xs
xsm
sm
md
lg

KTC ตัวเลขกำไรพร้อมไปต่อ คลายล็อกดาวน์กระตุ้นใช้จ่ายคึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาการเร่งตัวผลดำเนินงาน “บัตรกรุงไทย” แม้คู่แข่งเพิ่ม จากความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่พุ่งสูงตามการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กดดัน ขณะคลายล็อกดาวน์ การท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นจับจ่าย อีกทั้งการบริหารควบคุมสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ผลักดันเติบโตต่อเนื่องถึงปี 65

ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา สร้างผลกระทบวงกว้างในทุกธุรกิจ และกดดันให้ภาคเอกชนต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น รวมไปถึงภาคประชาชน ซึ่งพบว่าความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคล (P - Loan) และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (Nano – Finance) ปรับตัวสูงขึ้นมาก นั่นจึงเป็นโอกาสให้ตลาดสินเชื่อบุคคลในประเทศ เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการ (ดีมานต์) ยังมีอยู่สูง อีกทั้งธุรกิจดังกล่าวเป็นตลาดที่มีกำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) ขยายตัวได้ดี แม้การแพร่ระบาดของโควิด- 19 ยังไม่มีท่าทีสิ้นสุด หรือยุติลงก็ตาม ขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมยังสามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมได้ตลอด

โดยเฉพาะ การปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (digital lending) พบว่า มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสภาพคล่องในช่วงโควิด- 19 แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงินได้  มีรายงานว่าตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นตลาดที่มีความต้องการและขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยแต่ละปีจะขยายตัวในอัตรา 2 หลักหรือมากกว่า 10% ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้คนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางขาดสภาพคล่อง และมีความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนมากขึ้นโดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 21-25% ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามากเมื่อเทียบดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่ค่อนข้างสูงกว่า 35% ต่อปี นั่นทำให้ปัจจุบัน สถาบันการเงินหันมาแข่งขันในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรกดเงินสดมากขึ้น เนื่องจากตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตค่อนข้างอิ่มตัว และใช้ต้นทุนการตลาดค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ให้ส่วนต่างอัตราผลกำไรสูงกว่า แม้จะมีความเสี่ยงมากกว่าบัตรเครดิต แต่ถ้าบริหารจัดการดีจะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ล่าสุด บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) แจ้งผลการดำเนินงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าบริษัทมีกำไรส่วนที่เป็นของบริษัท สำหรับไตรมาส 3 และ 9 เดือนปี 2564 จำนวน 1.31 พันล้านบาท และ 4.63 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 8.70 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นที่ 3.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (yoy) และอีกสาเหตุมาจากการรวมพอร์ตของ บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (KTBL)

อย่างไรก็ตามพบว่าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในรอบ 9 เดือนลดลงเล็กน้อยที่ -1.6% เทียบปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของการระบาดโควิด- 19 โดยในเดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด- 19 สูงสุด และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายในช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 ภาครัฐเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายให้สามารถดำเนินกิจกรรมสาธารณะมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มเติบโตในเดือนกันยายนเป็นต้นมา

