะธุรกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในบริษัทจดทะเบียน กรรมการบริษัทฯ ย่อมต้องรับรู้ แต่มักวางเฉย เพราะคิดว่ากินเงินเดือนจากผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียน จึงไม่ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

ขณะที่ ก.ล.ต.ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และแทบไม่เคยขยายผลการดำเนินคดีกับกรรมการบริษัทจดทะเบียนคนอื่นๆ ทั้งที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งหากกรรมการและผู้บริหารก่อความผิดใดก็ตามจะถือเป็นความรับผิดชอบเฉพาะบุคคลไม่ได้

คดี GSC ถือเป็นคดีเป็นคดีตัวอย่าง และเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินคดีกับกรรมการบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่ต้องร่วมรับผิดชอบในความผิดที่กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทคนใดก่อขึ้น

ไม่ใช่ปล่อยให้กรรมการบริษัทจดทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นอดีตคนในเครื่องแบบ หรือข้าราชการระดับสูงทำหน้าที่เป็นเพียงไม้ประดับ นำอำนาจและบารมีมาอวดศักดาให้บริษัทจดทะเบียน แลกกับเงินเดือนประจำและเบี้ยประชุม โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

ถ้าตีวงให้กรรมการบริษัทจดทะเบียนต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนักลงทุน จะปลุกสำนึกให้กรรมการบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดตระหนักในการตรวจสอบ และป้องปรามไม่ให้กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทกระทำความผิด

เพราะหากก่อความผิด ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียหาย กรรมการบริษัทจดทะเบียนต้องติดร่างแหถูกดำเนินดีด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น