xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นปี 65 คาดดัชนี 1,800 จุด ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าแตะแสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าทุบสถิติสูงสุด คาดปี 65 ฟันด์โฟลว์แสนล้านบาท หวังท่องเที่ยว-เศรษฐกิจฟื้น ส่วน SET Index ปีนี้คงเป้าหมาย 1,650 จุด และปีหน้า 1,800 จุด คาดฟันด์โฟลว์ไหลเข้าแสนล้านบาท หาก GDP โตเกิน 4% ขณะภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นหนุน ด้าน บล.โกลเบล็ก แนะลงทุนหุ้นเปิดเมือง - ปลดล็อก LTV ด้าน"เอเซีย พลัส" เล็งปรับเป้ากำไร บจ.ปี'64 หลังผลประกอบการ 9 เดือนมีแนวโน้มดีกว่าคาด กลุ่ม "ก่อสร้างพาณิชย์-อาหาร" ฟื้นตัวเด่น ส่วน บล.หยวนต้า เชื่อปลดล็อกหนุนเศรษฐกิจฟื้น

จากการผ่อนมาตรการของรัฐ ถือเป็นการคลายล็อกดาวน์ และค่อยๆ ผ่อนไปในหลายธุรกิจ ทำให้วิถีการใช้ชีวิตและการจับจ่ายเริ่มกลับสู่ปกติภายใต้เงื่อนไขการดูแลตัวเองและการ์ดไม่ตก หลายฝ่ายมองภาพรวมและคาดหวังถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าไตรมาส 4 ปีนี้ ความคึกคักจะเพิ่มขึ้น แม้จะมีหลายปัจจัยที่นักลงทุนยังต้องติดตาม ทั้งการปรับลดวงเงินเชิงปริมาณ QE จากธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่มีโอกาสปรับขึ้นเร็ว กระทั่งการแก้ปัญหาหนี้ของบริษัท Evergrande ในปรจีน เหล่านี้มีผลกระทบต่อการลงทุนและตลาดทุนไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 168.69 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มทำการจัดทำดัชนี โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.2% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรงอย่างมาก"

"นักลงทุนคาดหวังการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ" นายไพบูยล์ กล่าว

ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่หลังเปิดประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ขณะที่หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) ด้านหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดประกันภัยและประกันชีวิต (INSUR)

คงเป้าดัชนีปีนี้ 1,650 จุด ส่วนปี 65 แตะ 1,800 จุด ฟันด์โฟว์แสนล้านบาท

สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปีนี้ยังคงมองเป้าหมายดัชนีไว้ที่ 1,650 จุด โดยในช่วงระยะ 2-3 เดือนนี้เริ่มมีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติหรือฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาในประเทศแล้วประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยเดือนล่าสุดเข้ามามากถึงระดับ 1.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนปี 65 ยังคงมองเป้าหมายดัชนีฯ ที่ 1,800 จุด ซึ่งจะมีปัจจัยเปิดประเทศและการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว และหากภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) มีมากกว่า 4% จะมีโอกาสเห็นภาพรวมฟันด์โฟลว์ปี 65 ไหลเข้ามาในระดับ 1 แสนล้านบาท

" ระดับแสนล้านบาท คงได้เห็นในปี 65 ซึ่งจะต้องเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นดีกว่าตลาดคาด ทั้งภาคท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาด และหากสามารถทำเศรษฐกิจให้โตกว่า 4% ขึ้นไป เชื่อว่าเงินต่างชาติจะไหลเข้ามาได้ แต่ก็ต้องขึ้นกับปัจจัยต่างประเทศด้วยว่าสภาพแวดล้อมไม่แย่ลง ทั้งราคาน้ำมัน การขนส่ง ส่วนปัจจัยในประเทศเราต้องบริหารการเปิดประเทศได้ดี เพราะเราเป็นตลาดที่ Underperform โดยระดับก่อนโควิดเราขึ้นมาแค่ 3% แต่หลายๆ ตลาดขึ้นไปแล้ว 40%" นายไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้ จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค. 2565) อยู่ที่ระดับ 168.69 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.2% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรงอย่างมาก" ซึ่งนักลงทุนคาดหวังการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

"เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาส อัพไซด์อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากตลาดยังมีสภาพคล่องที่สูงและไม่มีปัญหาเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนที่หลาย ๆ ประเทศกำลังเผชิญ และผลประกอบการของ บจ.ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมถึงการ กระจายฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นก็เป็นส่วนสำคัญให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสไปต่อ"

ส่วนทิศทางการเมืองในปี 65 คาดว่าจะอยู่ในช่วงการหาเสียงของฝ่ายค้าน ส่วนภาครัฐบาลคาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อหวังการกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากภาครัฐฯ ได้ปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะขึ้นเป็น 70%จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะออกพ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มอี เพื่อสร้างแรงกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะยาว

โกลเบล็ก คาด SET พ.ย.ขยับ 1,570-1,650 จุด

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนพ.ย.64 ว่า ดัชนีแกว่งตัวผันผวน โดยมีรับแรงซื้อหุ้นในกลุ่ม Reopening จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 64 และมีผลดีต่อเนื่องไปยังปี 65

ในขณะที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือน ต.ค.64 ว่า ธุรกิจโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อนแต่เห็นสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยในภาคการผลิตและการค้าจากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดได้ดีขึ้น และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมฯทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และการเพิ่มเม็ดเงินกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐช่วยให้ความเชื่อมั่นและการบริโภคปรับดีขึ้นป ระกอบกับการเก็งกำไรการรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/64 ของบริษัทจดทะเบียนที่ทยอยประกาศออกมาในช่วงต้นเดือนนี้ จึงทำให้ดัชนีตลาดหุ้นเคลื่อนไหวในกรอบ 1,570-1,650 จุด

ส่วนปัจจัยที่ยังคงต้องจับในเดือนนี้ อาทิ การแถลงสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยแถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนและอัพเดทสถานการณ์ลงทุน ตลท. แถลงข้อมูลสรุปภาวการณ์ซื้อขายหลักทรัพย์ การประชุม กนง. ครั้งที่ 7/64 ส.อ.ท. แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ สภาพัฒน์แถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 3Q64 ประชุมครม.สัญจร จ.กระบี่ กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออก-นำเข้า สศค. รายงานภาวะเศรษฐกิจ และดัชนีความเชื่อมั่น ธปท. รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย

รวมทั้งสถานการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศ และการส่งสัญญาณด้านโยบายการเงินของเฟด และสถานการณ์ราคาน้ำมัน ซึ่งกลุ่มโอเปกพลัสประชุมไปเมื่อ 4 พ.ย.64

ดังนั้นแนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้น Reopening Play ได้แก่
หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว อาทิ MINT, ERW, CENTEL, AWC, SHR, AOT, AAV และBA
หุ้นกลุ่มขนส่ง อาทิ BEM และ BTS
หุ้นกลุ่มห้าง สรรพสินค้า อาทิ CPN, CRC และ MBK
หุ้นกลุ่มร้านอาหาร อาทิ AU, M และ ZEN
หุ้นกลุ่มค้าปลีก CPALL, BJC และ MAKRO
หุ้นที่ได้ประโยชน์จากธปท.คลายกฏ LTV โดยเน้นลงทุนในหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ แต่ซื้อขายที่ระดับ P/E ต่ำได้แก่ LH, QH, AP, SPALI, SIRI, ORI, LALIN, PSH และ LPN

เอเซีย พลัส" เล็งปรับเป้ากำไร บจ.ปี '64

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด  กล่าวว่า จากการประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2565 โดยแบ่ง รายกลุ่ม (sector) คาดว่ากลุ่มที่จะมีการฟื้นตัวจากปี 2564 และ คาดการณ์ผลประกอบการจะออกมาดี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่ง 3 กลุ่มหลักที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เติบโต 113% ต่อปี รองลงมาจะเป็นกลุ่มพาณิชย์ เติบโต 61% ตามด้วยกลุ่มอาหาร เติบโต 56%

" โดย 3 กลุ่มนี้มีปัจจัยจากภายในประเทศฐานที่ต่ำ และเป็นกลุ่มที่กำไรในปี 2564 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 โดยได้รับปัจจัยหนุนมาจากการเปิดประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการกระจายวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว รวมถึงการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้น จะหนุนให้กำไรของกลุ่มเหล่านี้ฟื้นตัว ส่วนกลุ่มพลังงานที่เป็น กลุ่มขนาดใหญ่มองว่าปีหน้าจะโต 12% โดยราคาน้ำมันดิบในปีหน้าจะยังอยู่ในขาขึ้น แต่เนื่องจากในปีนี้ที่ราคาปรับขึ้นมาแรงทำให้ฐานในปี 2564 ค่อนข้างสูง อาจส่งผลให้ปีหน้ากำไรอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีนี้" นายฐกฤตกล่าว

ขณะ บจ.กลุ่มที่คาดว่ากำไรน่าจะยังติดลบหรือขาดทุน จะเป็น 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มขนส่ง ซึ่งยังมีการฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ที่มีการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก โดยคาดการณ์ว่าปี 65 จำนวนนักท่องเที่ยวยังคงต่ำ