ส่วนงวด 9 เดือนแม้ว่ารายได้รวมของบริษัทจะลดลง -3.4% (yoy) จากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง แต่บริษัทสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายรวมให้ลดลงไป -12.0% จากปีก่อน โดยค่าใช้จ่ายทางการเงิน และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงไปในอัตรา -7.5% และ -28.9% ตามลำดับ ขณะที่รายได้หนี้สูญได้รับคืนมีอัตราเพิ่มขึ้นที่ 5.9% โดยบริษัทมีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงที่ -6.4% จากปีก่อน ขณะที่อัตราส่วน NPL รวมลดลงเป็น 3.8% จากไตรมาส2ที่อยู่ที่ 4.4% ผ่านการบริหารพอร์ตลูกหนี้ให้มีคุณภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความจำเป็นในการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นน้อยลงไปด้วย และปัจจัยทั้งหลายนี้เป็นผลให้กำไรสุทธิของไตรมาส 3 และ 9 เดือนปี 2564 ของบริษัทเพิ่มขึ้น 7.9% หรือ 1.31 พันล้านบาท และ 15.4% หรือ 4.63 พันล้านบาท ตามลำดับ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 พบว่า KTC ได้ชำระ 50% ของราคาซื้อขายหุ้นสามัญของ บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (KTBL) ด้วยเงินจำนวน 297.2 ล้านบาทแล้ว และจะทำการชำระราคาส่วนที่เหลือ ภายหลังการตรวจสอบตามเงื่อนไขเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน โดยปัจจุบันมีพอร์ตลูกหนี้สัญญาเช่าของ KTBL อยู่จำนวน 3.3 พันล้านบาท

ผู้บริหาร KTC ประเมินทิศทางธุรกิจว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แต่ คาดว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมเรื่องการเดินทางและการปฏิบัติตัวในบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ตามประกาศที่จะเริ่มมีการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรและการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้ที่จะกลับมาเติบโตได้

ขณะเดียวกันได้พัฒนาและพร้อมจะนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินคุณภาพ เพื่อให้และกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้รับความคุ้มค่า สะดวกสบาย และได้รับประสบการณ์ที่ดีทุกการใช้จ่าย โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 13.5% ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลง -1.5% (อุตสาหกรรมหดตัว -2.1%) และมีสัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 4.3% ทำให้ในส่วนของพอร์ตลูกหนี้รวมขยายตัวและมีคุณภาพดีขึ้น จากจำนวนสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลง โดยเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมเพิ่มขึ้น 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เท่ากับ 8.70 หมื่นล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.30 ล้านบัญชี แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2.52 ล้านบัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 5.45 หมื่นล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร 9 เดือนเท่ากับ 1.37 แสนล้านบาท ลดลง -1.6% ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ

โดยไตรมาส 3 มี อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (% ของ NPL) อยู่ที่ 3.8% ลดลงจากไตรมาส 2 ที่ 4.4% ขณะที่ NPL บัตรเครดิตในไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.5% ระดับเดียวกับไตรมาส 2 พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคล 783,635 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 2.92 หมื่นล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้บุคคลอยู่ที่ 3.2% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ 3.0% พอร์ตลูกหนี้ตาม

ส่วนสัญญาเช่าซื้อจาก KTBL มูลค่า 3.3 พันล้านบาท พบว่ามีอัตรา NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่าเท่ากับ 46.1% ลดลงจาก ไตรมาส 2 ที่ 51.7% อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) จำนวน 2.12 หมื่นล้านบาทล้านบาท ต้นทุนการเงินสำหรับงวด 9 เดือนอยู่ที่ 2.64% และอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.21 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า

สำหรับทิศทางการทำธุรกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ผู้บริหาร KTC วางแผนว่านอกเหนือจากการคัดสรรผลิตภัณฑ์ บริการและกิจกรรมการตลาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของสมาชิกแต่ละกลุ่มแล้ว KTC ยังคงมุ่งเน้นการบริหารพอร์ตลูกหนี้ที่มีคุณภาพในทุกธุรกิจตลอดกระบวนการ ตั้งแต่ต้นทางของการคัดกรองจนถึงการดูแลและรักษาฐานสมาชิก เพื่อนำเสนอเครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพให้กับสมาชิกทุกกลุ่มในทุกจังหวะของการใช้ชีวิต แม้ในยามที่สมาชิกได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ต่างๆ อย่างเช่นวิกฤตโควิด- 19 ซึ่งบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามแนวทางทุกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเป็นเงินกู้สินเชื่อบุคคลระยะยาว โดยมีมูลค่ายอดลูกหนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 เท่ากับ 1.82 พันล้านบาท จาก 26,174 บัญชี และยังได้ขยายเวลามาตรการปรับลดอัตราผ่อนชำระคืนขั้นตํ่าของบัตรเครดิตเคทีซีอัตโนมัติ จากเดิม 10% เหลือ 5%

