xs
xsm
sm
md
lg

BAY โตเพิ่มจากสินเชื่อ “ซิตี้แบงก์” หวั่นระยะยาวโควิด-19 ยังกดดัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาแบงก์กรุงศรีฯหลังปิดดีลซื้อพอร์ตสินเชื่อรายย่อย “ซิตี้แบงก์” ดันพอร์ตสินเชื่อโต หนุนผลประกอบการ และราคาหุ้นขยับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกรณี “ทิสโก้” เคยเข้าซื้อพอร์ตของ “สแตนดาร์ดชาร์เตอร์” ภาพรวมหลายฝ่ายประสานเสียง BAY ผู้ถือหุ้นใหญ่สนับสนุนเต็มที่ แต่การเติบโตยังค่อยเป็นค่อยไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังกดดัน

ในที่สุด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) ได้เป็นผู้ชนะการประมูลบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลของธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย จากกลุ่ม“ซิตี้ กรุ๊ป” ในประเทศไทย หลังจากทางกลุ่มมีแผนถอนตัวธุรกิจลูกค้ารายย่อย ออกจากในหลายประเทศของเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ได้เลือกผู้เสนอราคาสำหรับการรับช่วงต่อธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้แบงก์ในแต่ละประเทศ ซึ่งสำนักข่าว “บลูมเบิร์ก”อ้างว่า “ซิตี้กรุ๊ป” ได้เลือก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชนะประมูลเข้าซื้อสินทรัพย์รายย่อยในประเทศไทย 

สำหรับเบื้องต้นยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการซื้อขาย โดยคาดว่าการเจรจาเงื่อนไขข้อตกลงอาจมีความชัดเจนขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยประเมินว่ามูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ในไทยอาจมีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ตามแผนยุติกิจการรายย่อยใน 13 ตลาด แถบเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง โดยจะปิดกิจการรายย่อยที่ออสเตรเลีย, บาห์เรน, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, รัสเซีย, ไต้หวัน, ไทย และ เวียดนาม แต่จะเปิดกิจการไว้เพียง 4 ตลาดได้แก่ สิงคโปร์, ฮ่องกง, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอังกฤษ แม้กิจการในอีก 13 ประเทศดำเนินธุรกิจมาได้อย่างดีเยี่ยม แต่ทางบริษัทไม่สามารถขยายตัวในระดับที่จะสามารถแข่งขันได้ โดยเชื่อว่าเงินทุน และทรัพยากรอื่น ๆ จะเหมาะสมกว่าที่จะลงทุนในธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม การให้บริการลูกค้ารายใหญ่ภายใน 13 ประเทศเหล่านี้ยังคงให้ดำเนินการต่อไป

เหตุผลที่ “ซิตี้กรุ๊ป” เลือกธนาคารกรุงศรีอยุธยา เข้ามารับพอร์ตรายย่อยมูลค่า 6.75 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเชื่อมั่นว่า BAY เป็นผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยคาดว่ากระบวนการโอนธุรกิจจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 

และทันทีที่ปรากฏข่าวดังกล่าวขึ้น ก็ส่งผลให้ราคาหุ้น BAY ปรับตัวขึ้นกว่า 4.29% มาอยู่ที่ 38.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท ขณะเดียวกันภาพรวมการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น BAY นับตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ระดับ 27.50 บาทต่อหุ้น และปัจจุบันเคลื่อนไหวที่ระดับ 36.50 บาทต่อหุ้น พบว่าราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 9.00 บาทต่อหุ้นหรือ 32.72% ถือเป็นกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นอีกหนึ่งหลักทรัพย์ที่น่าสนใจในปี2564 นั่นเพราะหลายฝ่ายเชื่อว่า เมื่อ BAY ได้พอร์ตสินเชื่อรายย่อยของซิตี้ แบงก์ไปแล้ว จะยิ่งช่วยเพิ่มศักยภาพพอร์ตสินเชื่อของธนาคารให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และนำมาซึ่งผลประกอบการที่เติบโตมากกว่าปัจจุบัน

