xs
xsm
sm
md
lg

ปิดคดีอดีตผู้บริหาร IFEC / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รายงานคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ คดีนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC โดยให้นายศุภนันท์ชำระค่าปรับจำนวน 1 ล้านบาท

คดีนี้ยืดเยื้อมาหลายปี โดย ก.ล.ต.ได้ใช้มาตรการทางแพ่ง ลงโทษนายศุภนันท์ ในความผิด ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวังและความซื่อสัตย์สุจริต โดยปรับเป็นเงิน 1 ล้านบาท พร้อมห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เป็นเวลา 3 ปี ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 5 ปี

แต่นายศุภนันท์ไม่ยินยอมชำระค่าปรับ ก.ล.ต.จึงส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง และยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 โดยศาลแพ่งตัดสินให้นายศุภนันท์ชำระค่าปรับ 3 แสนบาท ส่วนคำร้องอื่นให้ยก

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ได้แก้คำพิพากษาศาลแพ่ง โดยตัดสินให้นายศุภนันท์ชำระค่าปรับ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เป็นเวลา 3 ปี ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพยเป็นเวลา 5 ปี

รวมทั้งชำระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการกระทำผิดของนายศุภนันท์ให้ ก.ล.ต.อีกจำนวน 110,042 บาท โดยคดีถึงที่สุดแล้วตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์

การถูกตัดสินให้ต้องชำระค่าปรับเพียง 1 ล้านบาทของอดีตผู้บริหาร IFEC ถือเป็นบทลงโทษที่เบามาก เมื่อเทียบกับความเสียหายของผู้ถือหุ้นจำนวนประมาณ 30,000 ราย ซึ่งเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ล้มเหลว และไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตของอดีตผู้บริหาร

แม้นายศุภนันท์จะถูกศาลตัดสินลงโทษ กลายเป็นบุคคลต้องห้ามในตลาดหลักทรัพย์ ต้องชำระค่าปรับและชดใช้ให้ ก.ล.ต. รวมเป็นเงินกว่า 1.1 ล้านบาท และต้องเสียชื่อเสียงในสังคม แต่ก็ไม่อาจเยียวยาจิตใจของผู้ถือหุ้น IFEC ที่ต้องหมดเนื้อหมดตัวกับบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้

ฐานะของ IFEC ปัจจุบันคือ บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในข่ายถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ และกำลังถูกฟ้องล้มละลาย โดยโอกาสที่จะฟื้นฟูกิจการ นำหุ้นกลับเข้ามาซื้อขายตามปกติอีกครั้งริบหรี่เต็มที

IFEC เป็นอีกตำนานของมหากาพย์แห่งการโกง จนบริษัทล่มสลาย โดยอดีตผู้บริหารบริษัท ถูก ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดทุจริต แต่หลายปีแล้วที่คดีเงียบหายไปในกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ

และทั้งมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท มีนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3 หมื่นคน แต่กลับไม่มีการแถลงความคืบหน้าใด ๆ ในการสอบสวนดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหาร IFEC จากกรมสอบสวนคดีพิเศษแต่อย่างใด โดยเฉพาะนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์

เช่นเดียวกับอีกหลายคดีที่ ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ปั่นหุ้นหรือทุจริต ซึ่งสาธารณชนไม่อาจรับรู้ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษนำคดีไปดองไว้อยู่จุดไหน และชาตินี้จะส่งเรื่องฟ้องหรือไม่

คดีนายศุภนันท์ซึ่งมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง และไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต สามารถดำเนินคดีอาญาได้ แต่ ก.ล.ต. เลือกที่จะใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง

เพราะถ้าร้องทุกข์กล่าวโทษทางอาญา คดีคงเงียบหายไปในกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสุดท้าย ก.ล.ต.อาจเหนื่อยฟรี เหมือนนับสิบ ๆ คดีที่ถูกตัดตอน โดยความเห็นของกรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง

แต่ถ้าดำเนินมาตรการทางแพ่ง ถ้าส่งเรื่องให้อัยการแล้ว ช่วงเวลาหนึ่งหากอัยการยังไม่ส่งฟ้อง ก.ล.ต.สามารถเป็นโจทก์ฟ้องเองได้ และที่ผ่านมาชนะทุกคดี

เพียงแต่บทลงโทษทางแพ่ง อาจไม่สาสมกับความเสียหายที่อดีตผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนสร้างไว้กับผู้ถือหุ้น

ผู้ถือหุ้น IFEC จำนวนประมาณ 3 หมื่นคน คงมีความรู้สึกเหมือนกันว่า โทษปรับเพียง 1 ล้านบาท ไม่สาสมกับความสูญเสียที่ได้รับจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ








กำลังโหลดความคิดเห็น