ส่วนในปี 2565 บริษัทตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 8-10% ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 และการล็อกดาวน์ ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรยังเติบโตติดลบ และคาดว่าทั้งปีจะติดลบ 1-2% จากเป้าหมายเดิมต้องการเติบโต 8% โดยในปีนี้คาดว่าจะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรราว 1.95 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปี 2563 ที่มีประมาณ 1.97 แสนล้านบาท ส่วนเป้าหมายจำนวนบัตรใหม่ในปี 2565 ตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 250,000 บัตร ต่างจากในปีนี้ที่คงไม่สามารถทำตามเป้าหมายบัตรใหม่ 230,000 บัตร

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ประเมินทิศทางธุรกิจ KTC ว่า จากการพูดคุยพบว่า การใช้จ่ายและสินเชื่อชะลอลงตามการล็อกดาวน์ของประเทศในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม แต่คุณภาพสินทรัพย์ยังคงดี ด้วยกระบวนการคัดกรองและอนุมัติที่เข้มงวดขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมีการตั้งสำรองพิเศษ (ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) เป็นจำนวนประมาณ 1.0 พันล้านบาท ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิ KTC จะเพิ่มขึ้น 30.8% เทียบปีก่อน แต่ลดลง -4.6% จากไตรมาสก่อน อยู่ที่ 1.59 พันล้านบาท (หากรวมกรุงไทยลีสซิ่งอาจเพิ่มเป็น 1.60 พันล้านบาท) สาเหตุหลักมาจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่สูงกว่าปกติในช่วงไตรมาส 3/64 โดยคาดว่ากำไรก่อนการตั้งสำรองจะลดลง - 8.0% จากปีก่อน ส่วนเทียบไตรมาส คาดจะลดลงตามรายได้ที่อ่อนตัวลง แต่กำไรจากการดำเนินงานจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4/64 หลังการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ การเข้าไตรมาสพีค และการประกาศผ่อนคลายมาตรการการท่องเที่ยวที่จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน

ขณะเดียวกันเนื่องจากลูกค้าหลักของ KTC อยู่ในกลุ่มพนักงานรับเงินเดือน (ต้องใช้สลิปเงินเดือนในการสมัครบัตรเครดิต)ทำให้คุณภาพสินทรัพย์ควรมีความยืดหยุ่นมากกว่าไฟแนนซ์รายอื่นที่เน้นลูกค้ารายได้ไม่คงที่ ทำให้โดยรวมเชื่อว่า KTC จะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดได้อย่างรวดเร็วหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในราคาเหมาะสม 84.00 บาทต่อหุ้น

ด้าน บล. เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าผลงานครึ่งหลังปี 2564 ของ KTC น่าจะขยายตัวกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ผลมาจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ปรับตัวลดลง โดย ประมาณการกำไรสุทธิไว้ราว 6.38 พันล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อน และน่าจะได้เห็นขยายตัวต่อเนื่องอีก 17% ในปี 2565 ผลมาจากแนวโน้มสินเชื่อที่ขยายตัวมากขึ้น หรือเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นปีละ 8% จากปรับเปลี่ยนรูปแบบการปล่อยสินเชื่อพี่เบิ้ม นอกจากนี้บริษัทเริ่มปล่อยสินเชื่อ KTBL และเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในปีหน้า ขณะที่ credit cost ลดลงเป็น 606 bps และ 455 bps จากอัตราการตั้งสำรองลดลงตามสินเชื่อ secured ที่เพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลง และ underperform SET -11%/-13% ในช่วง 1 และ 3 เดือนที่ผ่านมาจากการSpin-off ธุรกิจบัตรเครดิตของ SCB เป็ น Card X และการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ลดลงในช่วง lockdown อย่างไรก็ตามแนะนำ “ซื้อ” จากผลการดำเนินงานที่จะยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยประเมินว่ามี downside risk ปี2565 ที่จำกัดเพียง -0.4% สำหรับสินเชื่อที่ลดลงทุกๆ -1% จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นหลังการเข้ามาของ Card X เพราะประเมินว่าCard X จะต้องอาศัยระยะเวลาในช่วงแรกสำหรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นบริษัทจากเดิมหน่วยงานในธนาคาร เช่น การคิดค่าบริการระหว่างธนาคารและบริษัท

ทำให้คงกำไรสุทธิปี 2564/2565 จะขยายตัวปี ละ +20%/+17% จากปีก่อน โดยคงประมาณการกำไรสุทธิปี2564 ที่ระดับ 6.38 พันล้านบาท และ 7.44 พันล้านบาท ในปีถัดไปตามสินเชื่อที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละ +8% เทียบปีก่อน โดยเป็นผลของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปล่อยสินเชื่อพี่เบิ้มเป็นผ่านสาขา KTB จากเดิม delivery agent ที่ได้รับผลกระทบในการหาลูกค้าช่วงโควิด-19 รวมไปถึงการเริ่มปล่อยสินเชื่อรายย่อยครบวงจรผ่าน KTBL และเศรษฐกิจในประเทศที่กลับมาดีขึ้น หนุนให้เกิดการใช้จ่ายผ่านบัตร และความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ในราคาเหมาะสม 90.00 บาทต่อหุ้น

ด้าน บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า ทางผู้บริหาร KTC ยังคงเชื่อมั่นว่ากำไรปี 64 จะดีกว่าปี 63 ที่มีกำไร 5.33 พัน ล้านบาท และยังมีโอกาสที่กำไรจะทำนิวไฮในปีนี้ แม้ คาดว่าไตรมาส 3/64 จะได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 แต่ยังมองข้ามไปถึงไตรมาส 4/64 ที่ถือเป็น High Season ในการจับจ่ายใช้สอย และการจับจ่ายใช้สอยผ่านทางออนไลน์ที่ยังคงมีมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ KTC คือในระยะสั้นธุรกิจยังถูกกระทบจากการล็อกดาวน์ และเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ทำให้กำลังซื้อลูกค้าลดลงมาก แต่เชื่อว่าไตรมาส 4/64 จะคลี่คลายลง มอง pending demand จะกลับมาเป็นบวกจากช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอย เป็น High season รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะกลับมาถ้าทุกอย่างดีขึ้น น่าจะทำให้ธุรกิจของ KTC กลับมาฟื้นตัวด้วยเช่นกัน จึงแนะนำ “ซื้อ”เมื่อราคาอ่อนตัว

นอกจากนี้ส่วนโครงสร้างสินเชื่อและรายได้ของ KTC จะเปลี่ยนไป หลังซื้อบริษัทกรุงไทยลิสซิ่ง (KTBL) โดย KTC เข้าถือหุ้น 75% ใน KTBL ทำให้โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อเปลี่ยนไปจาก ณ สิ้นไตรมาส 1/64 โดยพอร์ตบัตรเครดิตลดลงจาก 66% เหลือ 62% และสินเชื่อบุคคล ลดลงจาก 34% เหลือ 32% และเพิ่มพอร์ตลิสซิ่ง 5% ทำให้มีสัดส่วนรายได้จากบัตรเครดิต 58.1% และสินเชื่อบุคคล 40.5% และจากลิสซิ่ง 1.4% ของรายได้รวม อย่างไรก็ดีรายได้จาก KTBL ยังมีสัดส่วนไม่มาก และพอร์ตสินเชื่อกว่าครึ่งหนึ่งของ KTBL เป็นพอร์ตที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ในการช่วยหนุนการเติบโตให้พอร์ตรายได้ของ KTC






กำลังโหลดความคิดเห็น