ล่าสุด “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ที่ 'BBB+' และอันดับเครดิตภายภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตพิจารณาจากการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ซึ่งคือ MUFG Bank, Ltd. (A-/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) นั่นเพราะ BAY เป็นธนาคารลูกที่มีส่วนสำคัญต่อกลยุทธ์ของ MUFG โดย MUFG มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BAY ที่ 76.9% และมีการควบคุมอย่างใกล้ชิดผ่านทางผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัท BAY เป็นหนึ่งในบริษัทลูกในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทแม่ และให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการด้านการธนาคารอย่างครบวงจรในประเทศไทย  ซึ่งประเทศไทยยังเป็นตลาดสำคัญสำหรับการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาค ความเชี่ยวชาญของ BAY ในด้านธนาคารเพื่อรายย่อยยังได้สนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มในประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยล่าสุดธนาคารได้ลงทุนในสถาบันการเงินในประเทศเวียดนามและประเทศฟิลิปปินส์

จากข้อมูล MUFG เข้าซื้อกิจการ BAY ในปี 2556 และตั้งแต่นั้นมาได้มีการพัฒนาความเชื่อมโยงและประสานงานเชิงกลยุทธ์เพิ่มมากขึ้น บริษัทแม่ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และกระบวนการบริหารความเสี่ยงแก่ธนาคารลูกในไทย ตลอดจนการสนับสนุนด้านเงินทุนที่สำคัญที่ใช้เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อของ BAY ให้กับลูกค้าต่างชาติของกลุ่ม

นอกจากนี้ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY ยังพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของประเทศไทยที่ยังคงมีความท้าทาย โดยระดับคะแนนตามเกณฑ์ของฟิทช์ (implied factor score) ได้กำหนดปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารไทยอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกลุ่ม 'bb'

อย่างไรก็ตามฟิทช์ปรับเพิ่มคะแนนที่ให้เนื่องด้วยอันดับเครดิตของประเทศไทย เพราะฟิทช์เชื่อว่าการสนับสนุนด้านเสถียรภาพของระบบการเงินจากภาครัฐและการเติบโตของเศรษฐกิจที่แข็งแรงน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถมีผลการดำเนินงานที่มีกำไรอย่างต่อเนื่อง เพราะคาดว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทย (GDP) น่าจะเติบโตในอัตราที่ 4.8%

นอกจากนี้ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY ยังได้สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร ซึ่งได้คะแนนที่ 'bbb' และเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในฐานะหนึ่งใน 6 ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย (D-SIB) โดยธนาคารดำเนินธุรกิจการเงินแบบครบวงจรในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันก็มีจุดแข็งในด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค (ซึ่งคิดเป็น 48% ของสินเชื่อรวมในไตรมาส 3 ปี 2564) และลูกค้าบริษัทข้ามชาติ (13%) ทำให้เชื่อว่า BAY มีขนาดใหญ่พอและมีสถานะการแข่งขันที่ดีที่จะสามารถดำเนินธุรกิจอย่างมีกำไรตลอดวัฏจักรทางธุรกิจ

สำหรับโครงสร้างความเสี่ยงของ BAY ('bbb') สะท้อนถึงนโยบายการพิจารณาสินเชื่อและการควบคุมความเสี่ยงที่มีความสม่ำเสมอและธนาคารยังมีสัดส่วนสินเชื่อที่เป็นลูกค้าบริษัทข้ามชาติซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ

ส่วนคะแนนปัจจัยคุณภาพสินทรัพย์ของ BAY ที่ 'bbb' นั้นรวมการพิจารณาถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น จากอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.71% ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 จาก 2.27% ณ สิ้นปี 2562 และฟิทช์คาดว่าจะยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากมาตรการช่วยเหลือในการจัดชั้นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เริ่มหมดอายุลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้เพิ่มการกันสำรองตั้งแต่ปี 2563 และมีอัตราส่วนสำรองหนี้เสียต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 164% ซึ่งน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงได้ในระดับที่เหมาะสม 

ที่ผ่านมา ผลประกอบการของ BAY ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 นี้ได้รับการสนับสนุนจากกำไรพิเศษจากการขายบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจการเงินระดับฐานราก (Microfinance) โดยหากไม่มีกำไรพิเศษดังกล่าวกำไรสุทธิจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน/สินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งไม่รวมกำไรพิเศษอยู่ที่ 1.8%