นายฐกฤตกล่าวว่า ขณะนี้ยังเป็น ช่วงการประกาศงบดุลของ บจ.งวดไตรมาส 3/2564 อยู่ น่าจะประกาศกันครบทุกบริษัทราวกลางเดือน พ.ย.นี้ แต่เบื้องต้นจากที่ประกาศแล้วประมาณ 80 บริษัท ตัวเลขออกมาค่อนข้างดีกว่าที่คาด โดยหลายบริษัทมีการเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะปรับประมาณการกำไรปี 2564 ขึ้นได้อีก จากปัจจุบันที่คาดการณ์กำไร บจ.ปีนี้อยู่ที่ 8.45 แสนล้านบาท โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมากำไรรวมอยู่ที่ประมาณ 7.3 แสนล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 4 มองว่ามีโอกาสที่กำไรจะโต ดีขึ้นจากประมาณการเดิม ซึ่งต้อง รอการประกาศงบไตรมาส 3 ให้ครบก่อน ซึ่งถ้ากำไรออกมาดีกว่าคาดจริง จะหนุนให้กำไร บจ.ปีนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 0.9 บาทต่อหุ้น และจะเป็นปัจจัย บวกที่เข้าไปหนุนดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปรับเพิ่มขึ้น 19 จุด

"ปีนี้เรายังคงเป้าดัชนีแนวต้านสำคัญที่ 1,660 จุด ซึ่งอยู่ภายใต้การคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) บจ.ทั้งปีอยู่ที่ 73.6 บาทต่อหุ้น แต่หาก EPS ออกมาดีกว่าคาดจะหนุนให้ดัชนี SET บวกขึ้นไป 18-19 จุดได้ ส่วนในปีหน้าคาดการณ์ EPS ที่ 80 บาทต่อหุ้น และเป้าดัชนีที่ 1,816 จุด แต่ทั้งนี้ตลาดก็ยังมีโอกาสอัพไซด์ขึ้นไปได้อีก แต่ต้องรอการประกาศงบไตรมาส 3 ให้ครบก่อน" นายฐกฤตกล่าว

ปลดล็อก หนุนท่องเที่ยว - เศรษฐกิจฟื้น

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ประเมินเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย. ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกกิจกรรมหลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปีนี้ ถูกกระทบจากการแพร่ระบาดส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ชะลอตัวลงทั้งการบริโภคภาคเอกชนลดลง - 6.80% จากปีก่อน แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ -8.60% จากปีก่อน จาการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนปรับตัวดีขึ้นตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลของ Pent-up Demand และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนปรับตัวดีขึ้น หลังมีการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดทำให้ประชาชนออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ดีภาพรวมไตรมาส 3 การบริโภคภาคเอกชน -7.40% จากปีก่อน

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น +5.90% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น +1.50% จากเดือนก่อน เป็นผลจากทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่ฟื้นตัวตาม คือ ยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่ปรับดีขึ้น ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศที่ เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับด้านการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะคอนกรีตผสมเสร็จและเสาเข็มคอนกรีต อย่างไรก็ตามในภาพรวมภาคการก่อสร้างยังอยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ ส่งผลให้ภาพรวม 3 ปีนี้ การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น +7.60% จากปีก่อน แต่ดลงจากไตรมาส 2 ที่เพิ่มขึ้น +20.3% เทียบปีก่อน

ส่วนมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น +17.80% จากปีก่อน เพราะ เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ +8.20% เมื่อเทียบปีก่อน จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศคลี่คลายประกอบกับ การผลิตของไทยที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยส่งออกที่ปรับตัวขึ้นเด่น คือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ส่งผลให้ภาพรวมไตรมาส 3 โตขึ้น15.70% จากปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐลดลง -6.00% เทียบปีก่อน และลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ +36.80% จากปีก่อน เป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้าที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลกลาง ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจทรงตัว ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังอยู่ในระดับต่ำและลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ ทั้งนี้แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยจะปรับดีขึ้น แต่นักท่องเที่ยวบางส่วนยังชะลอการเดินทางมาไทย

บล.หยวนต้าฯมองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว โดยเดือน ต.ค. ผลการสำรวจของ ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วงวันที่ 1-20 ต.ค.2564 พบว่าภาคธุรกิจ ทั้งภาคการผลิต บริการ การค้า และอสังหาฯ มีการฟื้นตัวหลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการ ทั้งนี้ ในเดือน ต.ค. การบริโภคอาจถูกกดดันจากสถานการณ์น้ำาท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกำลังซื้อของภาคเกษตรกรรม ส่วนเดือนพ.ย.และ ธ.ค. คาดว่าจะได้แรงหนุนจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว และในประเทศเองเข้าสู่ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวเช่นกัน ซึ่งคาดจะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยติดตามในช่วงต้นไตรมาส 4 คือปัญหา Supply Chain Disruption ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น อุทกภัย และ สายพันธุ์เดลต้าพลัส

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO)

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น