หุ้นกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อหลายตัวแดงหลังมีข่าว สคบ.เตรียมคุมดอกเบี้ยสินเชื่อ ฉุดราคา “ เน็คซ์ แคปปิตอล” แผ่วมาตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. ส่วน “ฐิติกร - เมืองไทย แคปปิตอล – ซิงเกอร์ฯ” เพิ่งจะเห็นสีเขียว ในสัปดาห์นี้ ขณะ “ เงินติดล้อ” เขียวต่อเนื่องไม่หวั่นไหว ด้านผู้บริหารประสานเสียง รับผลกระทบน้อย
จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยจะควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ระบุในสัญญาได้ไม่เกิน 15% ต่อปี และห้ามเก็บหนี้ส่วนที่เหลือในกรณีที่ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถ (คืนรถจบหนี้) ซึ่งทาง สบค.จะทำเฮียริ่ง 20 ต.ค.นี้ ก่อนจะมีประกาศออกมาชัดเจน
หลังจากมีข่าวนี้ออกมา ให้ราคาหุ้นในกลุ่มนอนไฟแนนซ์หรือธุรกิจลิสซิ่งร่วงไปหลายตัวที่เห็นชัดคือ หุ้นบริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล หรือ NCAP ที่แดงมาตั้งแต่ 12 ต.ค. รวมถึง บริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ S11 ส่วนบริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK และ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC รวมถึง บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เพิ่งจะเห็นสีเขียวในสัปดาห์นี้ ขณะที่บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เขียวต่อเนื่องไม่หวั่นไหว
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่า กลุ่มเช่าซื้ออาจได้รับจิตวิทยาลบจากคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมทำประชาพิจารณ์ ในวันที่ 20 ต.ค. 64 นี้ โดยสาระสำคัญของร่างประกาศฯ มีการแก้ไขรายละเอียดราว 15 ข้อ หลักๆ เช่น กำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ 15%ต่อปี, ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ด้วยการส่งมอบรถยนต์ โดยห้ามเรียกเก็บหนี้ส่วนขาด (คืนรถจบหนี้ ห้ามเรียกหนี้ส่วนขาด), กรณีชำระค่าเช่าซื้อก่อนครบกำหนดสัญญาหรือ ปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ จะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อไม่น้อยกว่า 80% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ หรือ ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันอาจโอนสิทธิ์ให้บุคคลภายนอกซื้อรถคืนได้ เป็นต้น
สำหรับผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน โดยหลักจะเกิดกับธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ มากกว่าจำนำทะเบียน โดยประเมินผลกระทบต่อ TK, S11, NCAP จะมีผลกระทบมากกว่า SAWAD, MTC, TIDLOR โดย SAWAD ที่มีสินเชื่อจำนำทะเบียนที่มีลักษณะเช่าซื้อมากกว่าคนอื่น อาจกระทบมากที่สุดในกลุ่มจำนำทะเบียน
MTC ระบุกระทบไม่มาก
นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) เปิดเผยว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกประกาศคุมดอกเบี้ยชื้อนั้น ส่งผลกระทบต่อบริษัทน้อยมาก และไม่มีนัยสำคัญต่อภาพรวมของธุรกิจของ MTC เพราะธุรกิจสินเชื่อของ MTC พอร์ตหลักของบริษัทเน้นไปที่กลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่มีหลักประกันที่เป็นพอร์ตสินเชื่อส่วนใหญ่ของบริษัท แม้ว่าบริษัทจะมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์แต่เพิ่งเริ่มมาไม่ถึง 1 ปี ซึ่งมีเพียง 3%
"เรามีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้ออยู่บ้างแต่น้อยมากแค่ 3% เพราะเราเพิ่งเริ่มทำมาไม่ถึง 1 ปี ผลกระทบจากประเด็นนี้ไม่มีผลกระทบกับ MTC แน่นอน เพราะเราเน้นสินเชื่อจำนำทะเบียนที่มีหลักประกันเป็นหลัก จะเห็นว่าเราเปลี่ยนชื่อธุรกิจจากเมืองไทย ลีสซิ่ง มาเป็นเมืองไทย แคปปิตอล ซึ่งเรื่องที่ สคบ.จะเข้ามาควบคุมนั้นไม่เกี่ยวและไม่กระทบกับเราโดยตรง" นายปริทัศน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดขึ้นกลุมสินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลัก เพราะกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อถือเป็นตลาดที่ใหญ่ มีมูลค่าหลักแสนล้านบาทและมีมานานมากในประเทศไทย แตกต่างจากกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนที่มีหลักประกันที่มีมูลค่าตลาดน้อยกว่าค่อนข้างมากในหลักหมื่นล้านบาท
