นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ก.ย.64 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index : ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลง 1.1% อยู่ที่ระดับ 142.71 อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" เช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเงินทุนไหลเข้า
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกปัจจุบัน รองลงมาคือ ผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
- ความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ยังคงอยู่ในระดับ "ร้อนแรงอย่างมาก" ในขณะที่นักลงทุนบุคคลและกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงอยู่ในระดับ "ร้อนแรง" และนักลงทุนต่างชาติปรับลงมาสู่ในระดับ "ร้อนแรง" เช่นกัน
- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ แผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19
- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกปัจจุบัน
ในช่วงเดือน ก.ย.64 ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) แกว่งตัวในกรอบแคบระหว่าง 1,603-1,650 ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง และรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงสูงกว่า 10,000 คนต่อวัน และจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงสูงต่อเนื่อง สัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนยังไม่ทั่วถึง แม้จะมีการทยอยฉีดวัคซีนกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วก็ตาม
การเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินเศรษฐกิจในประเทศ และความกังวลในการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาฯ ขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นของตลาดทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างเดือน ก.ย.64 ตลาดยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลมีมติปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของไทยเป็น 70% ของ GDP เพื่อเพิ่มความสามารถของรัฐบาลในการใช้นโยบายการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะเริ่มเปิดให้กิจการหลายประเภทกลับมาเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 โดย SET index ณ สิ้นเดือน ก.ย.64 ปิดที่ 1,605.68 จุด ปรับตัวลดลง 2% จากเดือนก่อนหน้า
ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การคาดการณ์ว่าเฟดอาจประกาศ QE tapering อย่างเป็นทางการในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้หุ้นใน Emerging market ปรับตัวลง ภาวะเศรษฐกิจจีนซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้าในประเทศ สภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน และญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากความสามารถในการควบคุมโรคระบาด
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาค ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แผนการเปิดประเทศของภาครัฐและความสามารถในการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้