ขณะเดียวกันช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งแสดงถึงความความแข็งแกร่งของธนาคารแม้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ คะแนนด้านรายได้และการทำกำไรของ BAY ('bbb-') สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าธนาคารจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลในช่วง 18 เดือนข้างหน้า แต่การฟื้นตัวของความสามารถในทำกำไรให้กลับมาสู่ระดับเดิมก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากถูกจำกัดโดยสภาวะแวดล้อมอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง การเติบโตของสินเชื่อที่จำกัด และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ต่อดีลดังกล่าว หลายฝ่ายประเมินว่าจากรายงานข่าวของบลูมเบิร์ก กรณีที่ BAY ชนะการประมูลพอร์ตสินเชื่อรายย่อย บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลของซิตี้กรุ๊ปในประเทศไทย ถือเป็นปัจจัยบวกต่อธนาคาร เพราะมูลค่าพอร์ตประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท หรือราว 2 พันล้านเหรียญฯ คิดเป็น P/BV ประมาณ 1.9 เท่า ขณะที่ราคาซื้อครั้งนี้ไม่ถือว่าแพง  ถ้าเทียบกับบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)หรือ KTC,บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)หรือ AEONTS เพราะปัจจุบันเทรดอยู่ที่ 5.5 เท่า และ 2.6 เท่า ของ PBV เพียงแต่ต้องรอดูว่าผลประโยชน์ระยะกลาง ถึงยาว รวมถึงการถ่ายโอนพอร์ตจะใช้เวลานานแค่ไหน

นอกจากนี้ หาก BAY เป็นผู้ชนะพอร์ตของซิตี้กรุ๊ป ทำให้ธนาคารกลายเป็นเจ้าตลาดบัตรเครดิตที่ใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่มีพอร์ตนี้มากอยู่แล้ว และเนื่องจากพอร์ตสินเชื่อของซิตี้ กรุ๊ป เป็นพอร์ตที่ดีให้ผลตอบแทนต่อทุน (ROE) สูง จึงถือก็จะเป็นประโยชน์ต่อธนาคาร เพราะสามารถแบ่งชั้นของบัตรเครดิตพรีเมียมได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันโดยรวม ยังคงให้น้ำหนักซื้อหนักต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเลือกหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เป็นหุ้น Top Pick ของกลุ่มจากการเป็นผู้นำด้านบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกมากขึ้น ช่วยลดโอกาสเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL และลดแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายสำรองได้ในอนาคต ประกอบกับทั้ง 2 ธนาคารได้มีการเร่งตั้งสำรองล่วงหน้าไปมากแล้ว สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากภาคธุรกิจ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

แต่ในส่วนของ BAY ชนะการประมูลพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของ ซิตี้กรุ๊ป ในไทย คาดว่าจะช่วยทำให้ ผลประกอบการของ BAY มีแนวโน้มดีขึ้น และจะทำให้ BAY มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10% จากปัจจุบัน มีสินทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท ขณะที่พอร์ตรายย่อยของซิตี้กรุ๊ป ในไทยจะมีสินทรัพย์อยู่ที่ราว 2.5-2.6 แสนล้านบาท 

นอกจากนี้ในด้านคุณภาพของพอร์ตของซิตี้กรุ๊ป ก็มีคุณภาพที่ดี ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็มีการตั้งสำรองไว้รองรับแล้ว ขณะที่อัตราผลตอบแทนต่อทุน หรือ ROE อยู่ในระดับมากกว่า 10% ขณะที่ของ BAY เฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 10% และ ราคาที่ซื้อมองว่าไม่แพงมาก ถือว่าสมเหตุสมผล

ไม่เพียงเท่านี้ หลายฝ่ายประเมินว่า กรณีของ BAY น่าจะคล้ายกับกรณีของกลุ่มธนาคารทิสโก้ ที่เข้าซื้อกิจการ Retail Banking ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ประเทศไทย (SCBT) ด้วยข้อตกลงมูลค่าถึง 5.5 พันล้านบาท ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2559 ด้วยข้อตกลงมูลค่าถึง 5.5 พันล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อจะมุ่งสู่การเดินหน้าพัฒนา Market positioning และความครอบคลุมของผลิตภัณฑ์ โดยหลายฝ่ายมีความเห็นว่า กรณี “ทิสโก้”เข้าซื้อกิจการของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ประเทศไทย จะช่วยให้เกิดการขยายพื้นที่ในธุรกิจธนาคารค้าปลีก สอดคล้องกับจุดยืนเชิงกลยุทธ์ของทิสโก้ เพราะจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งด้านสาขาธุรกิจธนาคารค้าปลีก ในการขยายฐานลูกค้า สร้างไลน์ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์มากขึ้น และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายค้าปลีกมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และมีจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินทุนสูงในการจัดการจำนวนมากของลูกค้า

นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาหุ้น TISCO ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบรับข่าวการเข้าซื้อกิจการของ SCBT เช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น