ล่าสุด MTC เตรียมจัดตั้งบริษัทย่อย ภายใต้ชื่อ บริษัท เมืองไทย เพย์ เลเทอร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 1,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท
TIDLOR เผยไม่กระทบ มั่นใจ Q3 โตต่อเนื่อง
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด(มหาชน) หรือ TIDLOR เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกประกาศดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งในด้านผลการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจ เพราะปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อปล่อยใหม่ในกลุ่มรถยนต์ จักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรเพียงไม่เกิน 0.5% ของพอร์ตสินเชื่อปล่อยใหม่รายเดือนเท่านั้น
ทั้งนี้ ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3 ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาคธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์แต่หลังจากรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์พบว่าความต้องการด้านสินเชื่อและการซื้อประกันภัยปรับตัวดีขึ้นเข้าใกล้ระดับปกติ ส่งผลให้ภาพรวมไตรมาส 3 น่าจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะรายได้โตต่อเนื่องและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง อันส่งผลดีต่อถึงไตรมาส 4 หลัง รัฐ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น
ขณะที่ธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีแนวโน้มที่ดี หลังจากเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ออกผลิตภัณฑ์ผ่อนประกันรถยนต์ 0% เป็นระยะเวลาสูงสุด 10 เดือน ขยายจากเดิม 6 เดือน เพื่อช่วยลูกค้าลดภาระและสำรองเงินเพื่อการใช้จ่ายหรือรองรับการดำเนินธุรกิจ ถือว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี
SAWAD ยันคุมดอกเบี้ย กระทบธุรกิจต่ำ
น.ส.ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยว่า กรณีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีข้อเสนอขอความเห็นประชาพิจารณ์ (เฮียริ่ง) เรื่องกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ 15% ต่อปี ประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างต่ำ เนื่องจากธุรกิจเช่าซื้อเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลายธุรกิจที่ SAWAD ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ที่ผ่านมา ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น ได้ทำการปรับโครงสร้างองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับธุรกิจที่หลากหลาย ไม่พึ่งพิงเพียงธุรกิจใดธุรกิจหนี่งเพื่อสร้างความยั่งยืนและมั่นคงขององค์กร และธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตและสร้างผลกำไรแบบก้าวกระโดดในอนาคต เช่น การจับมือร่วมกับธนาคารออมสินเพื่อรุกธุรกิจจำนำทะเบียนรถ การผนึกพันธมิตร บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจนายหน้าประกันภัย หรือแม้แต่ธุรกิจเช่าซื้อ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจจำนำทะเบียนรถ จำนำบ้านและที่ดินที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ จึงมีความมั่นว่าร่างประกาศของ สคบ. ดังกล่าว หากเกิดขึ้นจริงจะกระทบต่อธุรกิจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นายวิชิต พยุหนาวีชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด หรือ SCAP ดูแลธุรกิจกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล มีความเห็นสอดคล้องกับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย ที่มองว่าธุรกิจเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์เป็นธุรกิจที่แบกรับความสี่ยงค่อนข้างสูง ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มฐานล่าง ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร ลูกจ้างร้านอาหาร ลูกจ้างโรงงาน พ่อค้าหาบเร่ แผงลอย และไม่มีหลักฐานทางการเงินใดๆ ซึ่งถือเป็นลูกค้าระดับรากหญ้าของประเทศ มีรายได้น้อยไม่สม่ำเสมอ ซึ่งลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอยู่ในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มนาโนไฟแนนซ์หรือ พิโคไฟแนนซ์ ซึ่งกำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง โดยมีเพดานดอกเบี้ยอยู่ที่ 33-36% และโครงสร้างธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในปัจจุบันมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 32-35% และต้นทุนดำเนินงานเฉลี่ย 27% จึงมองว่าควรกำหนดเพดานดอกเบี้ยอยู่ที่อัตราเดียวกับนาโนไฟแนนซ์ หรือพิโคไฟแนนซ์
“หากมองในเศรษฐกิจมหภาค ร่างประกาศนี้จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของประเทศอย่างมาก เพราะเมื่อประชาชนไม่สามารถซื้อรถจักรยานยนต์ได้ โรงงานผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ ประชาชนที่เป็นพนักงาน ลูกจ้างในวัฏจักรการผลิตรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ของประเทศจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย” นายวิชิต กล่าว
SINGER ยันแทบไม่กระทบ
นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เปิดเผยว่า จากประเด็น สคบ. เตรียมทำประชาพิจารณ์ เกี่ยวกับการการ กำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ 15% ต่อปีและอื่นๆ คาดว่าไม่ได้กระทบ ต่อธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมองว่าน่าจะเกิดกับธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ มากกว่าจำนำทะเบียน ยอมรับว่าอาจมีผลกับบริษัทมีธุรกิจโอนเล่มของบริษัทอยู่บ้างแต่คงน้อยมาก เนื่องจากธุรกิจโอนเล่มคิดเป็นสัดส่วน 15% หรือมีมูลค่าต่ำกว่า 10% ของพอร์ตเช่าซื้อรวม โดยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้เกณฑ์ของแบงก์ชาติ และมีผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 15-16% เท่านั้น
ขณะที่ไตรมาส 4 เชื่อว่า จะเติบโตได้ดีกว่าทั้งเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนจากพอร์ตที่ขยายตัว และการกระจายพอร์ตการลงทุนมากกว่า 1 ช่องทาง ทั้งพอร์ตหลักเป็นพอร์ตสินเชื่อรถ ทำเงิน และพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรวมถึง มีทีมขายกระจายทั่วประเทศ และมีร้านสาขา และแฟรนไชส์รวมกว่า 2,900 แห่ง ทำให้ คาดว่าผลการดำเนินงานรวมในปี 2564 จะยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งทางด้านพอร์ตสินเชื่อที่คาดว่าจะเติบโตที่ 10,000 ล้านบาท รวมถึงการเติบโตของรายได้ปีนี้ที่จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 25% จากปีที่ผ่านมา
TK ตั้ง "TK Broker" ลุยประกันฯ
ขณะที่ผู้บริหาร บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ไม่ตื่นเต้นออกมาแสดงความเห็นต่อกระแสดัวกล่าว แต่ล่าสุด TK ตั้ง บริษัท ทีเค โบรคเกอร์ จำกัด หรือ TK Broker ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจการเป็นตัวแทนขายประกันวินาศภัยเพื่อดำเนินกิจการเป็นตัวแทนขายประกันวินาศภัย ตามแผนการขยายธุรกิจในประเทศของบริษัทฯ ด้านการขยายกิจการในต่างประเทศตามแผนการเพิ่มสัดส่วนลูกหนี้ในตลาดต่างประเทศและลูกหนี้ในประเทศเป็น 50 ต่อ 50 ในปี 2565
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เผยว่าภาพรวมยังคงมีกำไร ซึ่งเกิดจากบริหารจัดการทั้งการหารายได้เพิ่มขึ้นจากรายได้อื่น ๆ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายโดยรวมภายในองค์กร รวมทั้งการบริหารต้นทุนทางการเงิน ในภาวะวิกฤติที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งในประเทศของเรา การปล่อยสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าที่เปราะบางจากสถานการณ์ของโรคระบาดระลอก 3 จึงจำเป็นต้องเข้มงวด มากกว่าการพยายามแย่งชิงลูกค้าโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่างวดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ TK ยังคงใช้กลยุทธ์ระมัดระวังกับการปล่อยสินเชื่อ และมีสภาพคล่องสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยมีเงินสดและเงินฝากธนาคารรวม 2,335 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ TK มีความพร้อมเสมอที่จะเร่งขยายธุรกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทันทีที่สถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลาย